Tuesday, February 28, 2017

099 - ตีไกล ตอน 35 - ปรับไดร์ฟเวอร์ให้กล้าตี แค่นี้ก็ตีไกลขึ้นแล้ว

นักกอล์ฟจำนวนมากรู้สึกไม่มั่นใจกับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ของตัวเอง เวลาจับหัวไม้แล้วไม่กล้าสวิง รู้สึกกลัวความผิดพลาด ทำให้นักกอล์ฟไม่กล้าตีเต็มศักยภาพ

1. ก้านที่อ่อนเกินไป เมื่อสวิงเต็มความเร็ว ก้านจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดอัตราการหมุนของลูกกอล์ฟที่มากขึ้น ทั้ง Side Spin และ Back Spin นักกอล์ฟที่ตีเฟดเมื่อตีเต็มแรงจะกลายเป็นสไลซ์ นักกอล์ฟที่ตีดรอว์เมื่อตีเต็มแรงจะกลายเป็นฮุค ซึ่งควบคุมทิศทางได้ยาก  บางคนเมื่อตีเต็มแรงแล้วลูกลอยโด่งเป็นบอลลูนเหินขึ้นฟ้าตกแล้วหยุดนิ่งเสียระยะ ทำให้ไม่กล้าสวิงเต็มที่ เพราะกลัวควบคุมทิศทางไม่ได้
2. ความรู้สึกที่มีต่อกริปที่อยู่ในมือ มีผลต่อความมั่นใจอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของขนาดกริปที่มันใหญ่หรือเล็กเกินไป หรือกริปที่ลื่นจากการหมดสภาพของกริป หรือกริปที่ลื่นเวลาเหงื่อออก ทำให้ไม่กล้าสวิงเต็มที่เช่นกัน
3. ความรู้สึกจากหน้าตาของหัวไม้เวลาจรด รูปร่าง สีสัน ลายบนหัวไม้ เงาสะท้อน หน้าไม้ มาร์คบนหัวไม้ ทุกอย่างที่นักกอล์ฟมองเห็นมีผลต่อความมั่นใจทั้งสิ้น
4. ความรู้สึกจากน้ำหนัก และบาลานซ์ของหัวไม้ เป็นความรู้สึกเฉพาะตัว น้ำหนักที่มากหรือน้อยเกินไป ความรู้สึกที่ลงหัวมากหรือน้อยเกินไป เป็นความรู้สึกที่นักกอล์ฟรับรู้ได้ ในขณะที่บางคนไม่ได้มีความรู้สึกอะไรหรือสนใจเรื่องพวกนี้เลย แต่หลายคนกลับ sensitive กับความรู้สีกพวกนี้มากๆ ถ้ามันช่วยสร้างความมั่นใจก็ควรจะปรับให้เหมาะสม

นักกอล์ฟควรหาหรือปรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ให้จับแล้วรู้สึกมั่นใจ จรดแล้วรู้สึกว่าใช่เลย และมั่นใจได้ว่า เมื่อสวิงผ่านลูกกอล์ฟไปแล้วโอกาสที่ลูกกอล์ฟจะพุ่งไปยังเป้าหมายมีมากกว่าที่จะพุ่งออกนอกทิศทาง นักกอล์ฟจะกล้าสวิงอย่างเต็มศักยภาพ แล้วระยะไดร์ฟจะเพิ่มขึ้นอย่างโดยอัตโนมัติ




Monday, February 27, 2017

098 - ตีไกล ตอน 34 - ปรับไดร์ฟเวอร์เพื่อลด Back Spin ให้ตีได้ไกลขึ้น

จากบทความวิถีลูกกอล์ฟและเงื่อนไขที่ให้ระยะการไดร์ฟไกลที่สุด อัตราการหมุน (Ball Spin) หรือที่นิยมเรียกกันว่า Back Spin เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ นักกอล์ฟส่วนใหญ่มักมีปัญหาจากการเกิด Back Spin ที่มากเกินไปจนทำให้เกิดวิถีลอยโด่งแบบบอลลูน ลูกตกกระทบพื้นในมุมที่ชันมาก แล้วลูกกอล์ฟก็ไม่วิ่งหรือวิ่งน้อย ทำให้เสียระยะ Back Spin นี่เองที่ทำให้คนเข้าใจผิดว่าการตีให้ลอยโด่งทำให้ตีได้ไม่ไกล

การเกิด Back Spin ที่มากเกิน มีต้นเหตุหลักมาจากการสวิงและมุมเข้าลูกที่ไม่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนไดร์ฟเวอร์ก็สามารถช่วยลด Back Spin ได้ในระดับหนึ่งดังนี้

1. องศาหน้าไม้ (Loft) ที่น้อย มีแนวโน้มที่จะเกิด Back Spin ที่น้อยลงตามไปด้วย
2. หัวไดร์ฟเวอร์ที่มี CG สูง ได้แก่ พวกหัวไม้ที่มีหน้าไม้ลึก (Deep Face) ก็มีแนวโน้มที่จะเกิด Back Spin ที่น้อยลงตามไปด้วย
3. ใช้ก้านที่มีน้ำหนักมากขึ้น
4. ใช้ก้านที่มี Kick Point ที่สูงขึ้น
5. ใช้ก้านที่มีความแข็งมากขึ้น เทคนิคการ Trim ปลายก้าน มีแนวโน้มที่จะทำให้ Back Spin ลดลงเช่นกัน

การลด Back Spin ด้วยอุปกรณ์จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าจะให้เห็นผลอย่างชัดเจนที่สุด ก็ควรปรับวิธีการสวิง มุมเข้าลูก Rhythm และวิธีคิดในการ Impact ร่วมกับการปรับอุปกรณ์ จะได้ผลเลิศที่สุด





Sunday, February 26, 2017

097 - ตีไกล ตอน 33 - มุมเหินและการปรับเปลี่ยนเพื่อตีให้ไกลขึ้น

จากบทความวิถีลูกกอล์ฟและเงื่อนไขที่ให้ระยะการไดร์ฟไกลที่สุด การมีมุมเหิน (Launch Angle) ประกอบกับความเร็วหัวไม้ (Ball Speed) และอัตราการหมุนของลูกกอล์ฟ (Ball Spin) ที่เหมาะสม จะทำให้ลูกลอยและได้ระยะไดร์ฟไกลที่สุด สำหรับนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้และสร้างความเร็วลูกกอล์ฟได้น้อย การมีมุมเห็นที่สูงมักจะตีได้ไกลกว่า

องค์ประกอบของหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ที่มีผลต่อมุมเหิน (Launch Angle) ได้แก่

1. องศาหน้าไม้ (Loft) เป็นส่วนที่มีผลต่อมุมเหินมากที่สุด การปรับเปลี่ยน loft จะทำให้เห็นมุมเห็นการเปลี่ยนแปลงของทุมเหินมากที่สุด หัวไม้ที่มี loft สูงจะทำให้ลอยง่ายกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ต่ำควรเลือกใช้ แจ่ใยความเป็นจริง ตัวเลข loft ที่ระบุอยู่บนหัวไม้มักไม่ตรงกับความเป็นจริง และ loft ที่แท้จริงมักจะมากกว่าตัวเลขที่เห็น เพื่อตอบสนอง Ego ของนักกอล์ฟที่รู้สึกไม่ดีที่ต้องตีหัวไม้ loft สูงๆ

2. จุดศูนย์ถ่วงของหัวไม้ (Center of Gravity: CG) หัวไม้ที่มีจุดศูนย์ถ่วงต่ำและเยื้องไปด้านหลัง จะทำให้ลูกลอยง่ายและโด่งเหมาะกับนักกอล์ฟสปีดต่ำ วิธีที่ง่ายสุดในการเรียนรู้ CG คือการทดลองตี

3. จุดดีดของก้าน (Kick Point) ที่ตั้งใจออกแบบให้วิถีลูกลอยง่าย เรียกในหลากหลายรูปแบบทั้ง low kick point, tip sensitive, low flex point หรือแม้กระทั่ง low bend point นักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ต่ำ ควรมองดูก้านที่มี Kick Point ต่ำ แต่ในความเป็นจริง Kick Point ไม่มีมาตรฐานที่ใช้ในเชิงเปรียบเทียบ จึงควรพิจารณาด้วยวิจารณญาน

ตำแหน่งปะทะของลูกกอล์ฟบนหน้าไม้ก็มีผลต่อ loft เช่นกัน loft ที่กลางหน้าไม้ จะมี loft ที่มากกว่าตำแหน่งที่อยู่ต่ำกว่า และจะมี loft น้อยกว่าตำแหน่งที่สูงกว่าบนหน้าไม้   

การพิจารณามุมเหินและการปรับเปลี่ยนต้องอาศัยการวิเคราะห์ร่วมกันของหลายองค์ประกอบ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขต่อไป





Saturday, February 25, 2017

096 - ตีไกล ตอน 32 - ไดร์ฟเวอร์ที่ช่วยให้ลูกกอล์ฟพุ่งออกจากหน้าไม้ได้เร็วขึ้น

จากบทความวิถีลูกกอล์ฟและเงื่อนไขที่ให้ระยะการไดร์ฟไกลที่สุด การเพิ่มความเร็วลูกกอล์ฟให้พุ่งออกจากหน้าไม้ได้เร็วขึ้นคือแนวทางที่สำคัญและเห็นผลมากที่สุด ซึ่งทำได้สองแนวทาง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งพลังจากหัวไม้ไปที่ลูกกอล์ฟจากการปะทะ และการเพิ่มความเร็วหัวไม้จากการเลือกใช้ไดร์ฟเวอร์ที่เหมาะสม

การเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งพลังจากหัวไม้ไปที่ลูกกอล์ฟจากการปะทะ เป็นไปได้ 3 วิธี

1. ใช้หัวไม้ไดร์ฟเวอร์หน้าเด้ง ที่มี Charteristic Time (TC) หรือ Coefficient of Reconstitution (COR) ที่สูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกาะปะทะ และทำให้ลูกกอล์ฟพุ่งออกจากหน้าไม้ได้เร็วกว่า ที่ความเร็วหัวไม้เท่ากัน
2. ใช้หัวไม้ที่ยาวที่สุดที่ยังตีได้เข้า Sweet Spot ได้อย่างสม่ำเสมอ นั่นคือการปรับไม้กอล์ฟให้มีความยาวเหมาะกับทักษะและความแม่นลูก
3. ใช้ก้านกราไฟต์ที่มีโครงสร้างและใช้วัสดุแข็งแรง โดยทางเทคนิคแล้วจะช่วยลดการเสียรูปเมื่อมีการโค้งงอ ซึ่งช่วยทำให้ประสิทธิภาพในการเข้าปะทะดีกว่าและสม่ำเสมอกว่า

