Saturday, December 31, 2016

041 - ควบคุมน้ำหนักการพัตต์

องค์ประกอบในการพัตต์ระหว่างทิศทางและน้ำหนักการพัตต์ น้ำหนักมีความสำคัญมากกว่าในทุกกรณีของการพัตต์ที่ผิดพลาด เพราะน้ำหนักที่ถูกต้องจะทำให้ความเสียหายจากการพัตต์ที่ผิดพลาดมีน้อยกว่า ลูกกอล์ฟจะอยู่รอบๆหลุมในระยะที่มีโอกาสพัตต์เก็บได้ ไม่เสียหายถึงขนาดทำ 3 พัตต์ นักกอล์ฟที่พัตต์ดีทุกคนสามารถควลคุมน้ำหนักกการพัตต์ได้อย่างมหัศจรรย์

การควบคุมน้ำหนักการพัตต์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่นักกอล์ฟจะต้องควบคุมน้ำหนักการพัตต์ให้สัมพันธ์ปัจจัยต่างๆทั้งระยะทาง, ความเร็วของกรีน, พัตต์ขึ้นหรือลงเนิน, สโลปของเนินมากหรือน้อย, ความซับซ้อนของทางเดินที่อาจผ่านหลายเนิน เปลี่ยนสโลป และทิศทางของไลน์ , ทิศทางของหญ้า, ชนิดของหญ้า, ความชื้นของกรีนในแต่ละช่วงเวลาของวัน และอื่นๆ ซึ่งปัจจัยที่มากมายเช่นนี้จึงทำให้การควบคุมน้ำหนักการพัตต์ให้ได้สม่ำเสมอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เทคนิคการควบคุมน้ำหนักกการพัตต์ทำได้หลายวิธี

1.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยระยะ Back Stroke มากน้อยแตกต่างกันตามระยะ พัตต์ไกลก็สโตรคมาก พัตต์ใกล้ก็สโตรคน้อยลง
2.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยความเร็วพัตเตอร์ปะทะลูกที่แตกต่างกัน แต่ควบคุมระยะ Back Stroke ให้เท่าเดิม
3.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยตำแหน่งปะทะบนหน้าไม้ที่ต่างกัน ด้วยการสโตรคที่เหมือนกัน ลูกกอล์ฟที่ปะทะกลางหน้าไม้จะไปได้ไกลที่สุด ตำแหน่งปะทะที่ยิ่งห่างกลางหน้าพัตเตอร์ไปทาง Toe และ Heel ลูกกอล์ฟจะกลิ้งไปได้สั้นลงตามลำดับ
4.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยความรู้สึกล้วนๆ เป็นการประมวลผลจากข้อมูลที่ได้มาทางตาและความรู้สึกที่ฝ่าเท้า เกิดเป็นความรู้สึกในการควบคุมด้วยสัญชาตญาณ ซึ่งอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเหมือนระบบอัตโนมัติ

ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดหรือเทคนิคไหนดีที่สุด นักกอล์ฟแต่ละคนมีวิธีการที่แตกต่างกัน สุดแล้วแต่ว่าเทคนิคไหนที่ใช้ได้ดีกับตน หรือแม้กระทั่งผสมผสานหลายๆเทคนิคเข้าด้วยกัน ก็ไม่ได้ผิดกฏแต่ประการใด การควบคุมน้ำหนักบนกรีนจริงต้องอาศัยประสบการณ์จากการออกรอบที่ได้เจอของจริงที่หลายหลายเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งความท้าทายของเกมส์กอล์ฟเลยทีเดียว ... สวัสดีปีเก่า พบกันปีใหม่ครับ




Friday, December 30, 2016

040 - เรียนรู้การอ่านกรีน

การเรียนรู้การดูไลน์บนกรีนเป็นทักษะที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เพราะการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟบนกรีน เป็นไปตามกฏธรรมชาติของแรงโน้มถ่วง ที่เราคุ้นเคยอยู่แล้วเพราะมันเป็นความรู้สึกตามธรรมชาติที่เราสามารถคาดเดาทิศทางการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟได้ด้วยข้อมูลจากสัมผัสทางตาและสัมผัสความรู้สึกถึงความเอียงของพื้นที่ฝ่าเท้า แต่นักกอล์ฟส่วนใหญ่กลับใช้สัมผัสทางหูเสียมากกว่า จากการฟังการบอกไลน์ของแค๊ดดี้ ซึ่งไม่ทำให้ทักษะการอ่านกรีนพัฒนาแต่อย่างใด

กระบวนการเรียนรู้การอ่านกรีนเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติด้วยการลองผิดลองถูก แต่การเรียนรู้การอ่านกรีนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าเราควบคุมทิศทางและน้ำหนักการกลิ้งของลูกกอล์ฟไปยังเป้าหมายได้อย่างสมบูรณ์แบบ เครื่องมืออย่าง True Roller หรือ Perfect Putter ที่อาศัยการไหลของลูกกอล์ฟไปตามรางและกลิ้งออกไปยังเป้าหมายด้วยน้ำหนักและทิศทางที่ควบคุมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งช่วยกำจัดความผิดพลาดจากการพัตต์ที่ทำให้เราเข้าใจผลการพัตต์และผลการอ่านกรีนของเราผิดไป การฝึกซ้อมการอ่านกรีนกับเครื่องมือเหล่านี้คือสิ่งที่ดีที่สุด แต่ในความเป็นจริงมันยากที่จะหาโอกาสเช่นนี้ ดังนั้นโอกาสของนักกอล์ฟสมัครเล่นที่จะฝึกทักษะการอ่านกรีน ก็คือการออกรอบในสนามจริงเท่านั้น นักกอล์ฟที่อยากพัฒนาทักษะการอ่านกรีนควรเริ่มที่ 3 สิ่งนี้ก่อน

1.ไม่อาศัยถามไลน์จากแค๊ดดี้ และดูไลน์ด้วยตัวเอง เป็นการบังคับให้ตัวเองเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เราพัฒนาได้เร็วขึ้นจากสถานการณ์บีบบังคับ การเชื่อแค๊ดดี้จะยิ่งทำให้เราสับสนในการอ่านกรีนและหัวเสียกับแค๊ดดี้ที่อ่านไลน์มั่ว

2.ทำความเข้าใจกับหลักการ "ทุกพัตต์คือพัตต์ตรง" จากบทความที่ 39 - "อยากรู้ความจริงไหม ว่าทำไมถึงพัตต์ตกไลน์" การพัตต์ตรงไปยังเป้าหมายได้สมบูรณ์และใกล้เคียงกับที่ตั้งใจไว้มากเท่าไหร่ เราก็จะรู้ผลการอ่านกรีนของเราได้ถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น เพราะถ้าเราพัตต์ไม่ได้ตามที่เราตั้งใจ ผลการพัตต์ที่ออกมาก็จะทำให้เราเข้าใจการอ่านกรีนของเราผิดทันที ดังนั้นการซ้อมพัตต์ตรงและการให้น้ำหนักจึงมีความสำคัญมากๆ

3.สะสมประสบการณ์การเรียนรู้จากความผิดพลาด ทำให้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง เพราะความผิดพลาดบนกรีน ทำให้เราเรียนรู้ทิศทางและน้ำหนักที่มากไปหรือน้อยไป ซึ่งไม่มีอะไรซับซ้อน และทุกคนเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนน้ำหนักและทิศทางให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆได้ และเมื่อเรามีประสบการณ์มากพอ ทักษะเหล่านี้จะพัฒนาไปเป็นสัญชาตญาณและความรู้สึกในที่สุด

เทคนิคการอ่านกรีนที่มีมากมาย สุดท้ายก็มาจบที่การฝึกฝนและกระบวนการลองผิดลองถูกทั้งสิ้น ก่อนเรียนรู้เทคนิคมากมายเริ่มต้นเรียนรู้กับ 3 สิ่งที่กล่าวมาก่อน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Thursday, December 29, 2016

039 - อยากรู้ความจริงไหม ว่าทำไมถึงพัตต์ตกไลน์

การพัตต์แล้วลูกกอล์ฟกลิ้งตกไลน์บนกรีนที่มีสโลป โอกาสลงหลุมคือ 0% และที่เป็นปัญหาก็คือ นักกอล์ฟส่วนใหญ่จะพัตต์ตกไลน์

การพัตต์ตกไลน์มักถูกอธิบายว่าเกิดจากการให้ไลน์น้อยเกินไป แต่ในความเป็นจริงต้นเหตุเกิดจากการเข้าใจแนวคิดในการพัตต์บนกรีนที่มีสโลปที่ไม่ถูกต้อง ยกตัวอย่างการพัตต์ขึ้นเนินที่มีสโลปจากซ้ายไปขวา ก่อนพัตต์นักกอล์ฟจินตนาการเห็นวิถีการกลิ้งของลูกกอล์ฟกลิ้งโค้งจากซ้ายไปขวาและพยายามที่จะพัตต์ให้ลูกกอล์ฟกลิ้งไปตามเส้นทางโค้งนั้น ทำให้จิตใต้สำนึกพาหน้าไม้ที่เปิดเข้าปะทะลูกกอล์ฟเหมือนกับการพยายามลากเส้นไปตามแนวกลิ้งในจินตนาการ และเมื่อรวมกับผลของแรงดูดโลก ลูกกอล์ฟจึงวิ่งตกไลน์ตั้งแต่ออกจากหน้าไม้ทันที ด้วยแนวคิดในการพัตต์ที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ ผลการตกไลน์ก็จะแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นยิ่งบนกรีนที่มีสโลปมาก ที่วิถีกลิ้งมีแนวโค้งมาก

แนวคิดในการพัตต์ลูกกอล์ฟบนกรีนที่มีสโลปที่ถูกต้องคือการคิดว่าทุกพัตต์คือการพัตต์ตรงไปยังหลุมในหลุมที่จินตนาการไว้ จะทำให้เราควบคุมหน้าพัตเตอร์ให้ปะทะลูกกอล์ฟในตำแหน่งที่สแควร์ได้โดยตลอด ที่เหลือก็ปล่อยให้แรงดึงดูดของโลกพาลูกกอล์ฟไหลไปตามแนวโค้งที่เข้าหาหลุม แนวคิดในการพัตต์ตรงบนกรีนที่มีสโลปมันดูขัดกับความรู้สึกของนักกอล์ฟ ยิ่งเวลาอยู่บนกรีนที่มีสโลปมากๆ เพราะมันเป็นความรู้สึกเหมือนเราพัตต์ลูกกอล์ฟหนีหลุมออกไป ซึ่งมันฝืนความรู้สึก ทำให้นักกอล์ฟมักจะไม่กล้าสโตรก แต่อยากจะให้มั่นใจว่าพัตต์ผิดไปในทางไลน์มากเกินไปดีกว่าไลน์น้อยไปในทุกกรณี

ขอให้นึกก่อนพัตต์ทุกครั้งว่าพัตต์ตกไลน์ ไม่มีโอกาสลงหลุม แล้วเราจะกล้าพัตต์ตรงมากขึ้น หน้าไม้จะสแควร์มากขึ้น ตกไลน์น้อยลง โอกาสลงมากขึ้น ง่ายๆแค่นี้เอง ... เพราะทุกพัตต์คือพัตต์ตรง แล้วอย่าลืมซ้อมพัตต์ตรงกันด้วยนะ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





Wednesday, December 28, 2016

038 - คำแนะนำเรื่องการพัตต์ ที่พาไปได้ไกลที่สุด

ช่วงนี้เป็นช่วงที่บทความวนเวียนอยู่กับเรื่องการพัตต์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเกมส์กอล์ฟอย่างที่รู้กัน อยู่ๆก็มีความคิดขึ้นมาว่า "ถ้าให้ทิ้งคำแนะนำการพัตต์ทิ้งไว้ในโลกนี้สั้นๆ ให้เกิดประโยชน์ที่สุด จะแนะนำอะไร" เป็นคำถามที่ใช้เวลาไม่นานก่อนที่ความคิดนี้ผุดขึ้นในหัว

"ตัดสินใจให้เด็ดขาด ... ลงมือทำสิ่งที่ควบคุมได้ให้ดีที่สุด ... ยอมรับผลที่เกิดขึ้น"

ตัดสินใจให้เด็ดขาด - เพราะกรีนในชีวิตจริงไม่ราบเรียบ เส้นทางที่ลูกกลิ้งไปหาหลุมก็ไม่ได้มีแค่สโลปเดียว มันโค้งหลอกไปมา ไหนจะรอยซ่อมกรีน รอยลูกตก เม็ดกรวด เม็ดทราย หรือแม้แต่กระทั่งสายลม ซึ่งมีผลต่อทิศทางการกลิ้งของลูกกอล์ฟทั้งสิ้น ดังนั้นการอ่านกรีนให้ขาด จึงเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ หลายครั้งจึงเกิดความไม่มั่นใจ ทำให้เกิดความลังเล สร้างความกำกวม กั๊ก ไม่ตัดสินใจ แผนในการพัตต์จึงไม่มีความชัดเจน สุดท้ายจึงพัตต์ไปแบบกล้าๆกลัวๆ ทำให้ไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความสำเร็จหรือความล้มเหลวที่เกิดขึ้น เพราะไม่รู้แน่ๆว่าทำอะไรลงไป แล้วผลที่เกิดขึ้นมันเกิดขึ้นจากอะไร จึงอยู่ในความกำกวมต่อไป ซึ่งไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นแต่อย่างใด ดังนั้นการตัดสินใจที่เด็ดขาดและมีแผนการพัตต์ที่ชัดเจนก่อนพัตต์ทุกครั้ง จะทำให้เกิดประสบการณ์ที่ประเมินผลได้ มนุษย์ฉลาดและเก่งขึ้นโดยการเรียนรู้จากความผิดพลาด

ลงมือทำสิ่งที่ควบคุมได้ให้ดีที่สุด - ควบคุมสโตรคการพัตต์ให้ตรงไปที่เป้าหมายที่จินตนาการไว้ และควบคุมน้ำหนักการพัตต์ให้เหมาะสม นี่คือสองอย่างที่เราควบคุมได้เท่านั้น ตั้งใจทำแค่สองสิ่งนี้ให้ดีที่สุด สิ่งอื่นนอกจากนี้เราควบคุมไม่ได้ ... นี่คือความจริง

ยอมรับผลที่เกิดขึ้น - เมื่อเราลงมือทำสิ่งที่ควบคุมได้อย่างดีที่สุดแล้ว ลูกกอล์ฟที่กลิ้งไปต้องผ่านปัจจัยต่างๆมากมายที่เราไม่รู้ ไม่ได้คิดถึง ละเอียดเกินกว่าที่เราจะเอามาพิจารณา และควบคุมไม่ได้ ดังนั้นลูกจะลงหรือไม่ลงหลุมเราควรทำใจยอมรับมัน เพราะเราทำสิ่งที่เราควบคุมได้ได้ดีที่สุดแล้ว

เมื่อเราลงมือพัตต์ทุกพัตต์ด้วยขบวนการคิดเช่นนี้แล้ว ทักษะการพัตต์และการอ่านกรีนจะพัฒนาอย่างรวดเร็ว และที่ยิ่งกว่านั้น จิตเราก็พัฒนาขึ้น เพราะเราเรียนรู้เรื่องบนกรีนตามความเป็นจริง ตามธรรมชาติ ธรรมดา ถ้าเราเอากระบวนการคิดและเรียนรู้เช่นนี้ไปฝึกฝนใช้ในชีวิตประจำวันกับทุกเรื่องอย่างเป็นปกติ ศาสดาในพุทธท่านว่าความสำเร็จในทางธรรมอยู่ไม่ไกล ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Tuesday, December 27, 2016

037 - ว่าด้วยเรื่องพัตเตอร์และเนื้อคู่

พัตเตอร์ในท้องตลาดมีมากมายหลายแบบ หลากยี่ห้อ ซึ่งสร้างความปวดเศียรให้นักกอล์ฟมากเช่นกัน สำหรับนักกอล์ฟที่ยังไม่เจอพัตเตอร์เนื้อคู่ วันนี้จะแนะนำการพิจารณาพัตเตอร์ที่ตรงประเด็นอย่างที่สุด

พัตเตอร์มีองค์ประกอบหลัก 5 ส่วน คือ หัวพัตเตอร์, คอพัตเตอร์, ก้าน, กริป และ Balance ของพัตเตอร์

1.หัวพัตเตอร์มีมากมายดีไซน์ แต่จะแยกหลักๆเป็นแบบทรงขาไก่, Anser และ Mallet
ทรงขาไก่ (traditional) คือทรงคลาสิคที่นิยมใช้มาอย่างยาวนาน จนเมื่อ Ping ได้ออกแบบพัตเตอร์รุ่น Anser ออกขายและสร้างความนิยมและการยอมรับในวงกว้าง Anser จนทุกยี่ห้อผลิตตามกันเต็มไปหมดและเรียกทรงนี้ว่า Anser ส่วนทรง Mallet คือทรงที่มีขนาดใหญ่และแตกต่างไปจากทรง Anser โดยรวมจะถูกเรียกว่า Mallet



2.คอพัตเตอร์สามารถออกแบบให้มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะสร้างผลต่อคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ

2.1 Balance ของหน้าพัตเตอร์เวลาวางพัตเตอร์ให้สมดุลย์บนนิ้ว - คอไม้ที่ทำให้แนวก้านผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์จะเป็นพัตเตอร์แบบ Face Balance , คอไม้ที่แนวก้านไม่ผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์แต่เยื้องเข้ามาใกล้ทาง Heel จะเป็นพัตเตอร์แบบ Toe Hang หรือ Toe Weighted ส่วนคอไม้ที่แนวก้านไม่ผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์แต่เยื้องเข้ามาใกล้ทาง Toe จะเป็นพัตเตอร์แบบ Heel Hang หรือ Heel Weighted


พัตเตอร์ที่มี Balance แบบเดียวกัน สามารถออกแบบคอพัตเตอร์ให้แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบ ดูตัวอย่างในภาพประกอบจะเห็นพัตเตอร์ 6 แบบ ที่มีคอพัตเตอร์ต่างกัน แต่เมื่อวางให้สมดุลย์บนนิ้วจะเป็นพัตเตอร์ Face Balance ที่หน้าพัตเตอร์จะหงายขึ้นฟ้าเหมือนกัน พัตเตอร์ Toe Hang และ Heel Hang ก็เช่นเดียวกัน สามารถออกแบบคอพัตเตอร์ให้มีหน้าตาแตกต่างกันออกไปได้หลากหลายแต่ให้ผล Balance เหมือนกัน





2.2 Offset คือ แนวของก้านเทียบกับหน้าพัตเตอร์ พัตเตอร์ที่หน้าพัตเตอร์อยู่หลังแนวก้านเรียก Offset และพัตเตอร์ที่หน้าพัตเตอร์อยู่หน้าแนวก้านเรียก Onset

2.3 Appearance คอที่ให้คุณสมบัติ Balance และ Offset แบบเดียวกัน สามารถออกแบบให้หน้าตาแตกต่างกันได้ ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึกของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดูภาพประกอบพัตเตอร์ที่มี Balance แต่มีคอที่ต่างกัน เวลาจรดดูจะเห็นมุมมองที่แตกต่างกัน




3.ก้านพัตเตอร์ มีผลต่อการพัตต์ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นก้านเหล็กที่มีน้ำหนัก  อาจจะมีพัตเตอร์หรือก้านพัตเตอร์บางรุ่นที่ออกแบบโดยใช้วัสดุอื่นเพื่อสร้างความรู้สึกที่แตกต่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

4.กริปพัตเตอร์ มีมากมายหลายยี่ห้อที่แตกต่างกันทั้ง รูปแบบ รูปทรง ขนาด ความยาว น้ำหนัก สีสัน วัสดุ พื้นผิว ซึ่งให้คุณสมบัติและความรู้สึกที่แตกต่างกัน

5.Balance ของพัตเตอร์คือ ความรู้สึกของพัตเตอร์เมื่อพัตเตอร์อยู่ในมือของนักกอล์ฟ

กลับมาที่คำแนะนำในการเลือกพัตเตอร์ สิ่งที่สำคัญของพัตเตอร์ไล่ตามลำดับดังนี้

1.ความยาวของพัตเตอร์ ที่ทำให้ท่ายืนพัตต์เหมาะสม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
2.ทรงของหัวพัตเตอร์ เอาที่เห็นแล้วชอบและอยากพัตต์เลย และเมื่อลองพัตต์แล้วรู้สึกว่าพัตต์ได้ง่าย
3.คอพัตเตอร์ที่เหมาะสม จะถูกแสดงออกมาเวลาลองพัตต์ ถ้าพัตต์แล้วใช่ ลูกกอล์ฟมันจะวิ่งตรงเข้าหลุมอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องปรับตำแหน่งลูก ลักษณะการยืน วิธีการพัตต์ให้วุ่นวาย คือถ้ามันเวิร์คกับวิธีการพัตต์ของเรา ก็คือใช่เลย
4.กริปพัตเตอร์ ให้สนใจขนาดกริปเป็นอันดับแรก กริปพัตเตอร์ผิดไปในทางขนาดใหญ่ จะเป็นมิตรมากกว่ากริปที่มีขนาดเล็ก
5.อย่าใส่ใจกับ Balance มากจนเกินเหตุ เอาความรู้สึกของเราเป็นหลัก ไม่ต้องไปใส่ใจข้อมูลทางเทคนิค น้ำหนักรวม swingweight อะไรให้วุ่นวาย รู้มากก็ปวดหัว เพราะคนเราไม่ได้ sensitive ขนาดที่จะจับความแตกต่างได้ละเอียดมากนัก และความแปลกไปในองค์ประกอบของพัตเตอร์ที่หลากหลายมีผลมากกว่านัก สนใจกับการพัตต์ให้มาก แล้วใช้ความรู้สึกและผลการพัตต์ประเมินพัตเตอร์แต่ละอัน เรื่องของ Balance เป็นเรื่องรอง (minor) ไม่ใช่เรื่องหลัก (major) อย่าง 4 ข้อแรก จะปรับ Balance พัตเตอร์ ก็ต่อเมื่อ 4 ข้อแรกผ่าน ซึ่ง Clubmaker และ Clubfitter ช่วยได้

แนะนำว่าควรจะรู้ความยาวพัตเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน แล้วไปยืนลองพัตต์พัตเตอร์ที่ยาวเหมาะกับเราในร้านที่มีพัตเตอร์ที่หลากหลายแบบให้ลอง แล้วพิจารณาพัตเตอร์ทั้ง 5 องค์ประกอบ และเลือกพัตเตอร์ตามคำแนะนำในการเลือกพัตเตอร์ทั้ง 5 ข้อ หาไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอพัตเตอร์เนื้่อคู่ที่จะอยู่ในถุงกอล์ฟคุณไปตลอดชีวิต เพราะการเลือกพัตเตอร์มีความรู้สึกเข้ามาร่วมเยอะมาก ทั้งสี ลวดลาย ลักษณะผิว ความรู้สีกเวลามองเห็นโดยรอบพัตเตอร์ ความรู้สึกจากการมองเห็นเวลาจรด ความรู้สึกจากการปะทะ วัสดุที่ใช้ ... และอีกเยอะ ซึ่งรายละเอียดที่ไม่ได้พูดถึงเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว เหมือนหญิงสาวที่ความสวย น่ารักแตกต่างกันไป แล้วแต่คนมองคนชอบ กว่าคนๆนึงจะเจอเนื้อคู่จริงๆต้องใช้เวลา ตอนที่ลองอาจจะรู้สึกว่าใช่ แต่พอมาใช้ชีวิตร่วมกันอาจจะไม่รู้สึกเหมือนตอนลองคบกันก็มีถมไป เหมือนในชีวิตจริงเลย และอีกอย่างพัตเตอร์แพงๆ ที่ทุกคนเขาว่าดี เห็นโปรในทีวีใช้กันเยอะแยะ ก็อย่าเพิ่งด่วนเชื่อด่วนตัดสินใจ เสียใจกันมานักต่อนักแล้ว ให้ลองด้วยตัวเองก่อน เนื้อคู่คุณอาจจะเป็นแค่พัตเตอร์เน่าๆที่คุณซื้อมาในราคา 100 บาทจากร้านขายของเก่า ที่จับแล้วรู้สึกมั่นใจพัตต์ยังไงก็ลงก็เป็นไปได้ ขอให้สนุกกับการค้นหาเนื้อคู่นะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้


ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน





Monday, December 26, 2016

036 - เคยซ้อมพัตต์แบบนี้ไหม

ได้เวลาพูดถึงการซ้อมพัตต์บนพรมซ้อมพัตต์ที่บ้านที่เกริ่นนำไว้เมื่อหลายวันก่อน เพราะการซ้อมพัตต์ตรงคือทักษะเดียวที่เราสามารถพกมันติดตัวไว้และนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่หลากหลายและคาดเดาไม่ได้บนกรีน ซึ่งการซ้อมพัตต์บนพรมที่บ้านก็ส่งเสริมทักษะนี้อย่างตรงไปตรงมาอยู่แล้ว

การซ้อมบนพรมพัตต์ที่แนะนำมีดังนี้

1.ตามแนวคิดในบทความที่ 026 - พัฒนาเกมส์สู่่อีกระดับด้วยแนวคิดง่ายๆ ระยะการพัตต์ที่ควรซ้อมให้มากที่สุดคือระยะ 3 ฟุต ควรซ้อมให้ลง 100%  การซ้อมพัตต์ที่ดีไม่ใช่อยู่ที่ปริมาณการซ้อม แต่อยู่ที่คุณภาพการซ้อม ควรซ้อมด้วยการท้าทายตัวเอง ซ้อมพัตต์ระยะ 3 ฟุตให้ลง 10 ลูก ติดต่อกัน ถ้าไม่ลงให้เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ไม่ง่ายนะครับ ลองดู

2.ซ้อมพัตต์ระยะ 7 ฟุตให้ลง 7 ลูก ภายใน 10 ลูก ไม่จำเป็นต้องลงติดต่อกัน ถ้าไม่ลง 3 ลูก ก็เริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ เป็นการซ้อมที่ตื่นเต้นไปอีกแบบ

3.ซ้อมน้่ำหนักการพัตต์ โดยเริ่มพัตต์ตั้งแต่ระยะ 3 ฟุตไล่ไปเรื่อยๆทีละฟุต จนถึงสุดพรม พรมยาว 2.5 เมตร จะสุดที่ 8 ฟุต ส่วนพรมพัตต์ 4 เมตร จะสุดที่ 15 ฟุต ท้าทายตัวเองด้วยการพัตต์ให้ลงต่อเนื่องกัน ไม่ลงเริ่มใหม่ และควรจะฝึกในทางกลับกันด้วย เริ่มด้วยพัตต์จากระยะไกลสุดแล้วขยับเข้าหาหลุมทีละฟุต ให้ลงต่อเนื่องกัน ไม่ลงเริ่มใหม่

4.ซ้อมพัตต์อะไรก็ได้ด้วยการท้าทายกับเพื่อน อาจมีการพนันเล็กๆ การซ้อมพัตต์จะสนุกสนานเป็นอย่างยิ่ง

การซ้อมพัตต์ปรับเปลี่ยนได้ตามที่เราต้องการ ซ้อมทักษะที่เป็นปัญหากับเราให้มาก ตั้งเป้าหมายการซ้อมทั้ง 3 แบบตามทักษะของเรา แล้วค่อยๆขยับเป้าหมายให้มากขึ้นตามทักษะที่พัฒนาขึ้น ให้ยังคงความตื่นเต้นท้าทาย ลองเอาไปประยุกต์ใช้หรือปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมดูครับ

การซ้อมพัตต์ด้วยการท้าทายตัวเอง อาจจะจบสั้นๆภายในไม่กี่นาที หรือ อาจจะยาวเป็นชั่วโมง โดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะสมาธิอยู่ที่การพยายามเอาชนะตัวเอง ซึ่งเราจะได้ทั้งทักษะในการพัตต์และการฝึกการพัตต์ในสถานการณ์กดดันไปด้วย ถ้าอุปกรณ์ซ้อมพัตต์วางพร้อมให้ซ้อมอยู่ตลอดเวลา และมีเป้าหมายการท้าทายตัวเองเล็กๆ โอกาสที่เราจะหยิบพัตเตอร์ซ้อมพัตต์จะมีมากขึ้น ทักษะและความมั่นใจการพัตต์จะถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Sunday, December 25, 2016

035 - จับกริปเบา

วันนี้วันคริสต์มาส เรามาคุยเรื่องเบาๆ สั้นๆตรงประเด็นอย่างเรื่องของการจับกริปกัน

พื้นฐานวงสวิงคือการจับกริป การจับกริปมีหลากหลายวิธี แต่พื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการจับกริปคือการจับกริปให้เบาที่สุดเท่าที่ยังจับกริปอยู่และไม้ไม่หลุดมือ ระดับความเบาแรงของนักกอล์ฟแต่ละคนไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังของกล้ามเนื้อฝ่ามือและนิ้ว ทำให้การสื่อสารเรื่องน้ำหนักการจับกริปสร้างความสับสนให้นักกอล์ฟมากที่สุด 