การเพิ่มความเร็วหัวไม้จากการเลือกใช้ไดร์ฟเวอร์ที่เหมาะสม เป็นไปได้ 3 ทางหลัก

1. ใช้หัวไม้ไดร์ฟเวอร์ที่มีน้ำหนักรวมเบาที่สุดเท่าที่ยังตีได้สม่ำเสมอและไม่ทำให้จังหวะการสวิงผิดไป
2. ใช้ก้านกราไต์ที่มี ความแข็ง (flex) บุคลิก (Character) และ จุดดีด (Kick Point) ที่เข้ากับจังหวะการเข้าปะทะ ก้านที่เหมาะสม จับแล้วจะตีได้อย่างมั่นใจ และกล้าสวิงอย่างเต็มศักยภาพ
3. ปรับเปลี่ยนหัวไม้เพื่อแก้ไขปัญหาวิถีการพุ่งของลูกกอล์ฟให้เป็นไปตามต้องการ ก็สามารถทำให้นักกอล์ฟตีได้อย่างมั่นใจ และกล้าสวิงอย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งหมดคือแนวทางในการเพิ่มความเร็วลูกกอล์ฟให้พุ่งออกจากหน้าไม้ได้เร็วขึ้น ขอย้ำเตือนเอาไว้ว่าการเพิ่มความเร็วหัวไม้ไม่ได้ช่วยเพิ่มความเร็วลูกกอล์ฟเสมอไป จะอธิบายโดยละเอียดในโอกาสต่อๆไป คอยติดตามได้นะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Friday, February 24, 2017

095 - ตีไกล ตอน 31 - ทำไมนักกอล์ฟที่สวิงไม่เร็วจึงตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ญี่ปุ่นได้ไกลกว่า

มีคำถามจากทางบ้านว่า "ทำไมนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ไม่มากนักจึงนิยมหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ญี่ปุ่น"

ถ้าพิจารณาสภาพร่างกายและความแข็งแรงของร่างกายของคนเอเชียเทียบกับฝรั่ง คนเอเชียจะมีรูปร่างที่เล็กและแข็งแรงน้อยกว่าฝรั่งโดยภาพรวม ไม้กอล์ฟแบรนด์อเมริกันที่เข้าไปทำตลาดในญี่ปุ่น จึงต้องปรับเปลี่ยนสเป็กให้เหมาะสมกับคนญี่ปุ่น เรียกว่า "Japan Spec" เพื่อสู้กับไม้กอล์ฟแบรนด์ญี่ปุ่นที่ออกแบบไม้กอล์ฟโดยคนเอเชียเพื่อนักกอล์ฟเอเชียโดยแท้ หัวไม้ญี่ปุ่นจะมีน้ำหนักรวมน้อยกว่า ก้านเบากว่า อ่อนกว่า ตั้งใจทำให้ก้านมี character ที่ให้ความรู้สึกนุ่มนวลกว่า เมื่อเทียบกันที่ flex เดียวกัน น้ำหนักหัวเบากว่า กริปเบาและมีขนาดเล็กกว่า เรียกได้ว่า ออกแบบหัวไม้เพื่อเอาใจคนแรงน้อยโดยเฉพาะ งานโดยรวมมีความใส่ใจในรายละเอียดมากกว่า เรียกได้ว่า งานเนียนและพิถีพิถันกว่า เพราะราคาหัวไม้ Japan Spec ที่ขายในญี่ปุ่น ราคาสูงกว่า US Spec ค่อนข้างมาก

นักกอล์ฟเยาวชน นักกอล์ฟอาวุโส นักกอล์ฟหญิง นักกอล์ฟรูปร่างเล็ก หรือนักกอล์ฟอเมเจอร์ทั่วไป คือกลุ่มนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ไม่มาก และมีความแข็งแรงไม่มากนัก เมื่อนักกอล์ฟเหล่านี้ตีหัวไม้ญี่ปุ่นเทียบกับหัวไม้อเมริกันจะรู้สึกได้ทันทีว่า หัวไม้ญี่ปุ่นมีฟิลลิ่งการตีจะนุ่มนวลกว่า อิมแพคท์แล้วแน่นกว่า โดนเต็มกว่า ให้ความรู้สึกของอิมแพคท์ที่ดีกว่า จากก้านที่เบาและอ่อนกว่า และคุณภาพหัวไม้ที่ดีกว่า, กริปขนาดเล็กกว่า น้ำหนักเบากว่า คุณภาพและฟิลลิ่งดีกว่า, ตีแล้วรู้สึกเบาสบาย ตีแล้วไม่เหนื่อย สามารถสวิงได้เร็วกว่า จากการที่หัวไม้มีน้ำหนักรวมเบากว่า, รู้สึกดีกับรูปร่างหน้าตา คุณภาพและการออกแบบที่ใส่ใจในรายละเอียดของสินค้า ด้วยความพิถีพิถันที่มากกว่า รู้สึกที่พรีเมี่ยมกว่า และสัมผัสได้ถึงความตั้งใจออกแบบโดยคนเอเชียเพื่อคนเอเชีย ทั้งหมดทั้งมวลจึงไม่เป็นที่แปลกใจที่นักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ไม่มากนักจะนิยมใช้หัวไม้ไดร์ฟเวอร์ญี่ปุ่นราคาแพงมากกว่าหัวไม้อเมริกัน US Spec เพราะมันตีไกลกว่าและถูกใจมากกว่าอย่างมีเหตุผล





Wednesday, February 22, 2017

094 - ตีไกล ตอน 30 - วิถีลูกกอล์ฟและเงื่อนไขที่ให้ระยะการไดร์ฟไกลที่สุด

ณ ปัจจุบัน ความรู้ในการโมเดลวิถีการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟที่สามารถคำนวณออกมาเป็นระยะ Carry (ระยะจากตำแหน่งทีออฟจนถึงตำแหน่งลูกกระทบพื้น) ที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริง ขึ้นอยู่บนเงื่อนไขหลัก 3 อย่าง ได้แก่

1. ความเร็วลูกกอล์ฟ (Ball Speed)
2. มุมเหิน (Launch Angle)
3. อัตราการหมุนของลูกกอล์ฟ (Ball Spin)

ในปัจจุบันเครื่อง Launch Monitor ที่มีหลากหลายเทคโนโลยี สามารถวัดค่าทั้ง 3 นี้ได้ แล้วคำนวณระยะตก (Carry) และ ระยะกลิ้ง (Roll) ออกมาเป็นตัวเลขและกราฟได้อย่างง่ายดาย แต่ในทางปฏิบัติ ระยะกลิ้งนั้นมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนทั้งมุมตกกระทบพื้น (Landing Angle) และลักษณะพื้นผิวซึ่งในความเป็นจริงอาจจะมีสโลปและความแข็งที่แตกต่างกันไป ดังนั้นเวลาศึกษา Optimize Launch Condition จึงนิยมพิจารณาแต่ระยะ Carry ซึ่งยังไม่สมบูรณ์ในทางปฏิบัติ

ตารางด้านล่างนี้เป็นผลจากการเก็บข้อมูลจาก Trackman ซึ่งบอกเงื่อนไขการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟที่ได้ระยะ Carry มากที่สุด จากข้อมูลบอกได้ว่านักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้และความเร็วลูกกอล์ฟน้อย ควรจะมีมุมเหินที่สูงและอัตราการ Spin ที่มากกว่านักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้และความเร็วลูกกอล์ฟสูง ซึ่งมุมเหินและอัตราการ Spin มีความสัมพันธ์กับมุมการเข้าลูก (Attack Angle) นักกอล์ฟที่อยากตีไกลควรมีมุมเข้าลูกเป็นมุมเสย ซึ่งมี Attack Angle เป็นบวก ยิ่งบวกมาก มุมเหินก็จะมากขึ้น ในขณะที่อัตราการ Spinจะลดลง ซึ่งจะทำให้ตีได้ไกลขึ้น

นี่คือความรู้พื้นฐานซึ่งเราจะใช้ในการวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงวิถีการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟเพื่อทำให้ตีได้ไกลขึ้น ปัจจัยทุกตัว เราสามารถปรับปรุงได้ผ่านการปรับเปลี่ยนไม้กอล์ฟและเห็นผลได้ทันที และยิ่งมีการปรับเปลี่ยนวิธีการสวิงร่วมด้วย จะยิ่งทำให้เห็นผลได้ชัดเจนมากขึ้น ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





093 - ตีไกล ตอน 29 - ก้านตีไกลที่สุดในโลก



น่าแปลกใจไหมที่ USGA และ R&A ไม่ออกกฏควบคุมประสิทธิภาพก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ ในขณะที่ควบคุมความเด้งของหัวไม้และลูกกอล์ฟ และตั้งแต่ปี 2003-2016 ก็ยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของระยะไดร์ฟในทัวร์หลักที่ชัดเจน แล้วก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ช่วยให้นักกอล์ฟตีได้ไกลขึ้นจริงหรือ



การเปลี่ยนก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์จะเห็นระยะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนมากน้อยขึ้นกับเงื่อนไขของก้านและคุณสมบัติในการประกอบของหัวไม้เดิม ถ้าของเดิมไม่เหมาะสมอย่างมาก สร้างภาระและปัญหาให้กับนักกอล์ฟ และเมื่อได้รับการฟิตติ้งอย่างเหมาะสมด้วยก้านใหม่ที่ตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆของนักกอล์ฟ นักกอล์ฟจะเห็นระยะที่เพิ่มขึ้นอย่างแตกต่าง สัมผัสได้ถึงความรู้สึกพึงพอใจในหลายๆด้าน ในทางกลับกัน หากก้านเดิมมีคุณสมบัติที่เหมาะสมแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนก้านเป็นยี่ห้อไหน จะแพงมากเท่าไหร่ ก็จะเห็นความแตกต่างของระยะไม่มากนัก เหมือนระยะเฉลี่ยในทัวร์ที่โปรกอล์ฟทดลองก้านมาหลากหลายรุ่นและยี่ห้อ จนเจอก้านที่สเป็กเหมาะกับตนแล้ว ระยะไดร์ฟเฉลี่ยก็จะไม่เห็นความแตกต่างมากนัก  การฟิตติ้งก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่น ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนก้าน มันมีรายละเอียดที่มากกว่านั้น ก้านและหัวเดียวกัน แต่ประกอบโดย Clubfitter ที่มีความรู้ความเข้าใจในรายละเอียด สามารถทำให้ตีได้ไกลกว่าช่างที่ไม่มีความรู้

อธิบายให้เหมาะสมได้ว่า ก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ เป็นส่วนประกอบที่จะช่วยให้นักกอล์ฟแต่ละคนสามารถรีดระยะไดร์ฟออกจากศักยภาพในการสวิงเฉพาะบุคคลออกมาให้ได้มากที่สุด เพราะนักกอล์ฟแต่ละคนมีลักษณะการสวิงไม่เหมือนกัน ความเร็วหัวไม้ ความแข็งแรง ลักษณะการเข้าปะทะ รสนิยม และอีกหลายอย่างที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่มีก้านที่ดีที่สุดในโลก ไม่เช่นนั้นเราคงเห็นโปรกอล์ฟที่หาเลี้ยงชีพด้วยการแข่งกอล์ฟใช้ก้านรุ่นเดียว ยี่ห้อเดียวกันหมด ก้านที่ดีที่สุดของนักกอล์ฟแต่ละคน ต้องประกอบเข้ากับหัวและกริปแล้วทำให้นักกอล์ฟรู้สึกมั่นใจที่จะสวิงอย่างเต็มศักยภาพ แล้วได้ผลงานที่สม่ำเสมอ ระยะไดร์ฟเฉลี่ยได้ไกลสุดอย่างเหมาะสมกับศักยภาพ