จับกริปให้เบาจนรู้สึกว่าน้ำหนักลงที่หัวเต็มที่โดยที่กริปไม่ขยับในฝ่ามือ ให้คงฟิลลิ่งกริปเบาๆผ่อนคลายอย่างนี้ตลอดวงสวิง ไม่ต้องกังวลว่าไม้จะหลุดมือ เพราะจิตใต้สำนึกไม่มีวันยอมแน่ แรกๆจะฝืนหน่อย รอให้เจอช็อตที่อิมแพคท์ดีๆโดนๆ แน่นๆ เชี้ยะๆ ตอนจับกริปเบาๆสักช็อต จะรู้ซึ้งถึงและเข้าใจอารมณ์ของความเบาสบาย ไร้ความพยายาม จำฟิลลิ่งนี้ไว้ และพยายามทำมันให้ได้อย่างต่อเนื่อง

จับกริปแน่น ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง เป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่เหมาะสมของวงสวิงที่เป็นธรรมชาติ นักกอล์ฟที่จับกริปแน่นๆ เกร็ง แล้วเปลี่ยนมาจับกริปเบาขึ้น จะเห็นระยะการตีเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ลองดูครับ ... พบกันพรุ่งนี้ Merry X' Mas





Saturday, December 24, 2016

034 - ออกรอบครั้งที่ 4 ของปีด้วยแนวคิด 42+/-



เมื่อวานมีนัดออกรอบกับรุ่นพี่ที่ไม่ได้เจอกันนานและต่างคนต่างก็ไม่ได้ตีกอล์ฟบ่อยเหมือนเมื่อก่อน พอเช็คข้อมูลการออกรอบย้อนหลังพบว่า การออกรอบที่สนามธานนท์เมื่อวาน เป็นออกรอบครั้งที่ 4 ของปี 2559 ห่างจากการออกรอบครั้งสุดท้ายเกือบสามเดือน และจับไม้กอล์ฟซ้อมสนามไดร์ฟเพียงชั่วโมงเดียวหนึ่งวันก่อนออกรอบเท่านั้น ในหนึ่งชั่วโมงที่ซ้อมนั้น โฟกัสเพียงเรื่องเดียว โดยมีภาพสวิงเตือนใจภาพเดียวในหัว คือภาพ release และ follow through ของสาวน้อยในภาพที่ต้องขออนุญาติสาวน้อยท่านนี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วย (หาอ่านได้ในบทความที่ 28 - ภาพสวิงเตือนใจ) ภาพนี้เป็นภาพที่เตือนให้หมุนหัวไหล่ซ้ายให้มากขึ้นและกลมขึ้น ซึ่งช่วยให้ไม้ถ่ายน้ำหนักไปเท้าซ้ายมากเกินไปด้วยการสไดล์ซึ่งเป็นปัญหาส่วนตัว



สนามกอล์ฟธานนท์ไกลจากบ้านย่านพุทธมณฑลเป็นอย่างมาก ทีออฟแต่เช้าตรู่เวลาหกโมงครึ่ง ต้องตั้งนาฬิกาปลุกตีสี่ มีกิจกรรมไหนนอกจากกอล์ฟที่คุณตื่นนอนตีสี่อย่างเต็มใจ ... 555 ด้วยกิจวัตรปกติที่นอนค่อนข้างดึก ยิ่งช่วงนี้ต้องเร่งทำโปรเจ็คที่ใกล้คลอด จะเปิดตัวให้ทุกคนได้เห็นกันเร็วๆนี้ และตามด้วยเขียนบทความประจำวันให้เสร็จ กว่าจะได้เข้านอนก็เกือบตีหนึ่ง พลิกไปพลิกมายังไงก็ไม่หลับ น่าจะด้วยตื่นเต้นที่ไม่ได้ออกรอบนานและลึกๆก็กลัวไม่ตื่นเหมือนกัน สุดท้ายไม่ได้นอนเลย ... ตายละมึง



ออกรอบครั้งนี้กับพี่โอ๋เพื่อนรุ่นพี่อาชีพผู้กำกับการแสดง ผลงานละครดังมากมาย ทั้งเพชฌฆาตดาวโจร, ลายหงส์, จุดนัดฝัน, Club Friday อีกหลายตอน ดังๆทั้งนั้น แต่ไม่เคยดูสักเรื่อง วีดีโอพรีเซ็นเตชั่นโปรเจ็คใหม่ที่จะเปิดตัวให้ชาวโลกได้รู้ว่าคนไทยมีดีต้นปีนี้ก็จะเป็นฝีมือแกนี่แหละ เพื่อนร่วมก๊วนอีกคนชื่อพี่ตี้ เพื่อนพี่โอ๋ที่ไม่เราไม่รู้จักกันมาก่อน สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการออกรอบเช้าตรู่กับเพื่อนสนิท คือการเดินตีกอล์ฟไปคุยกันไป  ซึ่งได้อารมณ์มากกว่าการใช้รถกอล์ฟเป็นอย่างยิ่ง อากาศที่เย็นสบาย และบรรยากาศที่รู้สึกผ่อนคลายเหมือนมาพักผ่อนมากกว่าการแข่งขัน ทำให้ตัดสินใจไม่ใช้รถกอล์ฟ ทั้งที่ไม่ได้นอนและรู้ว่าร่างกายที่ไม่ได้ออกกำลังกายมันจะค่อยๆแสดงอาการออกมาเรื่อยๆตามระยะทางที่เดินไป



ออกรอบวันนี้มีตามแนวคิด 42+/- มีแผนอยู่ในหัวคือ ทำหนึ่งพาร์ทุก 3 หลุม ตามบทความที่ 4 - "แผน 3 ขอ 1", ทำหนึ่ง GIR ทุก 3 หลุม และทำหนึ่งพัตต์ ทุก 3 หลุม ตามบทความที่ 5 - "ทำ 3 on 1 และ 3 sink 1" และในทุกช็อตที่ตีจะทบทวนภาพสวิงของสาวน้อยในรูปก่อนตีเสมอ ปรากฏว่าวันนี้ทำได้ดีกว่าแผนมาก 3 หลุมแรกทำได้ 3 พาร์ติด ซึ่งเข้าเป้า 3 พาร์ใน 9 หลุมแรกแล้ว จึงทำให้เกมส์ยิ่งง่ายขึ้นและไม่กดดัน สกอร์ 9 หลุมแรกออกมาที่ 41 และใน 9 หลุมหลัง ร่างกายเริ่มออกอาการล้าให้เห็น แต่ด้วยวันนี้ทีออฟด้วยหัวไม้ได้ดีมากและอยู่แฟร์เวย์เสียส่วนใหญ่ ทำให้เกมส์ง่ายขึ้นมาก ถึงแม้จะตีขึ้นกรีนไม่ค่อยออนตามแผน แต่ก็สามารถเล่นลูกสั้นเข้าไปอยู่ในระยะที่เก็บได้ จึงทำให้สกอร์ 9 หลุมหลังอยู่ที่ 39 รวม 18 หลุม สกอร์รวม 80 ดีกว่าที่คาดไว้มาก



สิ่งที่ได้จากการออกรอบครั้งนี้

1.นักกอล์ฟที่ออกรอบนานๆที จะมีร่างกายที่ไม่ค่อยฟิตเป็นเรื่องปกติ เมื่อร่างกายอ่อนล้า จิตใจก็จะอ่อนระรวยไปเป็นธรรมดา นักกอล์ฟจะหลุดโฟกัสกับเกมส์ของตนเองตอนเหนื่อยนี่แหละ สกอร์จะมีเทให้เห็นทันที ถ้าดึงเกมส์ตัวเองกลับมาไม่ได้ อันนี้ต้องระวัง

2.จากการตีทั้งหมด 79 ช็อต ใช้อุปกรณ์ต่างๆดังนี้
พัตเตอร์ 31 ครั้ง คิดเป็น 39%
เว็ดจ์ (S) 15 ครั้ง คิดเป็น 19%
ไดร์ฟเวอร์ 14 ครั้ง คิดเป็น 18%
เหล็ก 8 8 ครั้ง คิดเป็น 10%
U3 2 ครั้ง คิดเป็น 0.02%
U4 2 ครั้ง คิดเป็น 0.02%
เหล็ก 6 2 ครั้ง คิดเป็น 0.02%
เหล็ก 9 2 ครั้ง คิดเป็น 0.02%
PW 1 ครั้ง คิดเป็น 0.01%
L 1 ครั้ง คิดเป็น 0.01%
A 1 ครั้ง คิดเป็น 0.01%

พอจะเห็นภาพรวมจากการจดบันทึกสถิติการออกรอบแล้วหรือยังครับ การออกรอบแต่ละสนามคุณจะใช้อุปกรณ์แตกต่างกัน ถ้ายิ่งคุณจดสถิติการออกรอบที่สนามเดิมหลายๆครั้งคุณจะเห็นสถิติการใช้ไม้กอล์ฟแต่ละอันอย่างชัดเจน ครั้งต่อไปถ้ามาออกรอบที่สนามธานนท์อีก ผมจะให้ความสำคัญกับการซ้อมพัตเตอร์, เว็ดจ์ (S), ไดร์ฟเวอร์ และ เหล็ก 8 ให้มากตามลำดับ

3.rangefinder ช่วยบอกระยะการตีขึ้นกรีนได้อย่างแม่นยำ จากการตรวจสอบข้อมูลการบอกระยะของแค๊ดดี้ที่อาศัยการประมาณจากสัญลักษณ์ในสนามและสีของธงที่บอกตำแหน่งหลุมบนกรีน หลายครั้งผิดเกิน 10 หลาและหลายครั้งข้อมูลจะทำให้เลือกเหล็กผิดระยะ (อ่านบทความที่ 12 - อย่าเล่นกอล์ฟอย่างคนตาบอด) การออกรอบด้วย rangefinder จะทำให้การตีขึ้นกรีนสนุกขึ้นมาก ผลการตีเปรียบเหมือนการตรวจคำตอบ คุณจะแม่นกรีนขึ้น และสกอร์ก็จะดีขึ้น




4.วันนี้ทำสกอร์ 42+/- ได้เพราะเล่นตามแผน ถึงแม้จะมีเผลอหลุดจากแผนบ้าง แต่พอรู้ตัวก็ยังดึงสติกลับมาโฟกัสที่แผนได้ ทำ GIR ได้ 6 หลุม ตามแผน และทำ 1 พัตต์ ได้ 7 หลุม ดีกว่าแผน ถ้าวันนี้ออกรอบอย่างไม่มีแผน หลุมหลังๆน่าจะเละ เพราะร่างกายเริ่มไม่ไหวแล้ว อาศัยตีควบคุมไดร์ฟเวอร์ให้อยู่แฟร์เวย์ ไม่เน้นตีไกล เหล็กหลุมหลังๆเริ่มไม่แม่นแล้ว 6 หลุมสุดท้ายตีเหล็กบนแฟร์เวย์และหญ้าสั้นทุกหลุม แต่ทำ GIR ได้แค่หลุมเดียว รอดมาได้ด้วยอาศัยเล่นลูกสั้นเน้นๆ ให้เกมส์ไปตามแผน เพราะฉะนั้นแผนสำคัญมากๆ

สำหรับนักกอล์ฟแล้วอะไรจะมีความสุขไปกว่า นานๆออกรอบที ไม่ค่อยซ้อม แต่ก็ยังตีอยู่ในระดับสกอร์ 42+/- และสนุกสนานไปกับเพื่อนฝูง ท่ามกลางหมู่ไม้ เสียงนกขับขาน อากาศเย็นสบายยามเช้า แค่คิดก็มีความสุขแล้ว ก่อนจบขอแนะนำสนามกอล์ฟธานนท์เป็นสนามที่ไม่ยากนัก แฟร์เวย์กว้าง กรีนไม่มีสโลปมากมายเหมือนสนามภูเขา เหมาะสำหรับนักกอล์ฟมือใหม่และนักกอล์ฟซ้อมน้อยที่ต้องการสนุกกับเกมส์ ที่ราคาวันธรรมดา 1,000 บาท รวมแค๊ดดี้ถือว่าโอเคทีเดียว ช่วงนี้อากาศดีเหมาะกับการออกรอบ คนน้อย ก๊วนไม่ติด หาเวลาออกรอบกัน จะได้ช่วยเหลือสนามกอล์ฟและแค๊ดดี้ไปในตัวด้วย ... ปีหน้าอยากจะออกรอบให้มากขึ้น เอาไว้จะชวนเพื่อนสมาชิกที่สนใจไปออกรอบด้วยกัน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ



Friday, December 23, 2016

033 - จะได้เลิกอ้างเหตุผลที่ไม่ซ้อมพัตต์อีกต่อไป

จากแนวคิดในบทความที่ 31 - "สามสิ่งสำคัญกับเรื่องบนเตียง เอ๊ย! ... บนกรีน" ที่ว่า  ทุกพัตต์มีพื้นฐานมากจากการพัตต์ตรงทั้งสิ้น เกิดจากการสร้างหลุมในจินตนาการแล้วพัตต์ตรงๆไปที่หลุมนั้น ที่เหลือก็ปล่อยให้ไลน์บนกรีนพาลูกกอล์ฟเดินทางไปหาหลุมจริง

ดังนั้นการซ้อมพัตต์จึงควรเป็นการพัตต์ตรง ซึ่งโชคดีที่เราสามารถซ้อมที่บ้านหรือที่ทำงานก็ได้ ขอให้มีพื้นที่ได้ระดับ ไม่เอียงเท่านั้นก็พอแล้ว อุปกรณ์การซ้อมพัตต์หลักๆก็มีเพียงพรมซ้อมพัตต์, พัตเตอร์ และลูกกอล์ฟเท่านั้น และอาจจะมีอุปกรณ์เสริมที่หาได้ใกล้ๆตัวที่จะแนะนำในตอนต่อไป แต่ก่อนจะซ้อมพัตต์อย่าลืมอ่านบทความที่ 32 - ก่อนคิดจะเริ่มซ้อมพัตต์ จะได้ไม่ตกม้าตาย

พรมพัตต์เป็นเรื่องที่สำคัญ แนะนำให้ใช้พรมพัตต์ที่มีคุณสมบัติดังนี้
1.วัสดุของพรมควรเป็นหญ้าเทียมคุณภาพดี ไม่ควรใช้วัสดุที่เป็นพรมใยสังเคราะห์ เพราะจะไม่ได้ฟิลลิ่งในการพัตต์ สปีดก็ไม่ได้ และมีปัญหาพรมยับ ไม่เรียบ จากการพับไว้นานๆ
2.เลือกซื้อพรมให้ยาวที่สุดเท่าที่ทำได้ พรมปกติที่ขายตามท้องตลาดทั่วไปยาว 2.5 เมตร ซึ่งก็ใช้งานได้ แต่มีพรมพัตต์ที่ทำยาวพิเศษถึง 4 เมตร ที่จะทำให้เราสามารถซ้อมพัตต์ได้หลากหลายกว่ามากอย่างไม่น่าเชื่อ ซึ่งเราจะพูดคุยกันในวันพรุ่งนี้ในเรื่องของเทคนิคการซ้อมพัตต์ที่บ้าน

สิ่งที่สำคัญที่สุดของพรมพัตต์คือ ตำแหน่งการวาง เราควรหาที่วางพรมพัตต์อย่างถาวรในตำแหน่งที่เราต้องเดินผ่านและเห็นทุกวัน และพร้อมที่จะคว้าพัตเตอร์แล้วซ้อมพัตต์ได้ทันที การเก็บพรมพัตต์ไว้มิดชิด และต้องเสียเวลากางออก รับรองได้ว่าไม่เวิร์คครับ และอีกอย่างที่สำคัญคือ การสร้างบรรยากาศให้รู้สึกอยากซ้อมพัตต์ มีเสียงดนตรีเบาๆ แอร์เย็นๆ หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้เรารู้สึกว่ายืนซ้อมพัตต์ได้อย่างมีความสุข แล้วท่านจะพบว่าตัวเองซ้อมพัตต์มากขึ้น ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





Thursday, December 22, 2016

032 - ก่อนคิดจะเริ่มซ้อมพัตต์

มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจ นักกอล์ฟท่านหนึ่งปรึกษาด้วยความสงสัยว่า ตนเองซ้อมพัตต์อยู่ที่บ้านทุกวันและพัตต์ได้ดีมาก แต่พอออกรอบกลับพัตต์ไม่ได้เรื่องเอาซะเลย ช่วยหาคำตอบหน่อยว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น

พอลองให้นักกอล์ฟท่านนี้พัตต์ให้ดู เพื่อดูรายละเอียดต่างและพูดคุยกัน ก็เห็นว่าแกพัตต์ได้ค่อนข้างดี ผมก็หาเหตุผลต่างๆนาๆ อธิบายความเป็นไปได้ว่าทำไมแกถึงพัตต์ไม่ดีในสนามจริง แต่มีสิ่งหนึ่งที่สะกิดทำให้นึกถามขึ้นมาว่า พัตต์เตอร์ที่ซ้อมพัตต์ที่บ้านกับที่ใช้ออกรอบเป็นตัวเดียวกันไหม ปรากฏว่าไม่ใช่ แล้วพอถามลึกลงไปอีกว่า เป็นพัตต์เตอร์ทรงเดียวกันไหม ก็ยิ่งทำให้ถึงบางอ้อ เพราะพัตเตอร์สองตัวเป็นคนละทรงกันอย่างสุดขั้ว

พัตเตอร์ที่ใช้ออกรอบจะมี offset แบบตัวขวา แต่พัตต์ที่ใช้ซ้อมเป็นแบบเสียบตรงไม่มี offset พัตต์เตอร์ทั้งสองตัวนี้ หากวางลูกกอล์ฟที่ตำแหน่งเดียวกัน จังหวะปะทะลูกจะต่างกัน ตัวด้านซ้ายจะเข้าปะทะลูกเร็วกว่า หากพัตต์เหมือนกันเด๊ะ พัตต์เตอร์ตัวขวาลูกจะออกทางซ้ายมากกว่าเสมอ นี่คือความจริงที่บางครั้งเราคาดไม่ถึง เป็นการวางยาตัวเองแบบที่ตัวเองยังไม่รู้เลย

นี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นต้นเหตุที่ทำให้การพัตต์อยู่ที่บ้านแตกต่างจากการออกรอบ ซึ่งไม่ควรจะนำซับซ้อนเข้ามาเพิ่มความผิดพลาดในการพัตต์ของเรา เพราะยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้เราเพี้ยน อย่าทำให้มันยิ่งสับสนเพิ่มขึ้นอีกเลย

แนะนำให้ใช้พัตต์เตอร์ตัวที่ใช้ออกรอบซ้อมพัตต์ แต่ปัญหาที่เจอกันบ่อย คือออกรอบแล้วไม่มีพัตต์เตอร์เพราะซ้อมอยู่บ้านแล้วลืมหยิบกลับเข้าถุงก่อนออกรอบ แต่หากไม่สะดวก ควรจะใช้พัตต์เตอร์ที่เป็นรุ่นเดียวกัน ยาวเท่ากัน แต่ถ้าหากเป็นไปไม่ได้ ก็พยายามหาพัตเตอร์ที่เป็นทรงเดียวกัน ยาวเท่ากัน กริปขนาดใกล้เคียงกัน บาลานซ์ใกล้เคียงกัน เอาให้มันเหมือนกันมากที่สุด

เรื่องนี้อาจจะโดนใจนักกอล์ฟหลายคนที่กำลังมีปัญหาเหมือนนักกอล์ฟท่านนี้ทีเดียว ก่อนที่จะเริ่มซ้อมพัตต์กอล์ฟอย่างจริงจัง อย่าเริ่มด้วยความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Wednesday, December 21, 2016

031 - สามสิ่งสำคัญกับเรื่องบนเตียง เอ๊ย! ... บนกรีน

ดูจากอัตราการอ่านบทความที่แล้ว (บทความที่ 30 - พัตเตอร์ ... จะพูดถึงกี่ทีก็ต้องว่ามันโคตรสำคัญเลย) ที่พูดถึงการพัตต์ ทำให้รู้ได้ทันทีว่าคนให้ความสนใจเรื่องการพัตต์น้อยมากจริงๆ วันนี้เลยต้องตั้งชื่อบทความให้มันเร้าใจซะหน่อย แต่ก็ยังพูดถึงเรื่องที่สำคัญที่สุด นั่นคือการพัตต์

การจะพัตต์ลูกกอล์ฟให้ลงหลุมมีปัจจัยมากมายทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ คุณควรรู้พื้นฐาน 3 สิ่งสำคัญที่คุณควบคุมได้และจะเปลี่ยนนักกอล์ฟมืออ่อนให้กลายเป็นเพชฆาตได้อย่างไม่น่าเชื่อ

1.ทุกพัตต์มีพื้นฐานมากจากการพัตต์ตรงทั้งสิ้น เกิดจากการสร้างหลุมในจินตนาการแล้วพัตต์ตรงๆไปที่หลุมนั้น ที่เหลือก็ปล่อยให้ไลน์บนกรีนพาลูกกอล์ฟเดินทางไปหาหลุมจริง
2.พัตต์โดยให้น้่ำหนักที่ลูกกอล์ฟจะไปหยุดเลยหลุมสักหนึ่งฟุตเสมอ เพราะการพัตต์ไม่ถึงหลุม ปิดโอกาสการลงหลุมอย่างสิ้นเชิง
3.อย่าพัตต์ตกไลน์ เพราะการพัตต์ตกไลน์ ปิดโอกาสการลงหลุมอย่างสิ้นเชิงเช่นกัน

ถ้าสามสิ่งนี้อยู่ในจิตใต้สำนึกของนักกอล์ฟแล้ว ทุกการพัตต์จะมีโอกาสลุ้นลูกกอล์ฟลงหลุม ต่อจากนี้ไปคุณจะเริ่มมีไอเดียแล้วว่าคุณควรจะซ้อมพัตต์อย่างไร ... พบกันใหม่วันพรุ่งนี้ครับ




Tuesday, December 20, 2016

030 - พัตเตอร์ ... จะพูดถึงกี่ทีก็ต้องว่ามันโคตรสำคัญเลย

การพัตต์เป็นช็อตที่สำคัญมากที่สุดในเกมส์อย่างปฏิเสธไม่ได้ มีเหตุผลมากมายที่นักกอล์ฟควรใส่ใจกับการซ้อมพัตต์ให้มากที่สุด
-เราใช้พัตเตอร์มากครั้งที่สุดในเกมส์กอล์ฟ 18 หลุม นักกอล์ฟสกอร์เกินร้อยใช้พัตเตอร์ประมาณ 30% ส่วนโปรกอล์ฟใช้พัตเตอร์ 40% ของเกมส์ นั่นแสดงให้เห็นแล้วว่ายิ่งฝีมือคุณพัฒนาขึ้นพัตเตอร์จะยิ่งมีความสำคัญต่อเกมส์กอล์ฟของคุณมากขึ้นเรื่อยๆ
-ไม่มีนักกอล์ฟที่พัตต์แย่คนไหนที่คว้าแชมป์ได้
-ช็อตพัตต์เป็นช็อตที่กดดันที่สุด
-ช็อตพัตต์เป็นช็อตที่ต้องการความแม่นยำมากที่สุดในเกมส์กอล์ฟ
-การพัตต์ที่แม่นยำในระยะ 3-7 ฟุต เป็นผลให้เกมส์โดยรวมง่ายขึ้น (อ่านบทความที่ 026 - พัฒนาเกมส์สู่่อีกระดับด้วยแนวคิดง่ายๆ)
-การพัตต์ได้ดีส่งผลให้สกอร์ดีขึ้นเป็นอย่างมาก
-การพัตต์ที่ดีสามารถเปลี่ยนเกมส์และกดดันคู่ต่อสู้ได้
-การพัตต์เป็นทักษะที่นักกอล์ฟทุกคนพัฒนาได้ ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบในการพัตต์
-นักกอล์ฟมือใหม่ควรจะเริ่มต้นจากวงสวิงเล็กๆอย่างการพัตต์
-นักกอล์ฟมือใหม่จะต้องใช้เวลาพัฒนาทักษะในการสวิงอีกมาก แต่การพัตต์ให้เก่งขึ้นใช้เวลาน้อยกว่ามาก คนที่พัตต์ดีสกอร์ก็ล้ำหน้าเพื่อนที่เริ่มต้นมาด้วยกันอย่างแน่นอน
-การพัตต์ช่วยเรากว่าแค่บนกรีน ในเกมส์ลูกสั้นนอกกรีนที่หญ้าไม่ยาวเราใช้ทักษะการพัตต์ช่วยเซฟเกมส์ได้ดีกว่าใช้เว็ดจ์ที่มีโอกาสพลาดสูงกว่า
-เราซ้อมพัตต์อยู่ที่บ้านได้ ซ้อมได้มากเท่าที่เราต้องการ เวลาไหนก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
-พัตเตอร์ที่เข้ามือจะเป็นไม้กอล์ฟที่เราอาจใช้เพียงอันเดียวไปตลอดชีวิต พลังแห่งความมั่นใจจะสะสมอยู่ในพัตเตอร์ ยิ่งเราซ้อมมาก มั่นใจมาก มันจะแสดงผลงานได้ดีบนกรีนจริง
-การพัตต์เป็นทักษะเดิมๆที่ติดตัวไปตลอดชีวิต ไม่เหมือนวงสวิงที่ต้องอาศัยกล้าม และสภาพร่างกาย เมื่อเวลาเปลี่ยนไป อายุที่มากขึ้น วิธีการต้องเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม
-การถ่ายทอดสดและออกอากาศการแข่งขันกอล์ฟ ช็อตพัตต์เป็นช็อตที่ได้รับการออกอากาศและได้เวลาในการออกอากาศมากที่สุด และช็อตสุดเท่ห์ก่อนคว้าแชมป์ก็คือช็อตพัตต์... สำคัญไหมล่ะ

เหตุผลมากพอหรือยังที่จะทำให้ทุกคนหยิบพัตเตอร์แล้วเริ่มซ้อมพัตต์ให้มากขึ้น ... พรุ่งนี้มาคุยกันเรื่องเทคนิคการซ้อมพัตต์ที่ทุกคนทำได้และได้ผลอย่างแน่นอน





Monday, December 19, 2016

029 - ไม่น่าเชื่อว่าฝีมือเรา

หลายคนถามว่า เขียนบล็อคเกี่ยวกับกอล์ฟทุกวันอย่างนี้ทำไปทำไม และยังไกลจากเป้าหมาย 1,000 วัน 1,000 บทความอีกตั้งเยอะ จะทำจนจบได้หรือ แล้วจะเอาอะไรมาเขียนได้ทุกวัน ... นั่นน่ะสิ

วันหนึ่งขณะขับรถทางไกลกลับเข้ากรุงเทพฯก็พบรถกระบะคันหนึ่งขับแซงหน้าเราไป ตลอดเวลาที่รถคันนี้ขับอยู่ด้านหน้ารถเรา ไฟท้ายสีน้ำเงินซึ่งไม่ใช่แสงปกติที่คนขับรถคุ้นเคยส่องเข้าตาอยู่ตลอดเวลา สร้างความรำคาญต่อสายตาและทำให้เสียสมาธิเป็นอย่างมาก ผมในฐานะคนขับก็บ่นและสรรเสริญเจ้าของรถด้วยถ้อยคำเผ็ดมันส์ออกไปในทางหยาบคาย และมั่นใจว่ารถทุกคันที่อยู่ท้ายรถคันนี้จะต้องทำแบบเดียวกัน ถามว่าเงินที่เจ้าของสูญเสียไปในการเปลี่ยนไฟท้ายเป็นสีน้ำเงินสร้างประโยชน์อันใดให้กับโลกใบนี้บ้าง เจ้าของรถเคยมีโอกาสได้เห็นไฟท้ายของตัวเองไหม บุพการีของเขาที่อยู่นอนอยู่ที่บ้านไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องสะดุ้งตื่นเพราะมีคนคอยกรวดน้ำไปให้ตลอดเวลา อีกทั้งการรบกวนต่อผู้ใช้รถใช้ถนน ที่ไม่รู้ว่าวันใดจะเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้คนอื่นและตัวของเขาเองต้องเดือนดร้อนจากการทำเรื่องที่ไม่ได้คิดใคร่ควรญให้ดีก่อนลงมือทำเช่นนี้

ทุกสิ่งที่เราทำลงไปมีผลกระทบทั้งในแง่ลบและแง่บวกต่อสังคมและคนรอบตัวโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้าทุกคนตั้งใจทำเรื่องดีๆทิ้งไว้บนโลกนี้ วันละหนึ่งเรื่องทุกวัน โลกเราจะมีความสุข สงบและสวยงามขึ้นอีกมาก ดังนั้นไอ้การทำเรื่องดีๆจากการเขียนบทความเล็กๆเกี่ยวกับกอล์ฟที่เราถนัด จากประสบการณ์ เราเข้าใจ แบ่งปันให้กับนักกอล์ฟคนอื่นจึงไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรง และหวังว่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ได้มีโอกาสอ่านบทความนี้ได้ลงมือทำอะไรดีๆวันละหนึ่งอย่างเช่นกัน ... เจ้าของรถที่มีไฟท้ายสีน้ำเงินควรเริ่มทำความดี ด้วยการเปลี่ยนไฟท้ายกลับไปเป็นสีแดงตามปกติก่อน ทำให้ท้องถนนกลับสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ




Sunday, December 18, 2016

028 - ภาพสวิงเตือนใจ

ภาพสวิงเพียงภาพเดียว สามารถโดนใจ ใช้เตือนความจำในจุดบอดวงสวิงของเราได้ และสร้าง feeling ของวงสวิงที่ถูกต้องได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ทุกคนมีจุดบอดในวงสวิงที่เป็นนิสัย เป็นสันดานที่เมื่อแก้หายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปในที่สุดมันก็จะกลับมาเป็นอีก ลองหาภาพวงสวิงสักภาพที่เห็นปุ๊บแล้วมันสั่นสะเทีอนความจำ และทำให้เกิด feeling ส่วนตัวของวงสวิงที่ถูกต้อง เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ ให้เราเปิดดูได้ตลอดเวลาที่ต้องการ เราจะได้ไม่ต้องกลับไปซ่อมวงสวิงเมื่อสายเกินไป ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ

ปล. ภาพสวิงทั้ง 3 ภาพนี้ เซฟเก็บไว้นานแล้ว จำไม่ได้ว่าเป็นใคร ขอยืมภาพเจ้าของมาใช้งาน ณ ที่นี้ด้วยนะครับ







Saturday, December 17, 2016

027 - กฏกอล์ฟกับความสุขของนักกอล์ฟ

อีกสิ่งที่สร้างความร้าวฉานในก๊วนกอล์ฟมากที่สุดคือกฏกอล์ฟ บางก๊วนเพื่อนฝูงถึงเถึยงกันรุนแรงถึงขนาดเลิกคบกันก็มีมาแล้ว

กฏกอล์ฟมีที่มามาจากคนเพียงกลุ่มเดียวที่เรียกว่า USGA และ R&A ที่ตั้งใจสร้างกฏขึ้นมาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการตัดสินเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในเกมส์กอล์ฟ ซึ่งกฏกอล์ฟจะถูกเขียนขึ้นใหม่หลังจากเกิดเหตุการณ์ต่างๆเกิดขึ้นในเกมส์กอล์ฟด้วยความเห็นของคนเพียงกลุ่มหนึ่ง กฏกอล์ฟถูกพัฒนาสะสมมาอย่างยาวนานนับร้อยปี ตั้งแต่ปี 1894 กฏกอล์ฟจึงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมายที่ถ้าศึกษาเข้าไปลึกๆแล้ว จะไม่อยากเล่นกอล์ฟเลย

มีนักกอล์ฟจำนวนน้อยมากๆที่ศึกษาและเข้าใจกฏกอล์ฟอย่างลึกซึ้งแท้จริงและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ถูกต้อง นักกอล์ฟส่วนใหญ่ก็รู้อย่างงูๆปลาๆ ดังนั้นเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในสนามกอล์ฟและต้องใช้กฏกอล์ฟตัดสิน จึงเป็นต้นเหตุของเรื่องทะเลาะกันเสมอและไม่มีคนกลางที่รู้จริงคอยตัดสินให้เหมือนในการแข่งขันระดับอาชีพ ยิ่งถ้ามีการพนันจำนวนมากเข้าร่วมแล้ว ไม่มีใครยอมใครเป็นแน่ ความรุนแรงของความขัดแย้งจึงขึ้นอยู่กับความต้องการในการรักษาความสัมพันธ์แล้วล่ะทีนี้ ท้ายสุดก๊วนกอล์ฟพนันจึงเกิดกฏกอล์ฟที่นักกอล์ฟชาวไทยเรียกว่า "โลกัน" ที่สร้างกันขึ้นมาเองจนเป็นที่ยอมรับโดยไม่รู้ที่มาที่ไป เพื่อกำจัดความขัดแย้ง ไม่ต้องมาเถียงกันเรื่องกฏกอล์ฟ ไม่มีดร็อป ลูกกอล์ฟอยู่ตรงไหนก็ตีตามสภาพนั้นเลย ... จบ

สิ่งที่กำลังบอกก็คือ กฏกอล์ฟหลายครั้งสร้างความขัดแย้ง และกฏกอล์ฟโดยส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมระดับอาชีพแล้วให้นักกอล์ฟทุกระดับทั่วโลกเอาไปประยุกต์ใช้เป็นกฏ ซึ่งทำให้เกมส์ที่ยากอยู่แล้วกลับยากขึ้นสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่น เช่น กฏกอล์ฟที่เกี่ยวข้องกับไม้กอล์ฟ ทั้งการจำกัดความเด้งของหน้าไม้กอล์ฟ, ขนาดและความคมของเว็ดจ์ กฏเหล่านี้ล้วนสร้างขึ้นจุดประสงค์หลักเพื่อจำกัดการเล่นของนักกอล์ฟระดับอาชีพที่มีทักษะสูง ซึ่งกลับสร้างปัญหาให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นและทำให้เกมส์ลดความสนุกลง

ถามว่านักกอล์ฟสมัครเล่นเล่นกอล์ฟเพื่ออะไร ถ้าไม่ใช่ความสนุก และมีความสุขจากการตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ได้ไกลๆใช่ไหม แล้วทำไมต้องให้กฏกอล์ฟที่ตั้งใจลดความไกลของหัวไม้นักกอล์ฟอาชีพมาจำกัดความสนุกของนักกอล์ฟสูงอายุที่มีความสุขจากเกมส์กอล์ฟมากขึ้นเมื่อตีได้ไกลขึ้น ทำให้เกมส์ง่ายขึ้น และสกอร์ดีขึ้น ทำให้อยากออกรอบมากขึ้น สนามกอล์ฟก็มีรายได้มากขึ้น แค๊ดดี้ก็มีความสุข สุดท้ายอุตสาหกรรมกอล์ฟก็กลับมาคึกคักจากการที่มีคนเล่นมากขึ้น ... ถ้าอยากตีไกลขึ้น สนุกกับเกมส์กอล์ฟมากขึ้น ขอแนะนำหัวไม้หน้าเด้ง Wayo คือหนึ่งทางเลือกที่ตอบโจทย์

และเมื่อ USGA และ R&A ออกกฏขนาดร่อง (groove) และความคมของร่องเว็ดจ์ออกมา จุดประสงค์เพื่อให้นักกอล์ฟอาชีพไม่สามารถสร้างสปินและควบคุมลูกกอล์ฟที่อยู่ในรัฟได้ง่าย ผลของกฏนี้ทำให้เว็ดจ์รุ่นใหม่มีร่องที่ถูกกฏและทำให้นักกอล์ฟสมัครเล่นที่ตีเว็ดจ์มีสปินน้อยอยู่แล้ว ยิ่งเกิดปัญหาตีเว็ดจ์ตกบนกรีนแล้วไม่หยุดดั่งใจ ถามว่าความสุขจากการตีเว็ดจ์ของนักกอล์ฟสมัครเล่นคือ ความสามารถในการควบคุมสปิน ได้เห็นลูกกอล์ฟตัวเองตกหยุด หรือตกแล้วสปินถอยหลังแบบที่โปรกอล์ฟในทีวีทำใช่ไหม แสดงว่าเว็ดจ์รุ่นใหม่ๆไม่ตอบสนองต่อความสุขของนักกอล์ฟสมัครเล่น ... ถ้าอยากตีเว็ดจ์ให้มีสปิน ตกหยุด หรือถอยหลัง ขอแนะนำเว็ดจ์ Wayo ที่ตอบโจทย์ความสุขของนักกอล์ฟ

นักกอล์ฟส่วนใหญ่ไม่รู้ตัวว่าตนเองมีพฤติกรรมลักลั่นกับกฏกอล์ฟ เวลาเห็นคนอื่นใช้หัวไม้หน้าเด้งก็บอกว่า โกง ผิดกฏ ซึ่งมันก็ผิดกฏจริง แต่ทุกคนรู้ไหมว่ามีกฏกอล์ฟใกล้ตัวที่ทุกคนไม่รู้และละเมิดมาตลอด อย่างเช่น เปลี่ยนลูกพัตต์, ไม่ใช้ลูกกอล์ฟรุ่นเดียวตลอด 18 หลุม, มีไม้เกิน 14 อัน และอื่นๆอีกมาก

ทั้งหมดทั้งมวลที่บรรยายมานี้ ต้องการจะบอกว่า เราเล่นกอล์ฟกับเพื่อนร่วมก๊วนเพื่อความสุข ก็ควรเอาความสุขของตนเองเป็นที่ตั้ง ไม่ควรเอากฏกอล์ฟที่สร้างเพื่อคนอื่นมาสร้างปัญหาและทำให้เรามีความสุขน้อยลง และเพื่อสร้างความสัมพันธ์ในก๊วนให้คงอยู่ การสร้างกฏที่ไม่ซับซ้อนภายในก๊วนเอง (local rule) ที่สมาชิกในก๊วนทุกคนเห็นชอบและเข้าใจตรงกัน ปิดโอกาสความขัดแย้ง โดยไม่ต้องไปสนใจกฏกอล์ฟจริงๆที่ไม่มีใครรู้จริง คือทางออกที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นการแข่งขันที่ต้องแข่งกับคนอื่นๆ เราก็ต้องเล่นตามกฏกอล์ฟอย่างตรงไปตรงมาให้ถูกสถานการณ์




Friday, December 16, 2016

026 - พัฒนาเกมส์สู่่อีกระดับด้วยแนวคิดง่ายๆ

เกมส์กอล์ฟคือเกมส์ของจิตใจ เหมือนทุกเรื่องในชีวิต ที่ความสำเร็จเกิดจากทัศนคติและแนวคิดที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้ความพยายามและการฝึกฝนสัมฤทธิ์ผล นักกอล์ฟที่เคยมีช่วงเวลาที่มั่นใจในเกมส์ของตัวเองเป็นอย่างยิ่ง จะรู้สึกว่าการทำพาร์เป็นเรื่องง่าย และการทำเบอร์ดี้เป็นสิ่งท้าทายและมีลุ้นในทุกหลุม ความรู้สึกนี้นักกอล์ฟทุกคนสามารถพัฒนาได้ และมันก็ไม่ยากอย่างที่คิด

ความลับของความมั่นใจ ไม่ได้อยู่ที่การตีหัวไม้ได้ไกลและตรง ไม่ได้อยู่ที่การตีเหล็กที่แม่นยำ แต่มันอยู่ที่ "การพัตต์" นักกอล์ฟที่มั่นใจในการพัตต์ของตนจะเหมือนเสือที่ติดเขี้ยวเล็บ เพราะกอล์ฟจบที่การพัตต์

แนวคิดการสร้างความมั่นใจในการพัตต์มีสองส่วน

ส่วนแรก - การสร้างความมั่นใจในเกมส์ตั้งรับ คือการพัตต์ระยะ 3 ฟุต ให้ซ้อมพัตต์ระยะ 3 ฟุต จนมั่นใจ 100% ว่าถ้าลูกกอล์ฟอยู่บนกรีนห่างจากหลุมภายในระยะ 3 ฟุต เราพัตต์เก็บได้แน่นอน ความมั่นใจนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเกมส์ลูกสั้น ถ้าเป้าหมายการเล่นลูกสั้นของเราคือการทำให้ลูกกอล์ฟเข้าไปอยู่ภายในวงกลมรัศมี 3 ฟุต รอบธงที่เรามั่นใจว่าเราพัตต์เก็บได้แน่นอน เกมส์ลูกสั้นเราจะง่ายขึ้นและกดดันน้อยลงอย่างมหาศาล

ส่วนที่สอง - การสร้างความมั่นใจในเกมส์ตั้งบุก คือการพัตต์ระยะ 7 ฟุต ให้ซ้อมพัตต์ระยะ 7 ฟุต จนมั่นใจ 70% ว่าถ้าลูกกอล์ฟอยู่บนกรีนห่างจากหลุมภายในระยะ 7 ฟุต ถ้ามีโอกาส 10 หลุม เราจะมีโอกาสทำเบอร์ดี้ได้ 7 หลุม  ความมั่นใจนี้จะส่งผลต่อเนื่องไปยังเกมส์ approach ถ้าเป้าหมายการตีขึ้นกรีนของเราคือการทำให้ลูกกอล์ฟเข้าไปอยู่ภายในวงกลมรัศมี 7 ฟุต รอบธงที่เรามั่นใจว่าเราสามารถพัตต์ให้ลงได้ 70% ช็อต approach ของเรามีจินตนาการที่ดีขึ้นและลดความกดดันลงจากการเล็งธงได้อย่างมาก ในที่สุดเราก็จะได้เบอร์ดี้มากขึ้น

การซ้อมพัตต์ตรงๆบนพรมพัตต์คุณภาพดีอยู่ที่บ้านเป็นสิ่งที่ทุกคนทำได้ (แนะนำพรมพัตต์ยาว 4 เมตร ของ Tee Intact Golf Lab) นี่แหละคือเบื้องหลังความมั่นใจในเกมส์กอล์ฟของคุณ แต่อย่าลืมนะว่าเวลาซ้อมพัตต์ ดีที่สุดคือการซ้อมด้วยพัตเตอร์ที่คุณใช้ออกรอบ พลังความมั่นใจมันถูกสะสมอยู่ในพัตเตอร์ที่คุณใช้ซ้อม ... เอาแนวคิดนี้ไปลองดู เชื่อได้ว่าต้องประสบความสำเร็จทุกคน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Thursday, December 15, 2016

025 - ลูกกอล์ฟ ... เรื่องสำคัญที่ถูกละเลยมากที่สุด

ที่ Tee Intact Golf Lab มีชาร์ตลูกกอล์ฟที่ผ่าลูกกอล์ฟรุ่นต่างๆให้ดูโครงสร้างภายในเอาไว้ให้นักกอล์ฟได้ดูกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการพูดคุยเกี่ยวกับลูกกอล์ฟ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ และถูกละเลยมากที่สุด

คำถามที่พบบ่อยหลังจากนักกอล์ฟได้ดูชาร์ตลูกกอล์ฟนี้ และจะต้องอธิบายซ้ำๆ แต่ก็รู้สึกดีทุกครั้งที่อธิบายให้นักกอล์ฟแต่ละคน เพราะความรู้ที่เขาได้รับกลับไปจากคำตอบมันมีประโยชน์จริงๆ หลายครั้งนักกอล์ฟต้องร้องอ๋อจากความจริงที่ผิดไปจากความเข้าใจมาโดยตลอด และวันนี้คำถามคำตอบที่พบบ่อยเหล่านี้จะได้ถูกบันทึกเป็นตัวอักษรให้นักกอล์ฟทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เรียนรู้กัน