ก้านกราไฟต์สำหรับหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ มีความหลากหลาย ให้รสชาด สีสัน ฟิลลิ่งที่แตกต่างกัน ด้วยการออกแบบก้านแต่ละรุ่นให้มี character ที่ต่างกันได้มากมายผ่านองค์ประกอบต่างๆ เช่น torque, น้ำหนัก, kickpoint, เทคโนโลยีการผลิต, วัสดุที่ใช้, โครงสร้างของก้าน, สีสัน, ลวดลายและเรื่องราว ทั้งหมดคือมนต์สเน่ห์ให้เกิดการอยากเล่นอยากลองได้อย่างไม่รู้จบ แต่สำหรับนักกอล์ฟที่โฟกัสที่ความสนุกในเกมส์กอล์ฟ แนะนำให้ฟิตติ้งไดร์ฟเวอร์ให้ได้ก้านที่เหมาะสมให้จบและมั่นใจ แล้วหันไปใส่ใจกับวิธีการ สวิง การฝึกซ้อม และเกมส์กอล์ฟให้มาก แล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาเกิดขึ้นในวงสวิง ไม่ว่าจะเป็นความเร็วหัวไม้ที่มากขึ้นหรือน้อยลง ความแข็งแรงที่มากขึ้นหรือน้อยลง อายุที่มากขึ้น (น่าเสียดายที่ไม่มีน้อยลง) เทคนิคการสวิงที่เปลี่ยนไป จนทำให้รู้สึกได้ว่าไดร์ฟเวอร์ในมือเริ่มสร้างปัญหา แล้วจึงค่อยกลับมาปรึกษา Clubfitter เพื่อฟิตติ้งใหม่ จะเป็นแนวทางที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อตัวนักกอล์ฟเองมากกว่า ดีกว่าเสียเงินอย่างเปล่าประโยชน์ไปกับความหวังลมๆแล้งๆ ว่าเปลี่ยนก้านใหม่ๆแล้วจะตีไกลขึ้นเรื่อยๆ เก็บเอาเงินก้อนเดียวกันนี้ไปใช้ออกรอบให้บ่อยขึ้น ชวนเพื่อนไปออกรอบกันเยอะๆ ฝีมือก็พัฒนาขึ้น สุดท้ายนักกอล์ฟก็ต้องกลับมาหา Clubfitter อยู่ดี แต่มันดีกับสังคมกอล์ฟโดยรวม สนามกอล์ฟ พนักงานและแค๊ดดี้ก็มีงานทำ แต่ถ้าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา การเปลี่ยนก้านรุ่นใหม่ๆก็คือความสนุกและเป็นเสน่ห์อีกมุมหนึ่งของกีฬากอล์ฟที่น่าสัมผัส ... พบกันใหม่พรุ่งนี้



Monday, February 20, 2017

092 - ตีไกล ตอน 28 - ความไกลที่มาจากหัวไม้ (Head)

ข้อมูลจาก "2016 Distance Report" ที่เผยแพร่โดย  USGA และ R&A ทำให้เห็นว่าระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมา ระยะไดร์ฟของหัวไม้ของโปรกอล์ฟในทัวร์หลักที่ทุกคนผ่านการทดสอบหัวไม้ เลือกก้านและสเป็กของไม้ที่ให้ผลการตีจนเป็นที่พอใจและมั่นใจสำหรับการแข่งขัน กลับไม่เห็นการเพิ่มขึ้นของระยะเฉลี่ยอย่างเห็นได้ชัดแต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นผลงานที่ประสบความสำเร็จของ USGA และ R&A ที่สามารถควบคุมให้เกมส์กอล์ฟยังคงมนต์เสน่ห์ ด้วยการควบคุมไม่ให้นักกอล์ฟตีไดร์ฟเวอร์ได้ไกลขึ้นจากผลของเทคโนโลยี ด้วยการควบคุมค่า Characteristic Time (CT) ของหัวไม้

ดังนั้นนักกอล์ฟที่ใช้หัวไม้ที่ Conforming จึงต้องทำความเข้าใจว่า หัวไม้ที่ Conform ในท้องตลาดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมามีขีดจำกัด ที่ทำให้ Performance ไม่แตกต่างกันในแง่ความไกล พูดให้เข้าใจได้ง่ายๆว่า หากนักกอล์ฟที่ตีหัวไม้ได้เข้า Sweet Spot ได้แม่นยำ อย่างสม่ำเสมอจะไม่เห็นระยะที่แตกต่างอย่างชัดเจนในหัวไม้สมัยใหม่ที่ Conform แต่สิ่งที่แตกต่างคือ forgiveness หรือการชดเชยความผิดพลาด หัวไม้สมัยใหม่ๆจะตีได้ง่ายขึ้น ถึงจะตีไม่เข้า Sweet Spot ระยะและทิศทางก็ไม่เสียไปมาก ในนักกอล์ฟที่ไม่แม่นลูกจึงอาจจะเห็นระยะไดร์ฟเฉลี่ยที่ไกลขึ้นหากเทียบกับหัวไม้ตียากๆ ที่มีความชดเชยความผิดพลาดต่ำ

หากนักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟเพื่อความสนุกสนานกับเพื่อนฝูง ไม่ได้ตีกอล์ฟเพื่อการแข่งขันอย่างเป็นทางการ หัวไม้หน้าเด้งที่ไม่ Conform ที่มีหน้าไม้ที่บางกว่า วัสดุไทเทเนียมของหน้าไม้ที่ดีกว่า สามารถช่วยเพิ่มความเร็วลูกกอล์ฟและทำให้ตีได้ไกลกว่าหัวไม้ Conform ได้ทันที

ยังมีหัวไม้อีกประเภทหนึ่งที่ไม่มีที่มาที่ไปที่ชัดเจนและมีการสร้างความเชื่อให้กับนักกอล์ฟสมัครเล่นว่าเป็นหัวไม้คุณภาพดีกว่าและตีได้ไกลกว่าหัวไม้ตลาด ภายใต้ชื่อที่มักเรียกกันว่า Tour Issue ที่มักอ้างกันว่าเป็นหัวไม้จาก Tour Van ของโปรระดับโลก เพื่อเรียกราคาขายให้ได้สูงในตลาดมืด ลองคิดดูว่าถ้าเป็นหัวไม้ของโปรที่ใช้แข่งขันจริง หัวไม้จะต้องผ่านการทดสอบมาเป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ค่า CT เกินกำหนดเป็นอย่างแน่นอน เพราะหาก USGA หรือ Tour เกิดสงสัยว่าหัวไม้อาจจะผิดกฏ สามารถขอตรวจสอบค่า CT ของหัวไม้ได้ทันที แล้วคิดว่าผู้ผลิตและโปรกอล์ฟเองอยากเอาชื่อเสียงของตัวเองไปเสี่ยงกับการทำผิดกฏในระดับอาชีพหรือไม่ ดังนั้นลองคิดดูว่า หัวไม้ Tour Issue จะตีไกลกว่าหัวไม้ปกติจริงไหมแต่อาจจะมีข้อมูลประเภท insight จากคนในวงการว่าหัวไม้ Tour Issue นั้น Hot กว่าปกติจริงๆ หรือเรียกว่าตั้งใจทำให้ผิดกฏเหมือนกับนักกีฬาโด๊ปยาประมาณนั้น ต้องบอกว่าข้อมูลเหล่านี้ไม่มีใครรู้แม้แต่โปรคนที่เชื่อว่าหัวไม้ในมือของตัวเองถูกโด๊ปมา อาจจะถูกหลอกเองก็เป็นไปได้ เพราะโปรกอล์ฟที่ได้สปอนเซอร์โดยแบรนด์ใหญ่ๆมีอยู่มากมาย การทำหัวไม้ให้พิเศษเฉพาะเจาะจงมากๆในการผลิตอุตสาหกรรมหัวไม้กอล์ฟที่ต้องสื่อสารกับโรงงานในเอเชียเป็นไปได้ยากและวุ่นวายมาก เรียกได้ว่าถ้าคุณไม่เป็นโปรกอล์ฟระดับโลกที่เล่นใน PGA Tour  ยากนักที่จะได้หัวไม้ที่พิเศษจริงๆ  ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่ผิดกฏด้วย โอกาสยิ่งเป็นไปได้ยากมาก และไม่คุ้มเสี่ยงต่อชื่อเสียงทั้งของแบรนด์และโปรกอล์ฟเองกับระยะที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพราะไม่สามารถทำให้ไกลเกินจนเป็นที่ผิดสังเกต  ด้วยมีคนจับตามองมาก  อีกทั้งมันขัดแย้งกับผลใน  2016 Distance Report

เราสามารถสรุปเรื่องของหัวไดร์ฟเวอร์ได้สั้นๆว่า นักกอล์ฟที่แม่นลูก หากตีหัวไดร์ฟเวอร์สมัยใหม่ที่ Conform จะไม่เห็นความแตกต่างของระยะเฉลี่ยของหัวไม้อย่างชัดเจน ส่วนนักกอล์ฟที่ไม่แม่นลูกตีหัวไม้ที่มีความชดเชยความผิดพลาดมากๆจะได้ระยะไดร์ฟเฉลี่ยที่มากกว่าหัวไม้ที่ตียาก และนักกอล์ฟทั้งสองกลุ่มจะตีหัวไม้หน้าเด้งทีมีความชดเชยความผิดพลาดสูงได้ไกลขึ้นกว่าหัวไม้ตลาดที่ Conform อย่างเห็นได้ชัด ส่วนหัวไม้ที่เป็น Tour Issue ที่ให้โปรอาชีพตีจริงๆ ไม่มีทางที่จะไกลกว่าหัวไม้หน้าเด้ง ที่มี CT สูง อย่างแน่นอน

แนะนำให้อ่านบทความนี้แล้วคิดตาม

ตีไกล ตอน 27 - ศึกษาข้อมูลระยะการตีไดร์ฟเวอร์ของโปรกอล์ฟอาชีพแล้วคิดดู






Sunday, February 19, 2017

091 - ตีไกล ตอน 27 - ศึกษาข้อมูลระยะการตีไดร์ฟเวอร์ของโปรกอล์ฟอาชีพแล้วคิดดู

"The USGA and The R&A published the Joint Statement of Principles in May 2002, which confirmed their
commitment to the fundamental notion that skill, not technology, should be the primary determinant of
success in the game."