คำถาม: ลูกกอล์ฟแต่ละรุ่นแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ: ลูกกอล์ฟเกือบทุกยี่ห้อ ถูกออกแบบมาเป็น 3 กลุ่มหลักๆ คือ
1.ลูกกอล์ฟสำหรับนักกอล์ฟฝีมือดี ที่ส่วนใหญ่มีความเร็วหัวไม้ค่อนข้างไปทางสูง นักกอล์ฟกลุ่มนี้มีทักษะในการความคุมสปิน และให้ความสำคัญกับ Feeling นักกอล์ฟกลุ่มนี้จึงมักมีผิว

รุ่นโปร คือลูกกอล์ฟที่โปรกอล์ฟและนักกอล์ฟฝีมือดีนิยมใช้ นักกอล์ฟกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีความเร็วหัวไม้ค่อนข้างไปทางสูง นักกอล์ฟกลุ่มนี้มีทักษะในการความคุมสปิน และให้ความสำคัญกับ Feeling ลูกกอล์ฟรุ่นโปร ผิวชั้นนอกสุดจะผลิตจาก Urethane ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ตรง ที่ให้แบ็คสปินที่ดี เล่นลูกสั้นและตีเหล็กตกหยุดได้ดี ให้ความนุ่มนวลที่รู้สึกได้จากการพัตต์ เหมาะกับนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้สักนิดนึง สัก 90 mph ขึ้นไป หลายๆคนที่สปีดหัวไม้ไม่มากแต่ก็ชอบรุ่นนี้ก็มีให้เห็น แต่รุ่นนี้มักไม่เหมาะกับนักกอล์ฟที่ตีหัวไม้แล้วตกหยุด แต่ยังอยากได้ระยะเพิ่ม

รุ่นเบา คือ ลูกกอล์ฟที่ตั้งใจสร้างขึ้นมาเพื่อนนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ไม่มาก ที่มีปัญหาเรื่องระยะ เช่น นักกอล์ฟอาวุโส นักกอล์ฟแรงน้อย นักกอล์ฟสตรี หรือนักกอล์ฟเยาวชน ด้วยความที่ลูกกอล์ฟมีผิวที่แข็งกว่ารุ่นโปร และมีความแข็ง (compression) น้อยกว่า นักกอล์ฟสปิดน้อยจึงตีได้ระยะกว่า ตีหัวไม้ลูกจะตกแล้ววิ่งมากกว่า แต่ด้วยความที่สปินน้อยกว่ารุ่นโปร จึงตีเหล็กและเล่นลูกสั้นได้ไม่หยุดอย่างได้อย่างใจ

รุ่นกลาง คือ ลูกกอล์ฟที่ผสมผสานลูกกอล์ฟทั้งสองรุ่นเข้าด้วยกัน จึงมีสเป็คกลางๆ ไม่ถึงกับสุดขั้วอย่างสองรุ่นแรก

รู้เป็นความรู้เอาไว้ว่า คุณสมบัติที่แตกต่างของลูกกอล์ฟแต่ละรุ่นเกิดจากการองค์ประกอบต่างๆที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่ โครงสร้างของลูกกอล์ฟ, จำนวนชั้นของลูกกอล์ฟ, ชนิดและคุณสมบัติของวัสดุแต่ละชั้น, ปริมาตรของแต่ละชั้น, ความแข็งของแต่ละชั้น, รูปร่างของแต่ละชั้น และเทคนิคปลีกย่อยอื่นๆอีกมาก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้


คำถาม: ลูกกอล์ฟรุ่นไหนดีที่สุด
คำตอบ: ลูกกอล์ฟที่ดีที่สุด ไม่มีอยู่จริง ลูกกอล์ฟที่มีคุณสมบัติตอบสนองความต้องการในเกมส์กอล์ฟได้อย่างครบถ้วนและเหมาะกับนักกอล์ฟทุกคนคือสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ลองคิดดูว่าทำไมผู้ผลิตทุกยี่ห้อถึงต้องผลิตลูกกอล์ฟออกมาหลายๆรุ่น เพื่อสร้างภาระให้กับตัวเอง แทนที่จะผลิตลูกกอล์ฟเพียงรุ่นเดียว ดังนั้นอย่าไปสนใจเวลามีคนบอกว่าลูกกอล์ฟรุ่นนั้นรุ่นนี้ดีที่สุด เพราะลูกกอล์ฟรุ่นที่ดีที่สุดคือลูกกอล์ฟรุ่นที่เหมาะกับเรา


คำถาม: ผมควรเลือกใช้ลูกกอล์ฟรุ่นไหนดี
คำตอบ: เริ่มจากพิจารณาดูว่าเราอยู่ในกลุ่มไหนและสิ่งที่เราต้องการของลูกกอล์ฟทั้ง 3 กลุ่ม เพราะลูกกอล์ฟในตลาดมีมากมายหลายรุ่น ถ้าไม่โฟกัสกลุ่มให้เหมาะสม จะสร้างความสับสนให้กับเราเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นก็เป็นการทดลองกับลูกกอล์ฟที่อยู่ในกลุ่มนั้นๆ หลายๆยี่ห้อ เพื่อหาลูกกอล์ฟรุ่นที่เราชอบที่ตอบสนองความต้องการของเราได้เป็นที่พอใจ เราไม่ต้องไปสนใจคำโฆษณาหรือข้อมูลทางเทคนิคใดๆทั้งสิ้น ลองด้วยตัวเองดีที่สุด ถ้ามันดีกับเรา นั่นคือจบ และในความเป็นจริงเราอาจจะลองลูกกอล์ฟในกลุ่มอื่นด้วยก็ได้ ถ้าลองแล้วเราชอบ ก็ใช้ไปเลย มันไม่ผิดที่นักกอล์ฟมือใหม่ความเร็วหัวไม้ไม่มาก จะใช้ลูกกอล์ฟกลุ่มโปร ตราบใดที่เราชอบ ใช้แล้วมั่นใจและมันส่งเสริมเกมส์ของเรา

คำถาม: ผมควรใช้ลูกกอล์ฟ Pro V1 หรือ Pro V1x
คำตอบ: นี่คือคำถามยอดฮิตของลูกกอล์ฟ Titleist รุ่น Pro V1 หรือ Pro V1x ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ลูกกอล์ฟสองรุ่นนี้มีความแตกต่างในเชิงเทคนิคทั้งเรื่อง compression, จำนวนชั้น, รูปร่างและจำนวน dimple, คุณสมบัติในการสร้างสปินและตอบสนองเรื่องระยะ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ยิ่งสร้างความสับสนในการเลือกลูกกอล์ฟเป็นอย่างยิ่ง ขอตอบคำดังนี้โดยไม่ต้องสนใจข้อมูลเทคนิคดังนี้ ลองดูโปรกอล์ฟใน PGA Tour จะพบว่ามีนักกอล์ฟที่ใช้ลูกกอล์ฟทั้ง Pro V1 และ Pro V1x ทั้งที่หลายคนมีความเร็วหัวไม้ที่มากกลับเลือกลูกที่มี compression ที่ต่ำกว่า ส่วนคนที่สปีดน้อยกลับเลือกรุ่น compression มาก แถมด้วยโปรคนที่ตีหัวไม้แล้วตกหยุดไม่วิ่ง ก็กลับเลือกรุ่นที่บอกว่ามีสปินมากกว่า จึงเป็นที่มาของคำตอบที่ว่า ให้เลือกลูกกอล์ฟรุ่นที่ตอบสนองความต้องการของเราได้มากที่สุด ด้วยการทดลองออกรอบด้วยลูกกอล์ฟทั้งสองรุ่นเปรียบเทียบกันเลย ผู้ที่ให้คำตอบได้ดีที่สุดสำหรับคำตอบนี้คือตัวนักกอล์ฟที่ได้ลองแล้วด้วยตนเอง


คำถาม: สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นอย่างผม มีคำแนะนำในการเลือกใช้ลูกกอล์ฟอย่างไรดี
คำตอบ: ให้ทดลองตีลูกกอล์ฟหลายๆรุ่น แต่การลองที่ดีที่สุด คือใช้ลูกกอล์ฟใหม่ของรุ่นนั้นๆซึ่งจะให้ประสิทธิภาพสูงสุด หรือถ้าจะประหยัดหน่อยก็ใช้ลูกกอล์ฟมือสองรุ่นนั้นๆที่สภาพเหมือนใหม่ และเมื่อได้ลูกกอล์ฟรุ่นที่ถูกใจแล้ว เวลาออกรอบก็ลูกควรใช้ลูกกอล์ฟใหม่แกะกล่องรุ่นเดียวกันตลอดทั้ง 18 หลุม (ตามกฏกอล์ฟต้องใช้ลูกกอล์ฟรุ่นเดียวกันตลอดทั้ง 18 หลุม) แต่ถ้ารู้สึกว่าแพงเกินไปก็ใช้ลูกกอล์ฟมือสองที่สภาพเหมือนใหม่ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด คิดดูว่าเราลงทุนเสียเวลาฝึกซ้อม เสียเงินไปกับไม้กอล์ฟจำนวนมาก ออกรอบก็ครั้งละหลายตังค์ แต่กลับประหยัดใช้ลูกกอล์ฟสภาพแย่ๆเป็นตัวแทนความพยายามทั้งหมด ลูกเก่าๆที่ตีได้ไม่ไกลเท่าลูกกอล์ฟใหม่ ความสม่ำเสมอก็สู้ไม่ได้ แถมบางคนยังใช้ลูกกอล์ฟหลายๆรุ่นผสมปนเปกัน จะหาความสม่ำเสมอของระยะและสปินได้อย่างไร เรื่องลูกกอล์ฟนี้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ใกล้ตัว และถูกละเลยมากที่สุด

หวังว่าคำถามคำตอบเรื่องลูกกอล์ฟที่พบบ่อยเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ให้กับนักกอล์ฟทุกรุ่นสืบไป พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ






Wednesday, December 14, 2016

024 - เล่นพนันแค่ไหนพอ

การพนัน คือธรรมชาติของเกมส์กอล์ฟ ในเกมส์กอล์ฟระดับสูงสุดอย่างนักกอล์ฟอาชีพมีเดิมพันเป็นระดับหลายล้านบาท ซึ่งสร้างความกดดันเป็นอย่างยิ่ง ในระดับสมัครเล่นที่เล่นกอล์ฟเพื่อความสนุกสนานและมิตรภาพในระยะยาว ไม่ได้หวังสร้างรายได้หรืออาชีพจากการกินเงินเพื่อน การพนันจึงเป็นการสร้างความตื่นเต้นให้กับเกมส์กอล์ฟ แต่การพนันนี้เองสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ก๊วนแตก ทำให้เสียเพื่อนและเสียคน

คำถามคือ "เล่นพนันแค่ไหนดีที่สุด" ... คำถามนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องสำหรับทุกคน เหมือนคำถามที่ว่า "ทำบุญแค่ไหนดี" ที่รุ่นพี่ท่านหนึ่งเคยให้คำแนะนำว่า "ทำบุญให้เริ่มรู้สึกเสียดาย" เพื่อฝึกการเป็นผู้ให้ เพราะถ้าเราทำบุญน้อยไป เราก็ไม่รู้สึกอะไร จิตใจก็ไม่ได้พัฒนา แต่ถ้ามากเกินไปก็เป็นการเบียดเบียนตัวเอง ดังนั้นหาระดับเงินที่เราเริ่มรู้สึกเสียดาย ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน การทำบุญโดยที่รู้สึกเสียดายแต่ไม่เดือดร้อนจะทำให้เรามีความรู้สึกพิเศษและอิ่มเอมใจ

แนวคิดนี้เอามาใช้กับการพนันได้เช่นกัน แต่จะต้องเพิ่มเติมความเอาใจใส่เพื่อนร่วมก๊วนด้วย เริ่มจากแต่ละคนควรหาระดับความเสียดายของตนเองก่อน ด้วยแต่ละคนรู้สึกเสียดายเงินไม่เท่ากัน และระดับความรู้สึกเสียดายเงินไม่ได้สัมพันธ์กับระดับฐานนะแต่อย่างใด คนรวยกว่าอาจมีความรู้สึกเสียดายเงินที่จำนวนเงินน้อยกว่าคนที่รวยน้อยกว่าก็เป็นไปได้ ดังนั้นคนที่มีระดับความเสียดายเงินที่จำนวนเงินสูงกว่าควรใส่ใจและไม่กดดันเพื่อนที่มีระดับความเสียดายเงินที่จำนวนน้อยกว่า จนทำให้บรรยากาศภายในก๊วนเปลี่ยนไปในทางที่ทำให้ตีกอล์ฟไม่สนุก เครียด ออกรอบก็ไม่พูดไม่จากัน คอยจ้องมองจับผิดเพื่อน เริ่มคิดจะโกง ตุกติก และอีกสารพัด ซึ่งล้วนแล้วแต่มีสาเหตุเริ่มต้นมาจากการพนันที่ไม่เหมาะสมทั้งสิ้น แล้วมันจะทำให้ก๊วนอยู่กันได้ยืดยาวได้อย่างไร

ความสัมพันธ์และมิตรภาพไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินทองเสมอไป เงินได้เสียจากการพนันกอล์ฟหลักร้อยหลักพัน แต่หลังเกมส์กอล์ฟเพื่อนฝูงเลี้ยงกันเป็นหลักหมื่นก็ถมเถไป แถมยังช่วยเหลือกันทั้งเรื่องส่วนตัวและธุรกิจอีกมากมาย ให้ความสนุกจากการพนันในเกมส์กอล์ฟช่วยกระชับความสัมพันธ์ดีกว่าให้มันทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





Tuesday, December 13, 2016

023 - หาทางกลับบ้านด้วย New Ball Flght Law

New Ball Flight Law คือความรู้พื้นฐานสำหรับนักกอล์ฟเพื่อเป็นแผนที่กลับบ้านเมื่อวันที่หลงทางมาถึง เพราะตีกอล์ฟไปเรื่อยๆ วงเราก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนวันที่เพี้ยนสุดๆมารับไม่ได้มาถึงเราจะสามารถกลับบ้านได้ถูกด้วยตัวเอง

นักกอล์ฟบางคนพยายามอ่านและทำความเข้าใจกับ New Ball Flght Law แต่ยิ่งอ่านกลับยิ่งงงและสับสนจนต้องยอมแพ้ วันนี้มาลองทำความเข้าใจกันอีกรอบ ค่อยๆไปด้วยกันเลย

สาระสำคัญของ New Ball Flght Law อยู่ที่

1.ทิศทางเริ่มต้นของวิถีลูกจะใกล้เคียงกับหน้าไม้ขณะปะทะลูก ว่ากันที่ 75% ยิ่งหัวไม้มีความเร็วน้อยลงอย่างเช่นพัตเตอร์ ทางทิศทางเริ่มต้นของวิถีลูกจะไปตามหน้าไม้ขณะปะทะลูก ซึ่งผิดจากความรู้เก่าที่ระบุอยู่ใน PGA Manual
2.ทิศทางการ curve ของวิถีลูกจะอยู่ที่หน้าไม้เปิดหรือปิด (Club Face) เมื่อเทียบกับแนวสวิง (Club Path) ขณะหน้าไม้ปะทะลูก ถ้าหน้าไม้ปิดเมื่อเทียบกับแนวสวิง วิถีจะ curve จะขวาไปซ้าย แต่ถ้าหน้าไม้เปิดเมื่อเทียบกับแนวสวิง วิถีจะ curve จะซ้ายไปขวา

ความรู้เพียงสองอย่างนี้ก็เพียงพอแล้วที่จะเข้าใจ New Ball Flght Law ในภาพประกอบแล้ว ต่อจากนี้ไปเมื่อหลงทาง ตั้งสติ และพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิถีลูกของเรา และใช้ความรู้จาก New Ball Flight Law แล้วเราจะหาทางกลับบ้านได้ด้วยตนเอง ... พบกันใหม่พรุ่งนี้เช้า

เครดิตภาพประกอบ ยืมมาจากเว็บ golfwrx.com


ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน




Monday, December 12, 2016

022 - เข้าสนามไดร์ฟไปทำไม

เคยได้ยินคำว่า "Practice makes perfect" ใช่ไหม แต่กับการซ้อมกอล์ฟแล้วมันไม่ใช่ ควรใช้คำว่า "Practice makes permanent" ถึงจะถูก เพราะถ้าคุณซ้อมสิ่งที่ผิดไปเรื่อยๆ โดยไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องกับสิ่งที่กำลังทำ การเรียนรู้และพัฒนาก็จะไม่เกิดขึ้น สิ่งที่คุณซ้อมซ้ำๆนั้นมันก็จะติดตัวคุณไปตลอดไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด

วิธีการซ้อมในสนามไดร์ฟมีอยู่ 3 แบบที่อยากจะแนะนำนักกอล์ฟให้นำไปใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และคุ้มค่าเวลาที่เสียไปในสนามไดร์ฟ

1.ฝึกทักษะและกล้ามเนื้อ เป็นการฝึกเน้นการเคลือนไหวซ้ำๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อเกิดความคุ้นเคย และหวังว่ามันจะจดจำการเคลื่อนไหวที่เราต้องการได้ ซึ่งเป็นวิธีที่นักกอล์ฟส่วนใหญ่ทำอยู่ ประสิทธิภาพและผลประโยชน์ในการซ้อมแบบนี้ขึ้นอยู่กับเป้าหมายแต่แรกในการมาซ้อม นักกอล์ฟส่วนใหญ่สั่งลูกมาก็หวดไปเรื่อยเปื่อย ไม่มีเป้าหมาย สิ่งที่ได้ก็คือเหงื่อและกล้ามเนื้อ เหมือนกับการออกกำลังกายซึ่งอาจจะไม่ได้ประโยชน์สูงสุดจากเวลาที่เสียไป การเข้าสนามไดร์ฟเพื่อฝึกทักษะและกล้ามเนื้อควรมาพร้อมเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และโฟกัสที่สิ่งนั้น อย่างบางคนที่กำลังแก้หรือปรับวงสวิง ก็ควรโฟกัสหรือมี Swing Thought ตั้งใจกับสิ่งน้ันแค่สิ่งเดียว และอย่าไปคิดหลายอย่าง เพราะมันไม่ได้ผล แล้วก็ซ้อมตีซ้ำๆอย่างมีสติ มีจังหวะ ไม่ตีมั่วซั่วอย่างไร้สติ

2.ฝึกซ้อมให้เหมือนตีจริง คือการฝึกซ้อมในสนามไดร์ฟที่ทุกช็อตที่ตีเป็นการจำลองสถานการณ์การตีเหมือนออกรอบอยู่ในสนามกอล์ฟ ซึ่งจะเริ่มจาก routine ในการยืนเล็งเป้าหมายหลังลูก เดินเข้าจรด ยืน Set Up ลงมือตี และประเมินผลการตี การฝึกซ้อมแบบนี้จะมีประโยชน์มากกับนักกอล์ฟทุกระดับ เพราะเป็นการฝึกซ้อมที่เหมือนการออกรอบจริง ได้ฝึกครบทั้งร่างกายและสติ ฝึกแบบนี้เราจะไม่ตีมั่วซั่วเลอะเทอะ แล้วเราก็จะมีเวลาประเมินการตีช็อตต่อช็อต และยังสามารถประเมินผลการตีไม้กอล์ฟแต่ละอันตามแนวคิด "เอาไม้กอล์ฟที่ไม่ผ่านการคัดตัวออกจากถุง" ได้อีกด้วย

3.ซ้อมแบบออกรอบ คือ การซ้อมโดยคิดว่าเรากำลังออกรอบ 18 หลุมในสนามใดสนามหนึ่งอยู่ โดยอาจจะเอาสกอร์การ์ดของสนามที่เรากำลังจะไปออกรอบสุดสัปดาห์นี้มากางดูระยะ แล้ววางแผนเลือกไม้ที่จะตีในแต่ละช็อต เริ่มจากจินตนาการว่าเรากำลังอยู่ที่หลุมหนึ่ง (สมมุติว่าหลุมแรกเป็นพาร์ 4) ช็อตแรกที่จะตีคือช็อตทีออฟ เลือกไม้ที่จะใช้ทีออฟ พอตีช็อตแรกเสร็จก็ทำการประเมินระยะและทิศทางของผลการตีด้วยตัวเองอย่างคร่าวๆ จากนั้นคำนวณระยะและจินตนาการไลน์ที่ลูกกอล์ฟอยู่แล้วเลือกไม้กอล์ฟที่จะตีช็อตสอง ถ้าประเมินว่าตีช็อตสองตีขึ้นไปออน ก็ถือว่าจบหลุมนี้ แต่ถ้าประเมินว่ายังไม่ออนก็เลือกเว็ดจ์ชิพจนลูกขึ้นกรีน เป็นอันจบหลุมหนึ่ง ทำเหมือนกับออกรอบจริง แล้วทำการประเมินผล Green in Regulation ในแต่ละหลุม จนครบ 18 หลุม การฝึกซ้อมวิธีนี้อาจจะทำร่วมกับการวางแผน "แผน 3 ขอ 1" และ "ทำ 3 on 1" รวมถึง "บันทึกสถิติการออกรอบ" ด้วย การฝึกซ้อมจะเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

ลองเอาแนวคิดไปประยุกต์ใช้ดู การฝึกซ้อมในสนามไดร์ฟจะมีรสชาดและเป้าหมายที่สนุกขึ้นมากกว่าเดิม แถมด้วยประโยชน์และประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ... พบกันใหม่พรุ่งนี้เช้า




Sunday, December 11, 2016

021 - ตียังไงให้มี divot

การจะตีเหล็กให้เกิด divot ควรเริ่มจากการทำความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนว่า หัวเหล็กเดินทางเข้าปะทะลูกกอล์ฟก่อนที่จะถึงจุดต่ำสุดของวงสวิง หัวเหล็กจึงปะทะลูกกอล์ฟก่อนแล้วจึงปะทะพื้น เกิดเป็นรอย divot หน้าลูก ซึ่งตำแหน่งของไม้กอล์ฟที่จังหวะอิมแพคท์ที่ถูกต้อง กริปจะนำหน้าหัวเหล็กเท่านั้น มากน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่งลูก และต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ด้วยว่าลูกกอล์ฟลอยออกไปได้ด้วยองศาใบเหล็ก ไม่ใช่การตีงัด

เมื่อเรารู้แล้วว่าท่าอิมแพคท์ของไม้กอล์ฟเป็นอย่างไร ที่เหลือเราก็สามารถค้นหาวิธีการควบคุมไม้กอล์ฟเข้าอิมแพคท์ได้ด้วยตัวเองจากการซ้อมตีบนหญ้าจริง แล้วดูรอย divot, หรือจะยืนตีบนทราย แล้วดูรอยบนพื้นทราย หรือถ้าซ้อมบนพรมก็อาจใช้ ใช้เทปหนังไก่ (masking tape) แปะไว้บนพรมบริเวณหลังลูก ถ้าตีโดนลูกโดยไม่ทำให้เทปหนังไก่ฉีกขาดเสียหาย และหัวเหล็กสัมผัสพื้นหลังอิมแพคท์ก็ถือว่าใช้ได้ แนะนำว่าไม่ควรพยายามตีอัดลงไปที่ลูกหรือที่เรียกกันว่า Hit Down ควรคิดว่าสวิงผ่านลูกกอล์ฟในจังหวะที่หัวเหล็กยังเป็นขาลง สำหรับคนที่มีอาการหลังลูกมากๆ ลองดูว่าตำแหน่งลูกกอล์ฟตอนจรดของตัวเองอยู่ไปทางเท้าซ้ายมาเกินไปหรือไม่ แล้วลองขยับลูกกอล์ฟไปทางเท้าขวามากขึ้นแล้วดูความเปลี่ยนด้วยตัวเอง การหาอิมแพคท์เป็นประสบการณ์ส่วนตัวที่ต้องหาด้วยตัวเอง จนพบช่วงเวลา "อ๋อ ... มันเป็นอย่างนี้เอง" ... กอล์ฟมันสนุกและท้าทายตรงนี้แหละ

ถ้าเราสามารถตีให้เกิด divot หน้าลูกได้ ความสม่ำเสมอในการตีลูกเดินทางจะเพิ่มขึ้นอีกมากโข การตีในบริเวณหญ้ายาวหรือในรัฟ ก็จะทำได้ดีขึ้นมาก สิ่งที่จะได้ตามมาก็คือ ระยะเหล็กที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เสียงอิมแพคท์ที่แน่นอย่างรู้สึกได้ สามารถสร้าง Back Spin ของลูกกอล์ฟให้ตกหยุดบนกรีนได้อย่างใจ รวมทั้งวิถีบอลที่พุ่งทะลุทะลวงอย่างมีพลัง

พบกันใหม่พรุ่งนี้เช้ากับเรื่องดีๆที่จะทำให้คุณสนุกไปกับกอล์ฟในช่วงสกอร์ที่สนุกที่สุด 42+/- ได้อย่างง่ายๆ เส้นทางยังอีกยาวไกลกว่าจะครบ 1,000 บทความ เดินทางไปด้วยกันนะครับ ... Happy Golfer





Saturday, December 10, 2016

020 - divot คือประตูสู่ความลับ

การตีกอล์ฟแต่ละช็อตมีเป้าหมายที่ชัดเจน 2 อย่างคือ ระยะ และ ทิศทาง จะให้ช็อตแต่ละช็อตประสบความสำเร็จได้ตามเป้าอย่างสม่ำเสมอ จะอยู่สิ่งที่แนวคิดง่ายๆ 2 อย่าง คือ 

1.ทำยังไงก็ได้ให้หัวไม้กอล์ฟปะทะโดนลูกกอล์ฟก่อนเสมอ - ถ้าหัวไม้โดนลูกกอล์ฟก่อน ก็จะตัดการตีหลังลูกที่จะทำให้ระยะและทิศทางเสียไปได้โดยเด็ดขาด ถ้าเราตีลูกกอล์ฟบนหญ้าจริง ผลของการตีโดนลูกก่อนจะเกิดผลที่สังเกตได้ 2 เพียง 2 อย่างคือ จะไม่มีรอย divot ที่พื้นเลย หรือมีรอย divot เกิดขึ้นที่หน้าลูก 
2.เพิ่มโอกาสในการตีให้โดนลูกก่อนในทุกสถานการณ์ - ช็อตที่ตีลูกบนที และการพัตต์บนกรีนที่มีหญ้าสั้น มีความชัดเจนว่าลูกกอล์ฟทั้งลูกจะลอยอยู่เหนือพื้นหญ้า ในช็อตที่ลูกกอล์ฟไม่อยู่บนทีและบนกรีน ตำแหน่งที่ลูกกอล์ฟไปหยุดอยู่มันจะยาวกว่าหญ้าบนกรีนอย่างแน่นอน ทำให้มีหญ้าบางส่วนปกคลุมพื้นผิวที่ลูกกอล์ฟตามความยาวของหญ้า ดังนั้นการเพิ่มโอกาสในการตีให้โดนลูกก่อนในทุกสถานการณ์ก็คือการให้หัวไม้กอล์ฟเข้าปะทะลูกกอล์ฟในมุมกดลง ซึ่งจะทำให้หัวไม้โดนลูกกอล์ฟก่อนแล้วจึงเกิดรอย divot ขึ้นที่หน้าลูก 

ดังนั้นการที่เราจะตีกอล์ฟให้ได้ระยะและทิศทางที่สม่ำเสมอก็คือ การควบคุมหัวไม้เข้าปะทะลูกในมุมที่หลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางหน้าไม้ก่อนเข้าปะทะลูกนั่นเอง ซึ่งเราจะคุ้นเคยกับคำต่างๆเหล่านี้ Descending Blow, Hit Down, Forward Lean, Hand Forward, Compress Ball, Flatten Left Wrist, Deloft ที่สร้างความมึนงง อันที่จริงแล้วมันอธิบายสิ่งเดียวกัน และมันก็คือ ผลของการควบคุมให้หัวไม้กอล์ฟปะทะลูกกอล์ฟก่อนที่หัวไม้กอล์ฟจะผ่านจุดต่ำสุด ซึ่งจะแสดงออกมาให้เห็นว่าในตำแหน่งอิมแพคท์ไม้กอล์ฟจะอยู่ในท่าที่กริปนำหน้าไม้กอล์ฟ ซึ่งทำให้หัวไม้ในขณะอิมแพคท์มี loft ที่น้อยลง ลูกกอล์ฟก็จะไปได้ไกลขึ้น แล้วหลังปะทะลูกแล้วหัวไม้กอล์ฟก็จะเดินทางต่อไปจนปะทะกับพื้นหญ้าเกิดเป็นรอย divot หน้าลูกนั่นเอง