USGA และ R&A คือ สององค์กรหลักที่ทำหน้าที่ควบคุมให้เกมส์กอล์ฟยังคงมนต์เสน่ห์ภายใต้พันธกิจร่วมตั้งแต่ปี 2002 ที่จะควบคุมไม่ให้เทคโนโลยีมามีผลที่เหนือกว่าทักษะในการเล่น พูดเอาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ จะควบคุมไม่ให้นักกอล์ฟตีกอล์ฟได้ดีขึ้นจากผลของเทคโนโลยี และส่วนที่เทคโนโลยีเข้ามามีผลต่อเกมส์และสร้างความกังวลให้กับองค์กรทั้งสองมากที่สุด ก็คือ ระยะการไดร์ฟหัวไม้นั่นเอง




USGA และ R&A เผยแพร่ "2016 Distance Report" ออกมาในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วัน เป็นข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง จากกราฟใน Figure 1 ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาและเก็บข้อมูลระยะไดร์ฟของนักกอล์ฟอาชีพในทัวร์หลัก โดย USGA และ R&A จะเห็นได้ว่า เทคโนโลยีของไดร์ฟเวอร์ไทเทเนียมตั้งแต่ปี 1995 ช่วยเพิ่มระยะการไดร์ฟขึ้นอย่างชัดเจน และตามด้วยการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีการผลิตลูกกอล์ฟตั้งแต่ปี 2000 ก็ทำให้ระยะการไดร์ฟหัวไม้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน ด้วยเทคโนโลยีการผลิตหัวไม้และลูกกอล์ฟที่ทำให้ระยะการไดร์ฟเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ USGA และ R&A ต้องออกกฏควบคุมหัวไม้และลูกกอล์ฟตามมา




จากกราฟใน Figure 2 การออกกฏควบคุมความเป็นสปริงของหน้าไม้ไดร์ฟเวอร์และลูกกอล์ฟ และพัฒนาการวิธีการในการวัดที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เห็นผลว่าระยะไดร์ฟหัวไม้ตั้งแต่ปี 2003 มาจนถึงปี 2016 ระยะไดร์ฟเฉลี่ยในทัวร์ต่างๆมีขึ้นมีลง และไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญแต่ประการใด ... นี่คือข้อมูลจากการศึกษา ที่เหลือนักกอล์ฟลองเอาไปคิดต่อดู

พอจะสรุปความรู้จากผลการศึกษาชิ้นนี้ แล้วได้มุมมองที่น่าจะมีประโยชน์ของนักกอล์ฟไทย ทั้งสมัครเล่นและอาชีพดังนี้

1. ทุกทัวร์ชายไดร์ฟเฉลี่ยไกลกว่า Japan Tour ที่นักกอล์ฟหลักเป็นชาวเอเชีย จึงต้องยอมรับกันว่านักกอล์ฟเอเชียชายไดร์ฟสั้นกว่าฝรั่งอย่างแน่นอน

2. นักกอล์ฟอาชีพหญิงไดร์ฟเฉลี่ยประมาณ 245-250 หลา ก็ประมาณนักกอล์ฟอเมเจอร์ชายฝีมือดีนี่แหละ

3. web.com ทัวร์คือที่รวมของนักกอล์ฟวัยรุ่นตัวจี๊ดที่ไดร์ฟได้ไกล และมีศักยภาพพร้อมที่จะขึ้นมาปะทะกับรุ่นพี่ใน PGA Tour และ PGA Tour ก็คือทัวร์ของมือเก๋า ที่การไดร์ฟไกลไม่ใช่อาวุธเดียวที่สำคัญ แต่ความแม่นยำในส่วนอื่นของเกมส์ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก

4. นักกอล์ฟที่จะอยู่ในทัวร์ได้ต้องพัฒนาระยะไดร์ฟให้อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ย เพื่อไม่ทำให้เกมส์กอล์ฟของตนเสียเปรียบ

5. ระยะไดร์ฟเฉลี่ยใน Japan Tour ไม่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเลยในระยะ 10 กว่าปีหลังนี้  ทั้งที่โปรกอล์ฟในทัวร์ญี่ปุ่นใช้หัวไม้และก้านที่ขึ้นชื่อว่าใช้วัสดุค่อนข้างดีและมีเทคโนโลยีการผลิตที่สุดยอด

6. 14 ปีที่ผ่านมาระยะไดร์ฟเฉลี่ยในทัวร์เพิ่มขึ้นน้อยมาก บางทัวร์ลดลงด้วยซ้ำ มันขัดแย้งกับความคิดของเราไหม เพราะอะไร ลองพิจารณาในแง่มุมต่างๆดู


บทความนี้ให้ความรู้และมุมมองที่สำคัญมากสำหรับนักกอล์ฟอเมเจอร์ ที่ช่วยเตือนสติในการบริโภคข้อมูลข่าวสาร ชุดข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปสำหรับนักกอล์ฟทุกคน เพราะกลุ่มข้อมูลที่เก็บมานั้นเป็นนักกอล์ฟอาชีพที่อาจจะไม่ได้มีลักษณะการตีประเภทเดียวกับคุณ แต่เราจะเอาพื้นฐานของข้อมูลเหล่านี้ มาร่วมในการพิจารณาเพิ่มระยะด้วยการปรับเปลี่ยนหัวไม้สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นกัน ... ติดตามนะครับ



Saturday, February 18, 2017

090 - ตีไกล ตอน 26 - เตือนใจให้กับคนที่อยากจะตีให้ไกลขึ้น

ผ่านไปทั้งหมด 25 บทความที่รวบรวมสิ่งที่พอจะเป็นประโยชน์ให้กับคนที่อยากตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ให้ได้ไกลขึ้นในแง่ของวิธีการ แต่อย่าลืมสัจธรรมว่าไม่มีสิ่งใดคงอยู่ถาวร การตีไกลก็เช่นกัน มันจะต้องมีวันที่คุณเพี้ยนและตีสั้นลง จนถึงวันที่คุณรู้สึกทนไม่ไหวแล้ว ทำไมถึงตีสั้นขนาดนี้ ให้กลับไปทบทวน 25 บทความที่ผ่านมา คุณจะค้นพบว่ามันมีบางอย่างที่เราหลงลืมไป กลับไปปัดฝุ่นใหม่ ก็จะกลับมาตีไกลได้เหมือนเดิม

อีกอย่างที่อยากจะเน้นย้ำตรงนี้ คือ การตีไกลขึ้นจะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ตีไกลแล้วได้เปรียบ หลายครั้งนักกอล์ฟขึ้นยืนบนแท่นทีออฟพาร์ 4 หรือพาร์ 5 ก็ควักหัวไม้แล้วก็พยายามหวดทีออฟออกไปให้ไกลที่สุด โดยไร้การวางแผน ไม่คำนวณความเสียหายจากการผิดพลาด หากตีเข้าอุปสรรคไว้แต่อย่างใด นักกอล์ฟที่ตีไกลและแม่น อยู่ในแฟร์เวย์แต่ลูกกอล์ฟไปอยู่ในระยะเหล็กที่บอด ไม่มีเหล็กตี ตีแล้วกั๊กๆ ตีไม่เต็มวง ต้องตีแบบเดาๆ ก็ไม่ทำให้ได้เปรียบแต่อย่างใด ในขณะที่นักกอล์ฟที่ตีไกลแต่ไม่แม่น ลืมคิดไปว่ายิ่งเราตีไกลมากเท่าไร หากทิศทางผิดพลาด ลูกกอล์ฟจะยิ่งเคลื่อนไปไกลเป้าหมายมากเท่านั้น OB, ป่าลึก, อุปสรรคน้ำ จะทำให้ความได้เปรียบกลายเป็นความเสียเปรียบในบัดดล

อีกแง่มุมนึงของการตีไกลที่ไม่ได้พูดถึงเลย คือเรื่องของอุปกรณ์ไม้กอล์ฟ ในที่นี้จะเน้นที่ไดร์ฟเวอร์เพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นอีกช่องทางนึงที่ช่วยให้นักกอล์ฟสามารถตีได้ไกลขึ้นได้ทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยความเย้ายวนของกิเลสที่เงินซื้อได้นั้น จึงดึงดูดให้ผู้คนหันมาหาประโยชน์จากความอยากของนักกอล์ฟที่มีกำลังทรัพย์กันอย่างมากมาย มีทั้งของจริง ของเทียม ขายฝัน เพ้อเจ้อ กลยุทธ์ การตลาด การใช้สื่อและโปรกอล์ฟทำให้ดูน่าเชื่อถือทุกรูปแบบ สมปนเปกันไป เหมือนกับทุกเรื่องในทุกแง่มุมของเกมส์กอล์ฟ ขอเตือนเอาไว้ก่อนเลยว่า ก่อนที่จะเชื่ออะไร พิจารณาด้วยสติปัญญาเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมาเสียอารมณ์ ส่วนของจริงหรือของปลอม ระยะเวลาจะเป็นตัวพิสูจน์

สิบบทความต่อจากนี้ไปจะเป็นแง่มุมเกี่ยวกับไดร์ฟเวอร์ ที่มีความสำคัญและมีผลจริงๆต่อการตีไกล ติดตามกันได้วันนี้อาจจะออกแนวบ่นๆนิดนึง แต่ทั้งหมดด้วยความปรารถนาดีทั้งสิ้น ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Friday, February 17, 2017

089 - ตีไกล ตอน 25 - ตัวเล็กก็ตีไกลได้

ข้อมูลต่อไปนี้เป็นสถิติระยะไดร์ฟเฉลี่ยของนักกอล์ฟรูปร่างเล็กใน Asian Tour จากนักกอล์ฟทั้งหมด 164 คน ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า เทคนิคการสวิง ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกายสามารถทดแทนรูปร่างที่สูงใหญ่ได้

โปรมะพร้าว ภาณุพล พิทยารัฐ 307.31 หลา (อันดับ 18) สูง 168 ซ.ม.



Miguel TABUENA 303.22 หลา (อันดับ 32) สูง 168 ซ.ม.




โปรโม ธันยากร ครองผา 299.25 หลา (อันดับ 54) สูง 166 ซ.ม.





โปรหมาย ประหยัด มากแสง 291.4 หลา (อันดับ 91) สูง 163 ซ.ม.





จากระยะไดร์ฟเฉลี่ยในการแข่งขัน แสดงให้เห็นแล้วใช่ไหมว่านักกอล์ฟที่สูงไม่ถึง 170 ซ.ม. สามารถตีไดร์ฟเวอร์ให้ได้ระยะ 300 หลา ได้ หากมีเทคนิค ความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกายที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตามรูปร่างสูงใหญ่ก็ยังได้เปรียบเสมอ จากศักยภาพที่จะตีได้ไกลอย่างสม่ำเสมอโดยธรรมชาติมากกว่าการตีไกลโดยใช้ความพยายาม นักกอล์ฟเยาวชนไทยรุ่นใหม่ๆ จึงควรบำรุงทางโภชนาการให้สูงใหญ่ตั้งแต่เล็ก เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมและไม่ให้เสียเปรียบนักกอล์ฟฝรั่งตัวโตๆ ยิ่งถ้ามีเทคนิคสวิงที่ดี ร่วมกับความแข็งแรงด้วย จะได้มีโอกาสสู้โปรกอล์ฟฝรั่งได้อย่างสูสีในระยะยาวอย่างแน่นอน






Thursday, February 16, 2017

088 - ตีไกล ตอน 24 - สัญญานเตือน Power Leak ในวงสวิง

พลังที่สูญเสียไปในวงสวิงเกิดขึ้นกับนักกอล์ฟทุกคน เพียงแค่เรารู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น การถ่ายวีดีโอดูวงสวิงของตัวเองจะทำให้เรารู้ความจริงและเห็นรอยรั่วเหล่านี้ได้ชัดเจน และเมื่อเราอุดรูรั่วเหล่านี้ได้ก็จะทำให้เราตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ได้ไกลขึ้นแน่นอน

1. จับกริป weak และไม่เป็นหนี่งเดียว เป็นจุดเริ่มต้นของความผิดพลาดที่จะลามต่อเนื่องไปยังส่วนต่างๆที่มีผลต่อการสร้างพลัง
2. เซ็ตอัพหลังโก่ง โค้ง ยากต่อการเกิด connection ที่เชื่อมโยงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องให้ทำงานได้สัมพันธ์กัน
3. เข่าขวายืดขึ้นหรือตึงที่ตำแหน่ง topswing เป็นผลให้สะโพกไม่ต้านการหมุนของหัวไหล่ทำให้เกลียวที่เป็นความต่างขององศาสะโพกกับหัวไหล่เกิดขึ้นน้อย
4. คลายข้อมือเร็ว จากการจับกริปแน่นเกินไป พยายามหวดหรือฟาดด้วยมือและแขน หรือสไลด์น้ำหนักไปทางซ้ายมากเกินไปตอน downswing ทั้งหมดนี้ทำให้สูญเสียการเร่งความเร็วหัวไม้จากการ release ข้อมือก่อนเข้าอิมแพคท์
5. ตำแหน่งศรีษะตั้งแต่ช่วงเซ็ตอัพจนถึงอิมแพคท์ ศรีษะมีการเคลื่อนที่ซ้ายขวามากเกินไป เป็นผลจากการถ่ายน้ำหนักออกด้านข้าง (hip slide) แทนที่จะหมุน
6. จบวงสวิงแบบหลอกๆ เกิดจากการเร่งความเร็วหัวไม้ไม่ถูกต้อง พลังงานจากหัวไม้ไม่เคลื่อนผ่านลูกกอล์ฟไปอย่างเต็มที่ ทำให้ไม่เกิดโมเมนตั้มที่มากพอที่จะพาให้ร่างกายไปอยู่ในท่าจบสวิงอย่างธรรมชาติ
7. ตีไม่เข้า sweet spot การถ่ายพลังจากหัวไม้ไปยังลูกกอล์ฟเกิดจึ้นไม่เต็มประสิทธิภาพ




Wednesday, February 15, 2017

087 - ตีไกล ตอน 23 - ทำลูกกอล์ฟที่หยุดนิ่ง ให้เคลื่อนไป ด้วยสวิงที่เลื่อนไหล จนหยุดนิ่งที่ท่าจบ

จั่วหัวมาอย่างกับเคล็ดวิชาจากหนังจีนกำลังภายใน อันที่จริงแล้วเคล็ดวิชาวงสวิงตีไกลก็อยู่ที่หัวเรื่องนี้เอง

กอล์ฟคือเกมส์ของการควบคุมการเคลื่อนที่ของลูกกอล์ฟด้วยการควบคุมการเคลื่อนที่ของหัวไม้ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย สิ่งที่เราควบคุมได้เพียงอย่างเดียวคือการเคลื่อนไหววงสวิงของเรา

แนวคิดของวงสวิง คือการควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อพาหัวไม้กอล์ฟเคลื่อนที่ด้วยความเร็วและความเร่งผ่านลูกกอล์ฟที่ขวางทางอยู่ ไปจนจบสวิง ดังนั้นการตีไดร์ฟเวอร์เต็มวง ถ้าเราควบคุมร่างกายได้ดี ทุกช็อตที่ตีจะต้องมีท่าจบที่เหมือนกัน ถ้าเราจบวงสวิงไม่เหมือนเดิม แสดงว่าต้องมีอะไรผิดพลาดในระหว่างทางที่หัวไม้เคลื่อนที่มาเป็นอย่างแน่นอน

การฝึกซ้อมการสวิงโดยโฟกัสที่ท่าจบวงสวิงให้เหมือนเดิม และเราสามารถยืนนิ่งอยู่ในท่าจบสวิงได้ จะทำให้นักกอล์ฟคลายความกังวลในรายละเอียดของการเคลื่อนไหวระหว่างทาง ซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วมาก และควบคุมได้ยาก ทางที่ดีคือ ปล่อยให้ร่างกายเลื่อนไหลไปตามธรรมชาติของมัน ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้เราสวิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดและทำได้อย่างสม่ำเสมอ ยังผลให้ตีไดร์ฟเวอร์ได้ไกลและตรงได้สมดังตั้งใจด้วย

หมั่นฝึกซ้อมตีหัวไม้ แล้วยืนนิ่งอยู่ในท่าจบสวิงได้เหมือนเดิมทุกครั้ง รับรองได้ว่าชีวิตดีขึ้นแน่นอน ถ้าวงสวิงดีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งทำให้ผลงานดีอย่างสม่ำเสมอ หรือถ้าวงสวิงยังไม่ดี อย่างน้อยเราจะอยู่ในทางที่ไปสู่สิ่งที่ดีอย่างแน่นอน ฝึกซ้อมไปเรื่อยๆ ให้ความสนใจที่วิธีการ (ท่าจบ) ให้มากกว่าผลงานลูกกอล์ฟที่พุ่งออกไป เมื่อเราชำนาญในวิธีการแล้ว ผลงานที่เป็นรูปธรรมอย่างระยะไดร์ฟที่ไกลขึ้น ตรง และสม่ำเสมอขึ้น ก็จะค่อยๆตามมา ... พบกันใหม่พรุ่งนี้นะครับ




Tuesday, February 14, 2017

086 - ตีไกล ตอน 22 - แค่ฝึกจิตให้สวิงเหมือนเดิม

คำแนะนำให้ปักทีให้สูงและให้ตำแหน่งลูกกอล์ฟอยู่บริเวณส้นเท้าซ้าย เพื่อตีไดร์ฟเวอร์ให้ได้ไกลขึ้นนั้น มีเหตุผลจากความต้องการให้หัวไม้เข้าปะทะลูกในมุมเสยขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิด backspin น้อยลง และต้องการให้หัวไม้ขณะปะทะมี dynamic loft ที่มากขึ้นเพื่อให้ลูกลอยได้สูง ลูกกอล์ฟที่ลอยโด่งอย่างมี backspin ที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป จะทำให้ลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ไปได้ระยะทางไกลกว่า

นักกอล์ฟที่ตีเหล็กได้ดี ส่วนใหญ่มักมีปัญหาตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์แล้วตกหยุด ไม่ได้ระยะ ลูกเฟดออกขวา สาเหตุทั้งหมดนี้เกิดจากความคุ้นเคยกับการเข้าปะทะลูกในลักษณะมุมอัดลง ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิด backspin มากเกินไป เมื่อลองพิจารณาการเซ็ตอัพของนักกอล์ฟเหล่านี้จะพบว่า ส่วนใหญ่มักจะปักทีต่ำ ตำแหน่งลูกเยื้องมาทางกลางลำตัว ซึ่งวิธีที่จะช่วยเพิ่มระยะสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการปักทีให้สูง ขยับลูกไปซ้ายให้มากขึ้น แล้วสวิงให้เหมือนเดิม ... ย้ำ! สวิงให้เหมือนเดิม

แนวทางการแก้ไขเป็นตรรกะที่ดูเหมือนจะง่าย ปรับตำแหน่งลูกไปทางซ้ายมากขึ้นและปักทีให้สูงขึ้น ถ้านักกอล์ฟสวิงเหมือนเดิม หัวไม้ควรจะเคลื่อนที่ผ่านเส้นทางเดิม และเข้าปะทะด้วยมุมที่เสยและมี dynamic loft ที่มากขึ้น แต่ความเป็นจริง ไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะเมื่อตำแหน่งลูกและความสูงทีเปลี่ยนไป นักกอล์ฟก็จะปรับสวิงตามไปด้วยเพื่อตีลูกให้ได้ด้วยมุมเข้าลูกแบบกดเหมือนเดิม ... นี่คือธรรมชาติ

ต้นเหตุของการแก้ปัญหาที่ไม่สำเร็จนี้ อยู่ที่ตำแหน่งจรดลูก ... เมื่อตำแหน่งลูกไปทางซ้ายมากขึ้นและทีสูงขึ้น แล้วนักกอล์ฟจรดหัวไม้ไปอยู่หลังลูกกอล์ฟที่ขยับไปทางซ้ายมากขึ้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงในวงสวิงแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ต้องการ หากเราต้องการวงสวิงเดิม เคลื่อนที่ผ่านเส้นทางเดิม และเข้าปะทะด้วยมุมที่เสยและมี dynamic loft ที่มากขึ้น นักกอล์ฟควรจรดหัวไม้ที่ตำแหน่งเดิม แล้วตีด้วยวงสวิงเดิม โดยจินตนาการว่ากำลังตีลูกที่อยู่ในตำแหน่งเดิม แล้วหัวไม้เคลื่อนที่ผ่านไปปะทะลูกกอล์ฟจริง

ฝึกซ้อมตีหัวไม้โดยจรดหัวไม้ให้ห่างลูกไปสักระยะ แล้วจะคุ้นเคยกับฟิลลิ่งของการตีเสย แล้วค่อยๆขยับตำแหน่งการจรดหัวไม้ตามเหมาะสม การปรับวิธีการตีให้เสยขึ้นด้วยวิธีนี้ เป็นการปรับจิตล้วนๆ ไม่ได้ปรับวงสวิงเลย ถ้าทำได้จะเห็นระยะเพิ่มขึ้นทันที จากวิถีลูกที่ลอยในอากาศนานขึ้น ลูก carry ไกลขึ้น ตกแล้วลูกวิ่งมากขึ้น วิถีลูกจะดรอว์มากขึ้น หรือเฟดน้อยลง ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Monday, February 13, 2017

085- ตีไกล ตอน 21 - ตีไกลโดยไม่ต้องพยายามตีให้ไกล

นักกอล์ฟสมัครเล่นทุกคนที่ผ่านการออกรอบในสนามกอล์ฟมาพอสมควร เคยสังเกตการตีไดร์ฟเวอร์ของตนเองที่ผ่านมาหรือเปล่า ว่าลูกที่เราตีไดร์ฟเวอร์ได้ไกลมากๆ คือลูกที่เราไม่ได้ใช้ความพยายามมากมายอะไร สวิงออกจะสบายๆ จังหวะทุกอย่างมันเคลื่อนไหวสัมพันธ์กันมาเข้าล็อคอย่างเป็นธรรมชาติ หัวไม้ปะทะโดนลูกกอล์ฟนุ่มแน่น แต่ให้ความรู้สึกเบาสบาย เสียงใสเพราะ แต่ลูกพุ่งฉีดออกไปตรงและไกลอย่างน่าแปลกใจ แต่ในทางกลับกัน เวลาที่เราต้องการตีให้ไกล พยายามเร่งหัวไม้ให้เร็ว เฆี่ยน ตีให้แรง ทุกอย่างกลับให้ผลไปในทางตรงข้าม

ก่อนที่จะคิดจะเร่งตีหัวไม้ให้ไกล นักกอล์ฟต้องเข้าใจการทำงานของวงสวิงเสียก่อน ว่าการควบคุมกล้ามเนื้อเพื่อพาให้หัวไม้เข้าปะทะลูกกอล์ฟให้โดน Sweet Spot ด้วยการเร่งหัวไม้ให้เกิดความเร็ว เพื่อเข้าปะทะลูกกอล์ฟด้วยแนวสวิงและตำแหน่งหน้าไม้ที่เหมาะสม ต้องอาศัยการทำงานเป็นลำดับและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อที่ถูกต้อง ทางเดียวที่จะทำให้ตีไดร์ฟเวอร์ได้ไกลขึ้น โดยที่ปัจจัยอื่นๆในจังหวะปะทะมีความสมบูรณ์แบบ คือการเพิ่มความเร็วของหัวไม้ให้มากขึ้น ซึ่งในทางปฏิบัติต้องอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้อทั้งระบบในการเร่งหัวไม้ให้เร็วขึ้น แต่ต้องอยู่ในเงื่อนไขที่กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องทำงานอย่างเป็นลำดับและยังคงความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่นักกอล์ฟสมัครเล่นจะสามารถทำได้ เพราะเมื่อมีความคิดที่จะเร่งความเร็วหัวไม้ ความเกร็ง การเร่งกล้ามเนื้อบางส่วน ซึ่งส่วนใหญ่จะไปเร่งความเร็วด้วยการใช้มือแขนที่มากขึ้น ไม่ได้ทำให้ตีได้ไกลขึ้นแต่อย่างใด และยังทำให้ทิศทางก็แย่ไปด้วย แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับเป็นโทษเสียอีก

นักกอล์ฟที่คิดจะมีอีกก๊อกในการตีหัวไม้ที่ตีไกลกว่าปกติ ควรศึกษาและฝึกซ้อมให้ดีก่อนจะเอาออกมาใช้ และเวลาใช้ก็เลือกใช้งานในหลุมที่หากผิดพลาด ก็ไม่สร้างความเสียหายมากนัก ขอแนะนำให้นักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่ ตีหัวไม้ด้วยวงสวิงที่เป็นธรรมชาติตามคำแนะนำที่ผ่านมา โดยไม่ต้องไปพยายามตีให้ไกลขึ้น เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเราพยายามตีให้ไกล มันไม่ได้ทำให้ตีได้ไกลขึ้น นี่คือความจริง แต่การสวิงสบายๆกลับจะตีได้ไกลกว่าและได้ผลงานที่สม่ำเสมอกว่าอย่างแน่นอน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ




Sunday, February 12, 2017

084 - ตีไกล ตอน 20 - พยายามทำตามคำแนะนำจนเวอร์เกินไป

คำแนะนำและ drill ในการตีไกลมีอยู่มากมายตามสื่อต่างๆ นักกอล์ฟที่นำเอาคำแนะนำเหล่านั้นไปใช้มากจนเกินเหตุ มีโอกาสสร้างปัญหาเหล่านี้

1. ถ่ายน้ำหนักไปเท้าขวาตอน backswing มากจนล้น ทำให้มีการเคลื่อนของแกนและร่างกายมากเกินไป การเคลื่อนไหวที่มากเกินไป เป็นการเพิ่มความผิดพลาดให้กับวงสวิง และการทำซ้ำทำได้ยาก 

ความคิดในการพยายามถ่ายน้ำหนัก ก่อให้เกิดการ slide ของน้ำหนักเสียส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วควรจะคิดว่าการถ่ายน้ำหนักเป็นผลจากการ rotate ร่างกาย ช่วงบน และให้โฟกัสที่การ rotate ร่างกายช่วงบนที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกับช่วงล่าง

2. พยายามสร้าง arc ของ backswing ให้กว้างเกินไป มีโอกาสทำให้ connection ลดลง, หมุนไหล่น้อยลง และตีคล่อมมากขึ้น

3. คำแนะนำให้หมุนไหล่ที่ Topswing ให้มากขึ้น จะเป็นโทษมากกว่าประโยชน์หากสะโพกหมุนตาม จากความยืดหยุ่นของร่างกายที่ไม่มากพอ ซึ่งไม่เป็นการเพิ่มแรงบิดที่เกิดจากความต่างของแนวสะโพกกับแนวไหล่ การบิดไหล่เพิ่มขึ้นโดยที่สะโพกบิดตาม เป็นการเพิ่มการเคลื่อนที่ของร่างกายให้มากขึ้นโดยใช่เหตุ

4. Overswing ที่ Topswing เป็นผลทำให้เกิดปัญหา connection และ timing ตามมา

5. ถ่ายน้ำหนักไปเท้าซ้ายตอน downswing มากจนล้น หรือสไลด์สะโพกไปทางซ้ายมากเกินไป ทำให้มีการเคลื่อนของแกนและร่างกายมากเกินไป การเคลื่อนไหวที่มากเกินไป เป็นการเพิ่มความผิดพลาดให้กับวงสวิง ทำซ้ำได้ยาก และทำให้การรักษามุมข้อมือมือ delay hit ทำได้ยาก

ความคิดในการพยายามถ่ายน้ำหนัก ก่อให้เกิดการ slide ของน้ำหนักเสียส่วนใหญ่ ซึ่งจริงๆแล้วควรจะคิดว่าการถ่ายน้ำหนักเป็นผลจากการ rotate ร่างกายช่วงล่าง และให้โฟกัสที่การ rotate ช่วงล่างที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกันกับช่วงบน

6. พยายามหมุนสะโพกตอนเริ่ม downswing อย่างเร็วเกินไป เป็นเหตุให้ช่วงล่างทำงานไม่สัมพันธ์กับช่วงบน ไม่เกิด connection อย่างที่ควรจะเป็น





Saturday, February 11, 2017

083 - ตีไกล ตอน 19 - Rhythm ธรรมชาติ

Rhythm คือสัดส่วนของช่วงเวลา backswing (ตั้งแต่เริ่มต้น backswing จนถึง topswing) ต่อช่วงวงสวิง downswing (ตั้งแต่เริ่มต้น downswing จนถึง impact) จากการศึกษานักกอล์ฟที่ตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พบข้อมูลน่าแปลกใจมากที่ Rhythm ของพวกเขาจะอยู่ใกล้เคียงกับสัดส่วน 3:1



Rhythm มีความสำคัญมาก เพราะมันคือบอกถึงความสัมพันธ์ในการทำงานของกล้ามเนื้อ ถ้านักกอล์ฟมี Rhythm ไม่ใกล้เคียง 3:1 รับรองได้ว่า จะต้องมีสิ่งที่ฝืนธรรมชาติอยู่ในวงสวิงอย่างแน่นอน การเคลื่อนไหวของวงสวิงที่ออกมาก็จะดูไม่สวยงาม ไม่เนียน ไม่เป็นธรรมชาติ และที่สำคัญ และให้จำไว้เสมอว่า การสวิงที่ฝืนธรรมชาติจะต้องใช้ความพยายาม ซึ่งจะตีไดร์ฟเวอร์ให้ไกลได้อย่างสม่ำเสมอจะทำได้ยาก

ดูคลิปประกอบของ Martin Hall ที่อธิบาย Rhythm ให้เข้าง่าย และเอาไปใช้ได้อย่างง่ายๆ





Friday, February 10, 2017

082- ตีไกล ตอน 18 - ฝึกซ้อมด้วยไม้กอล์ฟที่หนักขึ้น

สำหรับคนที่อยากตีไกลโดยไม่ต้องเปลี่ยนวงสวิง มีความเป็นไปได้ หากเราสามารถทำให้ "กล้ามเนื้อที่เราใช้ในการสวิงไม้กอล์ฟแข็งแรงขึ้น" วิธีการก็คือ การซ้อมสวิงและซ้อมตีจริงด้วยไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักมากกว่าน้ำหนักปกติ จะทำให้กล้ามเนื้อทั้งหมดที่เราใช้ในการสวิงไม้กอล์ฟใช้งานหนักกว่าปกติ เป็นผลให้ชุดกล้ามเนื้อที่เกี่ยวเนื่องในการสวิงแข็งแรงขึ้น เป็นการบริหารกล้ามเนื้อที่ตรงจุดอย่างยิ่ง

หลักการคล้ายกับนักวิ่งที่ซ้อมวิ่ง โดยลากยางล้อรถยนต์ไปด้วย แต่นักกอล์ฟอย่างเรา ก็ดัดแปลงเอาสายยางน้ำที่เราใช้ฉีดรดน้ำต้นไม้ เลือกเอาแบบที่หนาหน่อย จะได้มีน้ำหนักมากหน่อย เอามาใช้รัดหรือสวมครอบก้านไม้กอล์ฟเพื่อเพิ่มน้ำหนักไม้กอล์ฟได้ทันที แถมยังสามารถถอดเข้าออกได้ตามต้องการ จะต้องการหนักมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการแต่ละคนได้เลย ลองเอาเทคนิคนี้เอาไปใช้ดูนะครับ  ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





Thursday, February 9, 2017

081- ตีไกล ตอน 17 - สร้างความเร็วหัวไม้แบบแชมป์โลกตีไกล

หลายตอนของเทคนิคการตีไกลที่ผ่านมา เป็นแนวทางในการสร้างความเร็วหัวไม้ในทางอ้อม ซึ่งเป็นเทคนิคที่นักกอล์ฟตีไกลแชมป์ World Long Drive ปี 2014  อย่าง Jeff Flagg ก็ใช้และอธิบายเหมือนกันอย่างบังเอิญ บทสรุปเทคนิคที่สำคัญในการสร้างความเร็วหัวไม้ของเขา ถูกอธิบายได้อย่างตรงไปตรงมาก โดยไม่ต้องการคำอธิบายทางเทคนิคที่เข้าใจยากๆได้ดังนี้

1. ควบคุมสวิงด้วยมือขวา ด้วยความรู้สึกเหมือนการเขวี้ยงไม้กอล์ฟด้วยมือขวา
2. ไม่เกร็ง ไม่ฝืน ไม่จับกริปแน่น รู้สึกถึง downswing ที่นุ่มนวลและผ่อนคลาย
3. เริ่ม downswing อย่างนุ่มนวล ทำลายความคิดที่จะตีลูกกอล์ฟตั้งแต่เริ่ม downswing เมื่อ downswing ลงมาได้ครึ่งทาง ให้เร่งหัวไม้ให้เร็วและแรงที่สุดให้หัวไม้ปะทะลูกกอล์ฟ โดยให้พลังงานทั้งหมดผ่านอิมแพคท์ไป
4. แก้ไขความพยายามในการตีอัดไปที่ลูก โดยการจินตนาการว่าจุดอิมแพทค์อยู่หน้าตำแหน่งลูกกอล์ฟจริง

เชิญชมคลิปของ Jeff Flagg ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Wednesday, February 8, 2017

080 - ตีไกล ตอน 16 - ตีไกลด้วยเทคนิคการเขวี้ยงไม้กอล์ฟ


เรื่องราวการสร้างสถิติระยะไดร์ฟไกลที่สุดในการแข่งขันกอล์ฟ ของ Mike Austin ในรายการ U.S. National Seniors Tournament ที่สนาม the Winterwood Golf Course (ปัจจุบันชื่อ the Desert Rose) ในปี 1974 ขณะที่เขามีอายุ 64 ปี ใช้หัวไม้ Persimmon loft 10 องศา ไม้ยาว 43.5 นิ้ว หลุมที่ไดร์ฟเป็นหลุมพาร์ 4 ระยะ 450 หลา เขาไดร์ฟแครี่ขอบกรีน กระดอนและกลิ้งไปบนกรีน จนไปหยุดหลังกรีน รวมระยะ 515 หลา ถูกบันทึกเป็นสถิติ Guinness World Record มาจนถึงทุกวันนี้ ถึงแม้วันนั้นเขาจะไดร์ฟตามลมทีพัดค่อนข้างแรง ประมาณ 25 mph แต่ถ้าคิดให้ดี นักกอล์ฟอายุ 64 ปี ใช้ไม้โบราณที่ประสิทธิภาพและความยาวสู้หัวไม้ในปัจจุบันไม่ได้อย่างแน่นอน ต้องถือว่าไดร์ฟได้ไกลผิดมนุษย์มนาเป็นอย่างยิ่ง คุณปู่จะต้องมีเทคนิคอะไรดีๆให้เราเรียนรู้อย่างอย่างแน่นอน

ชมวีดีโอคลิปที่แนะนำการสวิงไม้กอล์ฟด้วยแนวคิดการเขวี้ยงไม้กอล์ฟด้วยมือขวา ที่น่าสนใจและสอดคล้องกับเทคนิคการตีไกลด้วยการเข้าปะทะลูกด้วยความเร่ง ได้เลยครับ




จบกันแบบขำๆด้วยสถิติไดร์ฟ  500 หลา ของ Louis Oosthuizen ในปี 2013 กัน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Tuesday, February 7, 2017

079 - ตีไกล ตอน 15 - อยากมี delay hit จริงไหม

delay hit คือ ผลของการสวิงตามธรรมชาติ โดยไม่พยายาม ไม่เกร็ง ไม่ฝืน ไม่จับกริปแน่นจนเกินไป นักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟเป็นแล้วส่วนใหญ่เวลาให้สวิงลมแล้วถ่ายวีดีโอมักจะมี delay hit ให้เห็นเกือบทุกคน แต่พอให้ตีจริง ภาพที่ออกมากลับแตกต่างออกไป

กล้ามเนื้อของมนุษย์ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตามวัตถุประสงค์ที่สั่งงานโดยสมอง นักกอล์ฟที่ฝึกฝนการตีด้วยตัวเอง โดยมีวงสวิงที่ไม่ธรรมชาติ ทั้งการเกร็ง ฝืน และจับกริปแน่น จะมีอาการคลายข้อมือเร็ว (casting) และเมื่อผ่านการฝึกซ้อมและการตีกอล์ฟไปเรื่อยๆ ร่างกายและกล้ามเนื้อจะผ่านการลองถูกลองผิดจนเจอความสัมพันธ์และลำดับของกล้ามเนื้อที่ลงตัว จนมีวงสวิงที่เป็นเอกลักษณ์ที่ดูไม่เป็นธรรมชาติ แต่สามารถตีลูกกอล์ฟให้โดนหน้าไม้ได้ solid ระดับหนึ่ง ทำให้ลูกพุ่งออกไปในทิศทางที่ต้องการและได้ระยะระดับหนึ่ง เกิดเป็นกล้ามเนื้ออัตโนมัติที่ผ่านการสั่งงานโดยสมองในส่วนที่ไร้สำนึก (unconcious) และเมื่อนักกอล์ฟคิดจะปรับวงสวิง โดยการฝึกซ้อมในสนามไดร์ฟ ด้วยการพยายามปรับให้วงสวิงไม่ฝืนธรรมชาติ ไม่พยายาม ไม่เกร็ง ไม่จับกริปแน่นจนเกินไป หวังว่าจะได้เห็น delay hit ซึ่งมีผลให้จังหวะในการเข้าลูกเพี้ยนไปหมด สัญชาตญานของร่างกายจะรับรู้ได้ว่า มันจะตีไม่โดน ไม่ได้ทิศทาง ไม่ไกล อิมแพคท์ไม่แน่น ซึ่งความรู้สึกลึกๆ จะไม่ยอมรับความผิดหวังนี้ ทำให้สมองนำเอาลำดับและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อแบบเดิมมาใช้โดยอัตโนมัติ เพื่อทำให้ตัวเองสามารถตีลูกกอล์ฟได้ เป็นการตอบสนองความรู้สึกคาดหวังว่าจะตีได้ไกลขึ้นและเพื่อทำให้ตนเองรู้สึกดี ซึ่งเป็นกระบวนการปรับวงสวิงไม่ได้ผล เพราะตามความเป็นจริงแล้วเมื่อเราเปลี่ยนวงสวิง เราจะต้องตีไม่ได้ ไม่โดน เป็นเรื่องปกติ ถ้าตีได้ดี ตีโดน ตีได้ไกลกว่าเดิมสิ ที่ผิดปกติ เพราะถ้าเราตีได้ แสดงว่าวงสวิงเราไม่เปลี่ยนนั่นเอง เมื่อสมองมันมีเป้าหมายอยู่ที่ผลการตี ไม่ใช่วิธีการตี ทำให้วงเก่าๆที่คายข้อมือเร็ว มันไม่หายไปไหน ในขณะที่เราสวิงลม สมองไม่ได้มีความคาดหวังต่อผลการตี เราจึงเห็นวงสวิงที่มี delay hit และดูเป็นธรรมชาติได้เสมอ

ดังนั้นเมื่อคิดที่จะปรับวงสวิง เพื่อให้เกิด delay hit ตามธรรมชาติ สมองจะต้องโฟกัสที่วิธีการ ไม่ใช่ผลงาน ต้องยอมรับให้ได้ว่า จะต้องตีไม่ไดน ไม่ไกล ไม่ได้ทิศทาง ปะทะไม่ solid ในช่วงแรกอย่างแน่นอน จะต้องทนฝืนอยู่กับความรู้สึกเซ็งโลก น่าขายหน้า รู้สึกเป็นตัวตลก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ขมขื่นของนักกอล์ฟ ที่ใช้เวลายาวนาน ที่ทำใจได้ยาก และต้องการกำลังใจอย่างยิ่ง ดังนั้นหนทางเดียวที่นักกอล์ฟที่คิดจะเปลี่ยนวงสวิงแบบยกเครื่องคือ จะต้องหยุดออกรอบ ที่มีเป้าหมายเป็นความคาดหวังในผลงานแต่ละช็อตให้หมดสิ้น เช่นการออกรอบโดยมีการเล่นพนัน ซึ่งปิดโอกาสการเปลี่ยนวงสวิงโดยสิ้นเชิง

เมื่อคิดจะปรับวงสวิง ให้โฟกัสที่วิธีการ ไม่ใช่ผลงาน และทนฝืนกับช่วงเวลาที่แสนบอบช้ำให้ได้นานที่สุด เวลาจะช่วยให้ระบบการทำงานของกล้ามเนื้อหาลำดับและความสัมพันธ์ได้จนเจอในที่สุด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย และใช่ว่าทุกคนจะทำได้ แต่อย่างน้อยบทความนี้ก็พอจะทำให้ทุกคนมีแนวทาง มากกว่าหลงทาง ขอให้ทุกคนที่อยู่ในช่วงปรับวงสวิงโชคดี ยอมอดทนเพื่อผลที่ดีขึ้น ตีไกลขึ้น สม่ำเสมอมากขึ้น และป้องกันอาการบาดเจ็บในระยะยาว เป็นการลงทุนคุ้มค่า ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน แต่สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่น การพยายามเปลี่ยนวงสวิงอย่างยกเครื่อง อาจจะต้องพิจารณาด้วยตนเอง ว่าความทุ่มเทและช่วงเวลาที่เสียไป มันคุ้มค่าไหม มันคือจุดประสงค์ในการเล่นกอล์ฟของเราหรือไม่ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Monday, February 6, 2017

078 - ตีไกล ตอน 14 - อย่าพยายามสร้าง delay hit

นักกอล์ฟคงคุ้นเคยกับคำว่า delay hit, leverage หรือ lag เป็นอีกเรื่องที่สร้างความสับสนและความเข้าใจผิดอย่างมากให้กับนักกอล์ฟ จากการตีความจากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ทุกคนจดจำเอาไว้ในหัว คือภาพนิ่งที่ข้อมือขวายังคงรักษามุมแหลมระหว่างแขนขวากับแนวก้านไว้ได้ในช่วง downswing ก่อนที่จะเข้าปะทะลูก เมื่อรวมเข้ากับสิ่งที่รับรู้มาว่า delay hit ทำให้ตีไกลขึ้น ทำให้เกิดความคิดในการพยายามสร้าง delay hit ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่เหมาะสม

delay hit คือ by product หรือ ผลของการ relax ของกล้ามเนื้อและข้อมือในช่วง downswing ถ้าเราจับกริปไม่แน่นเกินไป มี connection ที่เหมาะสม จะเกิดลำดับการสวิงของ downswing ที่เริ่มจากด้านล่างไล่ขึ้นมาด้านบนจนถึงข้อมือ ถ้าข้อมือ relax ไม่เกร็ง จับกริปไม่แน่น ข้อมือจะเคลื่อนที่นำหน้าหัวไม้ได้โดยตลอด และเกิดเห็นเป็นภาพ delay hit โดยธรรมชาติโดยไม่ต้องพยายามใดๆทั้งสิ้น

การที่หัวไม้เคลื่อนตามหลังข้อมือ และเคลื่อนที่ช้ากว่าข้อมือ (lag) ทำให้นักกอล์ฟจะต้อง release ข้อมืออย่างรวดเร็วและรุนแรงในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อให้หัวไม้เข้าปะทะลูกกอล์ฟได้ถูกจังหวะ Impact เป็นผลให้หัวไม้เคลื่อนที่เข้าปะทะลูกด้วยความเร็วและความเร่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการเข้าปะทะอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ตีได้ไกลขึ้น

ดังนั้นการพยายามสร้าง delay hit ด้วยการเกร็งข้อมือ พยายามรักษาข้อมือ เพื่อให้เกิดภาพนิ่ง delay hit ที่อยู่ในหัว จึงไม่ใช่ความคิดที่ดี เพราะ delay hit เกิดจากความไม่พยายาม แต่ปัญหาของการสร้าง delay hit ตามธรรมชาติสำหรับนักกอล์ฟที่ตีกอล์ฟเป็นอยู่แล้ว มันซับซ้อนกว่านั้น เราจะพูดคุยกันในวันพรุ่งนี้




Sunday, February 5, 2017

077 - ตีไกล ตอน 13 - Connection เริ่มจากท่ายืน Setup

การทำงานของวงสวิงอาศัยการทำงานของกล้ามเนื้ออย่างเป็นลำดับและสัมพันธ์กัน การทำงานอย่างสัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อที่เรียกว่า Connection คือความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่ ที่แสดงออกด้วยการตีด้วยมือและแขน ซึ่งเป็นสัญญานที่แสดงให้เห็นถึงการแยกกันทำงานระหว่างช่วงบนกับช่วงล่างที่ทำงานไม่สัมพันธ์กัน

Connection ระหว่างช่วงบนกับช่วงล่างควรเกิดขึ้นตั้งแต่ยืนเซ็ตอัพ ท่ายืนไหล่งุ้ม ไหล่ห่อ หลังโก่ง ไม่ใช่ท่ายืนที่ดี ให้ลองยืนตรง มืออยู่ข้างลำตัว ยืดอกไปด้านหน้า ดันหัวไหล่ไปด้านหลัง ให้ได้ความรู้สึกของหลังตรง แล้วก้มลงยืนในท่าเซ็ตอัพโดยคงความรู้สึกหลังตรงเอาไว้ ในท่าเซ็ตอัพนี้ควรจะเกิดความรู้สึกของ Connection คือ กล้ามเนื้อด้านในต้นแขนทั้งสองข้างสัมผัสและบีบหน้าอกตลอดเวลา และความรู้สึกนีควรจะอยู่ตลอดทั้งวงสวิง เมื่อเกิด Connection นักกอล์ฟจะตีหวดด้วยมือและแขนได้ยาก เป็นการบังคับให้เกิดลำดับการทำงานของกล้ามเนื้อ (Sequence) ที่เป็นธรรมชาติ และระยะจะตามมา แรกๆอาจจะขัดๆ แต่ทำไปเรื่อยๆจะคุ้นเคยและเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เรื่องนี้สำคัญมาก แม้แต่โปรกอล์ฟฝีมือดี ตีกอล์ฟไปเรื่อยๆ วงสวิงก็เพี้ยนไปเรื่อย Connection ก็หายเช่นกัน

ให้เอาผ้าเช็ดมือหรือที่ครอบหัวไม้หนีบไว้ที่รักแร้ซ้าย แล้วลองตีดู ถ้าผ้าเช็ดมือหรือที่ครอบหัวไม้หลุด แสดงว่า Disconnection ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Saturday, February 4, 2017

076 - ตีไกล ตอน 12 ทำไมถึงควรจับกริปสตรอง

นักกอล์ฟคงเคยได้ยินคำแนะนำเรื่องการจับกริปสตรองเพื่อตีให้ไกลกันมามากต่อมากแล้ว แต่รู้ไหมว่าเหตุใดจึงควรจับกริปให้สตรอง และใครที่ควรจับกริปให้สตรอง ซึ่งเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟควรจะรู้ถึงเหตุผลก่อนที่จะเอาคำแนะนำเหล่านั้นไปใช้งาน

การจับกริปให้สตรองมีผลที่เห็นชัดเจน 3 ประการ ซึ่งเป็นความรู้จาก Ball Flght Law นั่นเอง

1.ทำให้หน้าไม้เข้าปะทะลูกในลักษณะที่ปิดมากขึ้น
2.ทำให้หน้าไม้มีความสัมพันธ์เทียบกับแนวสวิงในลักษณะที่ปิดมากขึ้น
3.ทำให้จังหวะ release มีความรุนแรงมากขึ้น

จากที่อธิบายไปแล้วว่า นักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่เมื่อนักกอล์ฟจับไดร์ฟเวอร์ที่มีน้ำหนักเบาและพยามยามที่จะตีลูกกอล์ฟออกไปให้ไกลที่สุด จึงใช้งานกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงและคุ้นเคยกว่าอย่างมือและแขนเป็นต้นแรงในการสวิงไม้กอล์ฟโดยไม่รู้ตัว ซึ่งทำให้นักกอล์ฟเหล่านี้มีแนวสวิงแบบ Outside-In หรือตีคล่อม เป็นผลให้เกิดวิถีแบบโค้งจากซ้ายไปขวา ที่เรียกว่า Fade ถ้าเลี้ยวมากๆก็เรียกกันว่า Slide ซึ่งทำให้เสียระยะจากการเลี้ยวโค้ง รวมถึงตกจะไม่ค่อยวิ่ง

เมื่อนักกอล์ฟสมัครเล่นที่มีแนวสวิงแบบ Outside-In จับกริปให้สตรองขึ้น ผลของการจับกริปให้สตรองขึ้นทั้ง 3 ประการ จะส่งเสริมให้เกิดผลดีต่อระยะดังนี้

1.ทำให้หน้าไม้เข้าปะทะลูกในลักษณะที่ปิดมากขึ้น - ลูกที่พุ่งออกจากหน้าไม้จะออกขวาน้อยลง
2.ทำให้หน้าไม้มีความสัมพันธ์เทียบกับแนวสวิงในลักษณะที่ปิดมากขึ้น - วิถีลูกจะตรงมากขึ้น เลี้ยวน้อยลง side spin ลดลง ลูกกอล์ฟจะ carry ไกลขึ้น และกลิ้งมากขึ้น
3.ทำให้จังหวะ release มีความรุนแรงมากขึ้น - ความเร็วหัวไม้และความเร็วลูกกอล์ฟจะเพิ่มขึ้น

จึงเป็นผลให้นักกอล์ฟสมัครเล่นที่มีแนวสวิงแบบ Outside-In ที่จับกริปให้สตรองขึ้น มักจะตีได้ไกลขึ้น แต่การจับกริปให้สตรองขึ้นอาจเกิดผลเสียกับนักกอล์ฟที่มีแนวสวิงที่เป็น Inside-Out มากๆ

คำแนะนำที่ให้นักกอล์ฟสมัครเล่นจับกริปให้สตรองขึ้นเพื่อตีไกลให้ไกลขึ้นจะได้ผลกับนักกอล์ฟส่วนใหญ่ แต่อย่าลืมว่าควรใช้วิจารณญานกับคำแนะนำนี้ด้วย เอาให้มั่นใจว่าคุณไม่เป็นคนกลุ่มน้อยนะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Friday, February 3, 2017

075 - ตีไกล ตอนที่ 11 - ทำตามนี้สักหนึ่งเดือน ... รู้เรื่อง

เมื่อวานพูดถึงเรื่องกล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อช่วงล่างซึ่งมีส่วนในการตีไกล ถ้าไม่เชื่อ ให้ทดลองด้วยตัวเอง ด้วยการวิ่งวันละ 20 นาที และตามด้วยการออกกำลังกาย 10 นาทีตามวีดีโอคลิปนี้ทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน ควบคู่ไปกับการซ้อมไดร์ฟและออกรอบอย่างเป็นปกติ เวลาออกรอบก็พยายามเดินแทนการใช้รถ ครบเดือนแล้ววัดผลด้วยตัวเองว่าตีไกลขึ้นไหม ได้ผลอย่างไรช่วยรายงานด้วยนะครับ



ปล. ท่าที่ยากเกินไปก็ค่อยๆทำตามเท่าที่ทำได้ อย่าหักโหม ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ทำไปเรื่อยๆเดี๋ยวก็จะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ






Thursday, February 2, 2017

074 - ตีไกล ตอน 10 - กฏการทำงานของกล้ามเนื้อ

มนุษย์เมืองปัจจุบันที่ชีวิตส่วนใหญ่ออกกำลังกายน้อย เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการนั่งทำงานและใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างมือและแขนเสียส่วนใหญ่ เมื่อนักกอล์ฟจับไดร์ฟเวอร์ที่มีน้ำหนักเบาและพยามยามที่จะตีลูกกอล์ฟออกไปให้ไกลที่สุด จึงใช้งานกล้ามเนื้อมัดเล็กที่แข็งแรงและคุ้นเคยกว่าเป็นต้นแรงในการสวิงไม้กอล์ฟโดยไม่รู้ตัว และเมื่อนักกอล์ฟได้ลองเลื่อนเปิดปิดประตูรั้วที่มีน้ำหนักมาก ด้วยการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อคล้ายกับการสวิงไม้กอล์ฟ จะพบว่านักกอล์ฟเหล่านี้จะสวิงประตูรั้วได้ยาก เพราะการสวิงด้วยมือและแขนเป็นต้นกำลังหลักในการออกแรงไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อให้เวลานักกอล์ฟได้ลองเปิดปิดประตูรั้วเพื่อหาวิธีการออกแรงด้วยตัวเองจะพบว่า นักกอล์ฟต้องใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างมือและแขนให้น้อยลงและใช้กล้ามเนื้อช่วงล่างและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ให้มากขึ้น ด้วยลำดับและความสัมพันธ์ที่เหมาะสม

การเลื่อนเปิดปิดประตูรั้วบ้านทำให้เรารู้ว่าในการเคลื่อนไหวอย่างการสวิงนั้นลำดับและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมีความสำคัญในการสวิงให้มีประสิทธิภาพ โดยธรรมชาติแล้วกล้ามเนื้อที่แข็งแรงและคุ้นเคยกว่าจะถูกนำมาใช้งานมากและมีอิทธิพลต่อการเคลื่อนไหว นักกอล์ฟส่วนใหญ่มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรงและคุ้นเคยกว่ากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งไม่ใช่ผลดีต่อการตีไกล แล้วจะต้องทำอย่างไร ... ติดตามต่อพรุ่งนี้




Wednesday, February 1, 2017

073 - ตีไกล ตอน 9 - Slide Gate in Action

สอบถามกันมาหลังจากอ่านบทความ ตีไกล ตอน 8 - หาวิธีตีไกลด้วยตัวเอง แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าทำอย่างไร วันนี้เลยเอาวีดีโอมาให้ดูกัน ดูวีดีโอแล้วกลับไปอ่านบทความใหม่อีกรอบนะครับ