การรักษาตำแหน่งไม้กอล์ฟเข้าปะทะได้เหมาะสมจะเพิ่มโอกาสในการควบคุมระยะและทิศทางได้ในทุกสถานการณ์ ซึ่งผลของมันจะทำให้เราตีได้ระยะที่ไกลอย่างเหมาะสม และเกิด divot หน้าลูกให้เห็นอย่างสวยงาม ทั้งหมดทั้งมวลคือผลของการควบคุมจตำแหน่งไม้กอล์ฟ ณ จุดอิมแพคท์นั่นเอง สิ่งที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากนั้นคือผลพลอยได้นั่นเอง ... งงกันไหมครับ

จากนี้ไป เวลาเห็นโปรกอล์ฟอาชีพตีเหล็กแบบดูเหมือนไม่ออกแรงแล้วลูกมันไปไกลลิบ และเกิด divot หน้าลูก ก็ไม่ได้ไม่ต้องแปลกใจอีกต่อไป

พรุ่งนี้จะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ และนักกอล์ฟสมัครเล่นสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ พบกันพรุ่งนี้เช้าครับ






ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit





ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน





Friday, December 9, 2016

019 - ทำไมซ้อมในสนามไดร์ฟตีดีมาก แต่ตีจริงไม่ได้เรื่อง

นักกอล์ฟไทยร้อยละ 90 เปอร์เซ็นต์ซ้อมไดร์ฟบนพรมซ้อม เพราะในเมืองไทยสนามไดร์ฟที่ให้บริการตีบนหญ้าจริงมีน้อยมาก เนื่องด้วยการบริหารจัดการความเสียหายและดูแลหญ้าที่ยุ่งยาก และความไม่คุ้มค่าทางการลงทุนในเมืองที่มีค่าเสียโอกาสต่อพื้นที่ เพราะการให้บริการตีบนหญ้าจริงจะทำชั้นสองไม่ได้ ข้อจำกัดเหล่านี้ทำให้สนามไดร์ฟหญ้าจริงจะอยู่ในสนามกอล์ฟหรือสนามไดร์ฟที่ห่างไกลจากชุมชนส่วนใหญ่ จึงไม่เป็นที่นิยมของนักกอล์ฟส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ในเมือง

พรมซ้อมไดร์ฟที่มีความทนทานจึงเข้ามาแทนหญ้าจริงเพราะตอบโจทย์ทางธุรกิจของผู้ให้บริการ แต่ปัญหากลับมาตกอยู่ที่นักกอล์ฟ "จากการซ้อมที่ไม่สมจริง"  ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิด "ซ้อมในสนามไดร์ฟตีดีมาก แต่ตีจริงไม่ได้เรื่อง" และความล้มเหลวของการฝึกตีกอล์ฟเพื่อหาความลับของวงสวิงด้วยตนเอง

ข้อเสียของการซ้อมบนพรมอยู่ที่ เราไม่ได้เรียนรู้ผลของการตีจากข้อมูลที่ควรได้รับจากการตีบนหญ้า นั่นคือ รอยดีวอท (divot) แถมด้วยพรมไม่ตอบสนองต่อการตีหลังลูกเหมือนการตีบนหญ้า นักกอล์ฟส่วนใหญ่มีปัญหาตีหลังลูกโดยที่ตัวเองไม่รู้ตัว เพราะซ้อมตีบนพรมหลังลูกน้อยๆ ลูกก็ยังไปในทิศทางที่เล็งไว้ แต่พอไปออกรอบการตีหลังลูกจะเกิดแรงต้านจากดินเกิดขึ้นทำให้เกิดปัญหาการตีไม่ไปอย่างที่เคยทำได้บนพรมซ้อม และการซ้อมบนพรมไม่สร้างให้เกิดการตอบสนองการตีหลังลูก นักกอล์ฟส่วนใหญ่เวลาได้รับแรงต้านจากตีหลังลูกจะหยุดการ Follow Through ทำให้ตีไม่ไปเหมือนตอนซ้อมเลย นั่นแหละปัญหา แต่การฝึกซ้อมบนหญ้าจริงจะสอนให้เราตีจบสวิงได้จากการตีหลังลูกไม่มากนัก

นอกจากนั้นการฝึกซ้อมบนพรมมันเรียบ แต่สนามจริงมีทั้งลูกสูงและต่ำกว่าเท่า ยืนเอียง หัวทิ่ม ยืนตะแคง มีทุกรูปแบบ ซึ่งต้องอาศัยทักษะความสัมพันธ์ของมือและตา (hands-eyes coordination) ที่ต้องมาพร้อมกับการรักษาสมดุลย์ของร่างกาย มันเป็นทักษะที่จะต้องสะสมจากการตีบนหญ้าจริงสถาณการณ์จริงที่การซ้อมบนพรมให้ไม่ได้

นักกอล์ฟทุกคนควรหาโอกาสซ้อมในสนามไดร์ฟหญ้าจริงบ้าง ถ้าออกรอบในสนามกอล์ฟที่มีสนามไดร์ฟที่ตีบนหญ้าจริง ควรหาเวลาไดร์ฟก่อนออกรอบทุกครั้งจะทำให้เราเข้าใจปัญหาของเรามากขึ้น การออกรอบบ่อยขึ้นก็จะทำให้เราเก่งเร็วขึ้นจากการมีประสบการณ์การตีบนหญ้าจริงที่มากขึ้นนั่นเอง ... พรุ่งนี้เช้าเราจะมาคุยกันเรื่อง "Secret is in the dirt." เรื่องที่เป็นความลับที่นักกอล์ฟทุกคนต้องค้นหาด้วยตัวเอง




ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน





Thursday, December 8, 2016

018 - ความลับในวงสวิง

เบื้องหลังความสำเร็จของนักกอล์ฟผู้ยิ่งใหญ่ตลอดกาลและมีวงสวิงที่ล้ำสมัยอย่าง Ben Hogan อยู่ที่ประโยคที่ฟังดูเป็นนามธรรมเกินกว่าจะจับต้อง "Secret is in the dirt." แต่มันให้แนวคิดที่สำคัญกับนักกอล์ฟในสมัยปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมแตกต่างไปอย่างมาก

ในอดีตที่กอล์ฟไม่ได้เข้าถึงได้ง่ายและเป็นวงกว้างอย่างในปัจจุบัน นักกอล์ฟส่วนใหญ่ตีกอล์ฟจากการฝึกหัดด้วยตนเอง และค้นหาความลับในวงสวิงด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ นักกอล์ฟที่มีชื่อเสียงในอดีตจึงมีวงสวิงที่เป็นเอกลักษณ์กันอย่างมาก แต่ถ้าศึกษาวงสวิงของนักกอล์ฟเหล่านี้จะพบว่า แม้จะมีการเคลือนไหวของร่างกายที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งที่เหมือนกันนั่นคือ ลักษณะการเข้าปะทะลูก (Impact) ของไม้กอล์ฟที่เหมือนกัน ซึ่งคือผลจากค้นเจอความลับนั่นเอง

กลับมาในยุคปัจจุบันของเรา "Secret is in the dirt." แทบจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะเราไม่ได้ซ้อมบนหญ้าจริงเหมือนในอดีต เราซ้อมบนพรมในสนามไดร์ฟซึ่งมีสภาพที่แตกต่างจากการตีกอล์ฟจริงอย่างสิ้นเชิง ซึ่งเป็นต้นเหตุหลักที่สำคัญที่ทำให้การค้นหาความลับในวงสวิงด้วยตนเองเกิดขึ้นได้ยาก และกระบวนการเรียนรู้จนค้นพบความลับของการเข้าปะทะลูกที่ถูกต้องใช้เวลานาน หรืออาจจะไม่พบเจอเลยตลอดชีวิต การตีบนพรมเราจะไม่ได้รับรู้และเรียนรู้ความผิดพลาดในการเข้าปะทะใดๆเลย ผิดจากการซ้อมบนหญ้าจริงที่ความจริงจะปรากฏให้รู้ทันทีทันใด กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นักกอล์ฟที่ซ้อมบนหญ้าจริงจะค้นพบความลับในที่สุด ในขณะที่นักกอล์ฟที่ซ้อมบนพรมจะหลงทางและฝึกซ้อมสิ่งผิดๆจนชำนาญ แล้วไปรู้ความจริงในสนามกอล์ฟตอนออกรอบ หัวเสีย และกลับมาซ้อมแบบผิดๆต่อไป ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

จากประโยคอมตะเบื้องหลังความสำเร็จของ Ben Hogan ที่ว่า "Secret is in the dirt." นำไปสู่การไขความลับความล้มเหลวของนักกอล์ฟสมัครเล่นในปัจจุบัน พรุ่งนี้เช้าจะเล่าให้ฟังต่อจากเรื่องที่สำคัญในวันนี้



ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน





Wednesday, December 7, 2016

017 - ป้ายบอกระยะในสนามไดร์ฟ

ร้าน Tee Intact Golf Lab อยู่ในสนามไดร์ฟ นักกอล์ฟขาจรที่เข้ามาซ้อมและแวะเวียนมาเยี่ยมชมที่ร้าน มักจะมีคำถามที่พบบ่อยหนึ่งคำถาม "ระยะป้าย 150 หลา จริงไหม" เป็นคำถามที่เมื่อนักกอล์ฟได้อ่านบทความนี้แล้ว จะเลิกสนใจป้ายบอกระยะอีกต่อไป

ลองวิเคราะห์ดูตามความเป็นจริงดูจะพบว่า สนามไดร์ฟกอล์ฟในเมืองไทยจะมีลูกซ้อมให้บริการอยู่ 5 ประเภท

1.ลูกซ้อม ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ลูกกอล์ฟมีความทนทาน อายุการใช้งานยาวนานกว่าลูกกอล์ฟจริง จึงทำให้ลูกกอล์ฟเหล่านี้มีผิวที่แข็ง เป็นรอยแผลฉีกขาดได้ยาก ตีลูกกอล์ฟเหล่านี้จะรู้สึกว่าแข็งและกระด้างกว่าลูกกอล์ฟจริง ยิ่งระยะหลังลูกซ้อมจากเมืองจีนที่นำมาเข้ามาให้บริการในเมืองไทยมีผิวที่แข็งมาก ด้วยมันมีอายุการใช้งานยาวนานมาก จึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้น แต่เมื่อลองตีแล้วนักกอล์ฟต้องส่ายหน้าทุกคน ลูกซ้อมมีคุณสมบัติที่สำคัญคือ ระยะการตีจะสั้นกว่าลูกกอล์ฟจริง อุปกรณ์ที่ตีไกลสุดอย่างหัวไม้ จะเห็นระยะที่ลดลงอย่างชัดเจนที่สุด

2.ลูกกอล์ฟตกน้ำคละรุ่น เป็นลูกกอล์ฟที่เก็บได้จากอุปสรรคน้ำตามสนามไดร์ฟในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ลูกกอล์ฟเหล่านี้เป็นลูกกอล์ฟจริง ที่นำไปขายเป็นลูกมือสองไม่ได้ราคา เนื่องด้วยสภาพและไม่เข้ารุ่น จึงถูกรวบรวมเพื่อขายเหมาล็อต ตีลูกเหล่านี้จึงให้ฟิลลิ่งที่ดีกว่าลูกซ้อม แต่ข้อเสียอยู่ตรงที่มันคละรุ่น ดังนั้นความสม่ำเสมอในระยะจึงไม่มี ด้วยจมอยู่ในน้ำอยู่มากน้อยเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพลูกกอล์ฟถึงแม้จะเป็นรุ่นเดียวกันก็คาดหวังความสม่ำเสมอได้ยาก อีกด้วยเป็นลูกจริง ผิวมันจึงพังเร็วมาก ทำให้เลิกคาดหวังกับระยะการตีได้เลย ข้อดีข้อเดียวของมันคือฟิลลิ่งในช่วงที่มันยังดูสดใหม่อยู่

3. ลูกซ้อมที่มีจำนวนมากที่สุดคือลูกกอล์ฟตกน้ำคละรุ่นที่ถูกโละจากสนามไดร์ฟในกรุงเทพออกสู่ต่างจังหวัด มันคือซากวัฒนธรรมดีๆนี่เอง แล้วจะคาดหวังอะไร

4.ลูกกอล์ฟจริงไม่คละรุ่น ลูกซ้อมเหล่านี้จะให้ความรู้สึกการตีที่ดีกว่าลูกซ้อมทุกประเภท ด้วยฟิลลิ่งของลูกกอล์ฟจริง และมีความสม่ำเสมอของระยะและความรู้สึก แต่ด้วยต้นทุนที่สูง และอายยุการใช้งานที่สั้น สนามไดร์ฟที่ใช้ลูกประเภทนี้จึงมีน้อยมาก และค่าบริการก็สูงตามไปด้วย

5.ลูกกอล์ฟลอยน้ำ สนามไดร์ฟบางแห่ง เช่น สนามกอล์ฟปัญญา รามอินทรา จะเป็นสนามไดร์ฟที่ตีลูกลงน้ำ ด้วยลูกกอล์ฟปกติจะจมน้ำ ลูกซ้อมในสนามเหล่านี้จึงต้องใช้ลูกกอล์ฟลอยน้ำ ซึ่งเป็นลูกที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ ลูกเหล่านี้จึงมีความแตกต่างจากลูกกอล์ฟจริงเป็นอย่างมาก ทั้งระยะและฟิลลิ่ง

กลับมาที่คำถามตอนต้น ถ้าลูกซ้อมส่วนใหญ่จะไดร์ฟได้ระยะสั้นกว่าลูกกอล์ฟปกติ ถ้าสนามไดร์ฟปักป้าย 150 หลา ที่ตำแหน่ง 150 หลาจริง นักกอล์ฟที่เคยตีเหล็ก 7 ได้ 150 หลา ก็จะตีไม่ถึงและไม่พอใจ สนามไดร์ฟจึงต้องปักป้าย 150 หลาให้เข้ามาใกล้มากขึ้น นี่คือความเป็นจริง อีกทั้งลูกซ้อมมีแนวโน้มที่จะไดร์ฟได้ระยะสั้นลงตามสภาพ ถามว่าป้ายยังสำคัญอีกไหม

ลูกกอล์ฟแต่ละรุ่นจะให้ระยะและฟิลลิ่งที่แตกต่างกัน ดังนั้นถ้าลูกซ้อมทั้ง 5 ประเภทในสนามไดร์ฟไม่ใช่ลูกรุ่นเดียวกับที่คุณใช้ออกรอบ ระยะการไดร์ฟในสนามไดร์ฟจึงแทบไม่มีประโยชน์เลย ยิ่งลูกกอล์ฟที่คละรุ่น และสภาพที่แย่ ยิ่งทำให้เราเอาข้อมูลเรื่องระยะมาใช้ไม่ได้เลย ป้ายบอกระยะจึงมีประโยชน์เพียงแค่เอาไว้เป็นเป้าเล็งเท่านั้น




ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน