Tuesday, January 31, 2017

072 - ตีไกล ตอน 8 - หาวิธีตีไกลด้วยตัวเอง

มีบทความและวีดีโอสอนเกี่ยวกับวงสวิงและเทคนิคการตีไกลมากมาย ซึ่งยิ่งอ่านมาก ยิ่งดูวีดีโอมาก ก็ยิ่งทำให้งงและสับสน เพราะมันเป็นเรื่องยากในการสื่อสารการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อผ่านตัวหนังสือและการบอกเล่า ไม่มีวิธีไหนที่จะดีกว่าการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง

เดินไปที่ประตูรั้วบ้านแล้วเลื่อนเปิดประตูรั้วด้วยการจับที่มือจับด้วยสองมือเหมือนกับเราจับกริปไม้กอล์ฟ แล้วเลื่อนเปิดประตูรั้วด้วยการออกแรงคล้ายการ downswing - impact - follow through ยาวไปจบที่ finish ถ้าประตูรั้วมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่จะเลื่อนด้วยกำลังแขนของเรา เราจะเรียนรู้การออกแรงด้วยกล้ามเนื้อใหญ่ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพลังในการตีกอล์ฟให้ไกลนั่นเอง

ลองเลื่อนเปิดประตูรั้วบ้านที่มีน้ำหนักดูด้วยตนเอง (ถ้าประตูรั้วบ้านไหนเบาเกินไป ก็หาอะไรหนักๆมาแขวนเพิ่มน้ำหนักได้) แล้วเราจะได้เรียนรู้ว่าการออกแรงด้วยวงสวิงปัจจุบันของเรามันมีประสิทธิภาพจริงไหม เราออกแรงด้วยกล้ามเนื้อเล็ก อย่างมือแขน หรือด้วยความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อใหญ่ อย่างช่วงล่างลำตัวและหน้าอก ค่อยๆปรับหาวิธีการออกแรง ท่ายืน การถ่ายน้ำหนัก ที่ทำให้เราเลื่อนประตูที่มีน้ำหนักมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ แล้วเราจะเข้าใจสิ่งที่จะอธิบายในบทความต่อไปจากนี้

จากไปนี้ขับรถเข้าออกจากบ้าน เลิกเปิด-ปิดด้วยรีโมท แล้วเดินไปเปิดปิดประตูรั้วด้วยตัวเอง เราจะได้บังคับให้ตัวเองให้ฝึกซ้อมวงสวิงอย่างน้อยก็วันละ 2 เวลา รวม 4 สวิง รับรองได้ว่าทุกคนจะได้เรียนรู้อะไรดีๆในวงสวิงของตัวเองอย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อนอย่างแน่นอน แต่ลูกเมียอาจจะสงสัยหน่อยว่าพ่อทำอะไรของพ่อน่ะ แต่รับรองว่าเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่า และได้ออกกำลังกายด้วย

ปล. นักกอล์ฟคนไหนเอาไปลองใช้แล้วได้อะไรดีๆ อย่าลืมบอกต่อ หรือจะแชร์ต่อให้เพื่อนก็ทำได้เลยนะครับ





Monday, January 30, 2017

071 - ตีไกล ตอน 7 - เข้าปะทะลูกด้วยความเร่ง

ถึงเวลาที่เราจะพูดคุยเรื่องของวงสวิงเพื่อตีไดร์ฟเวอร์ให้ไกลขึ้น จากการศึกษาการสวิงของนักกอล์ฟที่มีวงสวิงค่อนข้างสม่ำเสมอจำนวนมาก พบว่านักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ใกล้เคียงกัน ใช้ไม้กอล์ฟเดียวกัน โดนกลางหน้าไม้เต็มๆเหมือนกัน แต่ความเร็วลูกกอล์ฟที่ได้ออกมาแตกต่างกันได้มากถึง 15-20 mph จะยิ่งแตกต่างกันมากในนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้มากขึ้น เมื่อสืบให้ลึกลงไป นี่คือแก่นความรู้ที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรมและมีความเป็นนามธรรมแฝงอยู่ ต้องใช้เครื่องมือในการวัดอย่างมีประสิทธิภาพจริงจึงจะพบความจริง

โดยธรรมชาติของการพยายามตีลูกกอล์ฟ นักกอล์ฟโดยส่วนใหญ่มักจะเริ่มเร่งความเร็วหัวไม้ลงมาตั้งแต่ topswing ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไปที่พยายามจะตีให้แรง โดยหวังว่าจะตีได้ไกลขึ้น แต่ในความเป็นจริงการปะทะลูกที่มีประสิทธิภาพมันไม่ได้มีกลไกในการทำงานอย่างนั้น สวิงที่มีประสิทธิภาพจริงๆจะเป็นกลไกที่เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากนัก แรงเหวี่ยงและแรงดึงดูดของโลกจะมีส่วนในการช่วยนำพาให้การเคลื่อนไหวของเราเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นจังหวะการเข้าลูกด้วยความเร่ง ... ตรงนี่สำคัญ กับคำว่า ความเร่ง มันไม่ใช่ความเร็วหัวไม้อย่างที่เรารู้จักกัน

ถ้าเราเคยเรียนกันมา ความเร่งจะมี 3 ประเภท คือ ความเร่งที่เป็นบวก, ความเร่งเป็นศูนย์ และ ความเร่งเป็นลบ ... อย่าเพิ่งตกใจ มันอธิบายให้เข้าใจได้ไม่ยาก เพราะกับการตีกอล์ฟให้ได้ระยะเราต้องทำให้หัวไม้เคลื่อนที่เข้าปะทะลูกด้วยความเร่งเป็นบวก ความเร่งที่เป็นบวกอธิบายง่ายๆก็คือ การที่หัวไม้เพิ่มความเร็วขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับการที่เราเหยีบคันเร่งแล้วเข็มความเร็วขยับเพิ่มขึ้นตามความเร็วของรถ ยิ่งถ้าเราเหยีบแรงขึ้น เข็มความเร็วก็จะตีเร็วขึ้นกว่าเดิม นั่นคือการที่เราเหยีบคันเร่งอย่างรวดเร็ว รถก็จะเพิ่มความเร็วอย่างรวดเร็ว ... รถเรามีความเร่งเพิ่มขึ้น เข้าใจหรือยัง ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ลองคิดดูว่า รถเราที่เร่งความเร็วจาก 0-100 mph ได้ภายในเวลา 12 วินาที ไปเทียบกับรถแข่ง F1 ที่ทำได้ในเวลาเพียง 3 วินาที นั่นคือรถแข่ง F1 มีความเร่งที่มากกว่ารถทั่วไปมากเป็น 4 เท่า




กลับมาที่วงสวิงยิ่งเราสามารถเร่งความเร็วเข้าหาลูกด้วยความเร่งที่มากเท่าไร โอกาสที่ Ball Speed ที่ออกจากหน้าไม้ก็จะยิ่งมากเท่านั้น จากความรู้เรื่องความเร่งทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่าทำไมถ้าเราพยายามเร่งความเร็วหัวไม้่จาก topswing ลงมา จึงทำให้เราตีได้ไม่ไกล อธิบายได้ง่ายๆตามรูปที่เปรียบเทียบนักกอล์ฟทางขวา พยายามเร่งความเร็วหัวไม้่เร็วเกินไป ณ ตำแหน่งที่ไม้ขนานพื้นขณะ downswing ความเร็วหัวไม้ก็มาถึงความเร็วสูงสุดที่ 100 mph แล้ว ดังนั้นหัวไม้จึงเข้าปะทะลูกกอล์ฟด้วยความเร่งเป็นศูนย์ นั่นคือหัวไม้ไม่มีความเร่งเข้าปะทะลูกกอล์ฟเลย ในขณะที่นักกอล์ฟทางซ้ายมือ ณ ตำแหน่งที่ไม้ขนานพื้นขณะ downswing ความเร็วหัวไม้อยู่เพียงแค่ 25 mph เอง แล้วเขาสามารถเร่งความเร็วหัวไม้ให้เข้าปะทะลูกไม้ที่ความเร็วสูงสุดที่ 100 mph ดังนั้นนักกอล์ฟคนนี้จึงมีความเร่งในการเข้าปะทะลูกที่เป็นบวก จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า นักกอล์ฟทั้งสองคนมีความเร็วหัวไม้สูงสุดตอนปะทะลูกเท่ากันที่ 100 mph แต่นักกอล์ฟทางด้านซ้ายจะเข้าปะทะลูกด้วยความเร่งที่มากกว่า จึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมคนทางซ้ายจึงตีได้ไกลกว่า ... นี่คือกลไกของการเกิด delay hit ซึ่งเป็นกลไกที่เป็นธรรมชาติที่เกิดก่อนการปะทะ ที่มองเห็นได้จากการถ่ายวีดีโอ




แต่ประสิทธิภาพของการปะทะลูกยังคงมีต่อซึ่งเป็นในส่วนหลังจากปะทะแล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่เกิดขึ้นสั้นมากๆที่นักกอล์ฟเท่านั้นที่รู้ นั่นคือความพยายามเร่งเข้าหาลูกไม่ได้หมดที่ลูกเท่านั้น นักกอล์ฟต้องพยายามเร่งผ่านลูกไป เหมือนกับการที่นักแข่งรถเหยีบมิดคันเร่งเข้าเส้นชัย หลังผ่านเส้นชัยไปแล้วเมื่อปล่อยคันเร่ง รถก็ยังคงวิ่งด้วยความเร็วต่อไป เช่นเดียวกับจังหวะการปะทะลูก เราก็ต้องเร่งความเร็วหัวไม้ต่อไปให้มันบี้ลูกกอล์ฟให้แบนที่สุดเพื่อสะสมพลังเข้าไปไว้ในลูกกอล์ฟ ลูกกอล์ฟจะได้พุ่งออกจากหน้าไม้ได้เร็วที่สุดเช่นกัน นักกอล์ฟที่เร่งหัวไม้ได้ถูกต้อง ท่าจบวงสวิงจึงสวยงามและเป็นธรรมชาติ เพราะความเร็วของหัวไม้ที่เราเร่งมาจะพาให้มันเคลื่อนไปจบสวิงตามธรรมชาติที่มันควรจะเป็นนั่นเอง




การเร่งเข้าปะทะลูก เป็นเรื่องของเทคนิคที่ไม่เกี่ยวกับความแข็งแรง ดังนั้นนักกอล์ฟทุกคนจึงสามารถพัฒนาทักษะในส่วนนี้ได้ นักกอล์ฟตัวเล็กก็ตีได้ไกลกว่านักกอล์ฟตัวใหญ่ๆก็เป็นไปได้ หากเรามีเทคนิคการสวิงที่ดี ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ


ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน




Sunday, January 29, 2017

070 - ตีไกล ตอน 6 - ใช้ลูกกอล์ฟตีไกล

ถ้าเป้าหมายคือการเพิ่มระยะะไดร์ฟของหัวไม้ ลูกกอล์ฟคือองค์ประกอบหนึ่งที่สามารถเพิ่มระยะได้อย่างทันทีทันใด นักกอล์ฟที่เคยใช้แต่ลูกกอล์ฟมือสองสภาพเก่าๆ แค่เปลี่ยนมาใช้ลูกกอล์ฟใหม่แกะกล่องก็จะเห็นระยะเพิ่มทันที อย่าให้ความพยายามทุกวิถีทางเพื่อทำให้ตีได้ไกลขึ้น มาตกม้าตายจากการใช้ลูกกอล์ฟที่ไม่เหมาะสมมาเป็นตัวแทนของความพยายามทั้งหมด

นักกอล์ฟส่วนใหญ่จะมีปัญหาไดร์ฟลูกกอล์ฟออกไปด้วยหัวไม้แล้วลูกตกแล้วหยุด ทำให้เสียโอกาสจากระยะที่ควรจะเพิ่มขึ้นจากการกลิ้งของลูกกอล์ฟ ต้นเหตุของปัญหานี้เกิดจากวิธีและมุมเข้าลูกที่ไม่เหมาะสม ทำให้เกิด back spin ที่มากเกินไป เป็นผลให้เกิดวิถีลูกที่เรียกกันว่า balloon มุมตกกระทบพื้นจะค่อนข้างชัน เมื่อร่วมกับ back spin ที่มาก จึงทำให้ลูกไม่กลิ้ง การเลือกใช้ลูกกอล์ฟที่มีผิวที่มีผิวแข็งขึ้น ที่ไม่ใช่ผิว Urethane อย่างลูกกอล์ฟในกลุ่มลูกโปร ที่โปรกอล์ฟและนักกอล์ฟฝีมือดีนิยมใช้ เลือกใช้ลูกประเภท Distance ส่วนนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ไม่มากนัก เลือกลูกกอล์ฟผู้หญิงเลย ก็เป็นทางเลือกที่ดี การใช้ลูกกอล์ฟที่มีผิวแข็งขึ้นยังช่วยลด Side Spin ซึ่งจะช่วยนักกอล์ฟที่ตีเฟดหรือสไลด์ เลี้ยวน้อยลง ซึ่งช่วยเพิ่มระยะไดร์ฟไปในตัวด้วย

การหาลูกกอล์ฟที่เหมาะสมกับนักกอล์ฟแต่ละคน ต้องอาศัยการทดลองด้วยตัวเอง ทดลองลูกกอล์ฟรุ่นต่างๆไปเรื่อยๆ จนเจอลูกกอล์ฟที่เป็นเนื้อคู่ แล้วก็ใช้ลูกกอล์ฟรุ่นนั้นๆเพียงรุ่นเดียวไปเลย แต่อย่าลืมใช้ลูกกอล์ฟใหม่หรือลูกมือสองที่สภาพดีๆหน่อย ถ้าอยากจะตีไดร์ฟเวอร์ให้ได้ระยะไกล และอย่าลืมเลือกลูกกอล์ฟให้ฟิตกับส่วนอื่นๆของเกมส์ด้วยนะครับ




Saturday, January 28, 2017

069 - ตีไกล ตอน 5 - ใช้กริปไม้กอล์ฟที่อยู่ในสภาพที่ดีเท่านั้น

ความลับของการจับกริปเพื่อตีให้ไกลขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่วิธีการเท่านั้น ตัวกริปบนไม้กอล์ฟเองก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เมื่อจุดประสงค์คือการจับกริปให้เบาที่สุดเท่าที่ยังจับกริปอยู่และไม้ไม่หลุดมือ แต่กริปที่เก่า มีผิวที่ลื่น ยึดเกาะได้ไม่ดี และมีขนาดที่ไม่เหมาะสม ก็จะทำให้นักกอล์ฟต้องออกแรงในฝ่ามือมากขึ้น เป็นผลให้เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งขัดขวางการสร้างความเร็วหัวไม้

เรื่องง่ายๆที่อยู่ในมือแค่นี้ หลายครั้งก็เป็นเส้นผมบังภูเขาได้ นักกอล์ฟควรทำความสะอาดกริปอย่างสม่ำเสมอ คลิกที่ลิงค์ด้านล่าง เพื่อดูวิธีการล้างทำความสะอาดกริปอย่างง่าย

http://www.teeintact.com/forum/index.php?topic=531.0

และนักกอล์ฟควรพิจารณาเปลี่ยนกริปของไม้กอล์ฟตามความเหมาะสม เข้าไปดูบทความด้านล่างนี้ จะช่วยเป็นแนวทางในการประเมินสภาพกริปของเราได้เป็นอย่างดี การเปลี่ยนกริปใหม่เพียงอย่างเดียว โดยทั่วไปจะเห็นระยะไดร์ฟเพิ่มขึ้นทันที ยิ่งถ้ากริปเดิมสภาพเก่ามากจะเห็นระยะเพิ่มขึ้นอย่างผิดหูผิดตา

http://www.teeintact.com/forum/index.php?topic=162.0

ส่วนการหาขนาดกริปที่เหมาะสมกับนักกอล์ฟแต่ละคน แนะนำให้ปรึกษา Clubfitter ที่อยู่ใกล้บ้าน ให้ Clubfitter แนะนำขนาดที่เหมาะสม ลองจับกริปขนาดที่เขาแนะนำดูว่าเรารู้สึกอย่างไร ลองเปลี่ยนแล้วเอาไปลองซ้อมและออกรอบ ถ้ารู้สึกว่ามันจับได้กระชับขึ้นกว่าเก่า ก็เยี่ยมเลย และควรเปลี่ยนกริปทุกอันในถุงให้มีขนาดเดียวกันให้หมด แต่ถ้ารู้สึกว่าขนาดกริปที่เปลี่ยนมาใหม่ มันเล็กหรือใหญ่ไปก็ปรึกษา Clubfitter ให้ปรับเปลี่ยนตามความต้องการของเราได้

นักกอล์ฟหลายคนวุ่นวายกับการแก้ไขพัฒนาโน่นนั่นนี้วุ่นวายไปหมดเพื่อตีให้ไกลขึ้น แต่เรื่องง่ายๆที่สำคัญมากๆอย่างกริปไม้กอล์ฟที่อยู่ในมือ กลับไม่ให้ความใส่ใจเท่าที่ควร ลองเปิดถุงดูกริปของเรา ว่ามันอยู่ในสภาพที่ดีหรือเปล่านะครับ การเปลี่ยนกริปหัวไม้ใหม่ คุ้มค่ากับการลงทุนเป็นที่สุด ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Friday, January 27, 2017

068 - ตีไกล ตอน 4 - จับกริปให้เบากว่าที่คิด

ความลับของการตีไกลอีกอันอยู่ในมือนี่เอง คือการจับกริปให้เบาที่สุดเท่าที่ยังจับกริปอยู่และไม้ไม่หลุดมือ ระดับความเบาแรงของนักกอล์ฟแต่ละคนไม่ ขึ้นอยู่กับกำลังของกล้ามเนื้อฝ่ามือและนิ้ว ทำให้การสื่อสารเรื่องน้ำหนักการจับกริปสร้างความสับสนให้นักกอล์ฟมากที่สุด 

จับกริปให้เบาจนรู้สึกว่าน้ำหนักลงที่หัวเต็มที่โดยที่กริปไม่ขยับในฝ่ามือ ให้คงฟิลลิ่งกริปเบาๆผ่อนคลายอย่างนี้ตลอดวงสวิง ไม่ต้องกังวลว่าไม้จะหลุดมือ เพราะจิตใต้สำนึกไม่มีวันยอมแน่ แรกๆจะฝืนหน่อย รอให้เจอช็อตที่อิมแพคท์ดีๆโดนๆ แน่นๆ เชี้ยะๆ ตอนจับกริปเบาๆสักช็อต จะรู้ซึ้งถึงและเข้าใจอารมณ์ของความเบาสบาย ไร้ความพยายาม จำฟิลลิ่งนี้ไว้ และพยายามทำมันให้ได้อย่างต่อเนื่อง

จับกริปให้เบาจะสัมพันธ์กับพลังของฝ่ามือที่พูดกันไปเมื่อวาน นักกอล์ฟที่มีพลังฝ่ามือที่ดี จะสร้างความเร็วหัวไม้สูงสุดโดยรักษาการจับกริปเบาที่ไม่ทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ซึ่งขัดขวางการเคลื่อนไหวอย่างธรรมชาติได้ดีกว่า เป็นผลทำให้สวิงหัวไม้ได้เร็วกว่า นักกอล์ฟที่จับกริปแน่นๆ เกร็ง แล้วเปลี่ยนมาจับกริปเบาขึ้น จะเห็นระยะการตีเพิ่มขึ้นอย่างเหลือเชื่อ ลองดูครับ ... พบกันพรุ่งนี้ ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้นะครับ





Thursday, January 26, 2017

067 - ตีไกล ตอน 3 - กำลังฝ่ามือพิชิตมาร

หลายคนอาจจะงงว่ากำลังฝ่ามือมันเกี่ยวกับการตีไกลได้อย่างไร นี่มันกอล์ฟนะ ไม่ใช่หนังกำลังภายใน แต่ที่จริงมันมีความสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะไม้กอล์ฟสัมผัสกับฝ่ามือของเรา การสวิงไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักด้วยความพยายามในการสร้างความเร็วหัวไม้ให้มากที่สุด ร่างกายจะตอบสนองโดยอัตโนมัติเพื่อไม่ให้ไม้กอล์ฟหลุดจากมือ นักกอล์ฟจะต้องใช้กล้ามเนื้อนิ้ว ฝ่ามือ และแขน ที่เกี่ยวข้องกัน เพื่อสร้างให้เกิดแรงสัมผัสในฝ่ามือที่มากพอให้กริปยังคงอยู่ในมือได้ ยิ่งสวิงไม้กอล์ฟเร็วมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งต้องการแรงในฝ่ามือต้านการหลุมมือมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนักกอล์ฟที่ฝ่ามือมีกำลังน้อย กล้ามเนื้อจะทำงานมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุของอาการเกร็ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเร็วหัวไม้



นักกอล์ฟสามารถพัฒนากล้ามเนื้อฝ่ามือโดยใช้อุปกรณ์ต้านแรงบีบ ไม่ว่าจะเป็นสปริงหรือเป็นลูกบอลก็ได้ การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อฝ่ามือง่ายๆนี้ จะรองรับการสร้างความเร็วหัวไม้ที่มากขึ้น โดยไม่เกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีผลต่อการตีไกล ลองเอาฝึกกันดูครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Wednesday, January 25, 2017

066 - ตีไกล ตอน 2 - ตีให้เข้า Sweet Spot



หน้าหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ทำงานเหมือน Trampoline ที่จะให้ประสิทธิภาพในการส่งพลังได้ดีที่สุดที่บริเวณ Sweet Spot, บริเวณ CG (Center of Gravity) ของหัวไม้ หรือบริเวณกลางหน้าไม้ เมื่อเรารู้แล้วว่าตำแหน่งปะทะบนหน้าไม้ของเราอยู่บริเวณที่ยังไม่เข้า Sweet Spot ก็มีวิธีการแก้ไขอย่างง่ายๆ ได้ดังนี้

1.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณใกล้คอไม้ (hosel)
ให้จรดลูกกอล์ฟออกไปห่างคอไม้ให้มากขึ้น แล้วตีให้เหมือนเดิม ตำแหน่งปะทะจะห่างคอไม้ออกไป แล้วหาตำแหน่งจรดที่เหมาะสมที่ตีเข้า Sweet Spot ให้เจอ



2.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณไกลคอไม้ (hosel)
ให้จรดลูกกอล์ฟเข้าใกล้คอไม้ให้มากขึ้น แล้วตีให้เหมือนเดิม ตำแหน่งปะทะจะเข้าใกล้คอไม้มากขึ้น แล้วหาตำแหน่งจรดที่เหมาะสมที่ตีเข้า Sweet Spot ให้เจอ

3.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณด้านล่างของหน้าไม้ (lower side)
ให้ปรับความสูงของทีร่วมกับการปรับตำแหน่งของลูกเทียบกับร่างกายในขณะจรดให้เหมาะสม แนวโน้มคือปรับความสูงทีให้สูงขึ้น และขยับตำแหน่งลูกกอล์ฟมาทางเท้าขวาให้มากขึ้น แล้วตีให้เหมือนเดิม ตำแหน่งปะทะจะสูงขึ้น แล้วหาตำแหน่งจรดที่เหมาะสมที่ตีเข้า Sweet Spot ให้เจอ

4.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณด้านบนของหน้าไม้ (higher side)
ให้ปรับความสูงของทีร่วมกับการปรับตำแหน่งของลูกเทียบกับร่างกายในขณะจรดให้เหมาะสม แนวโน้มคือปรับความสูงทีให้ต่ำลง และขยับตำแหน่งลูกกอล์ฟให้ห่างเท้าขวาให้มากขึ้น แล้วตีให้เหมือนเดิม ตำแหน่งปะทะจะต่ำลง แล้วหาตำแหน่งจรดที่เหมาะสมที่ตีเข้า Sweet Spot ให้เจอ

5.กระจัดกระจายทั่วหน้าไม้
ให้ลองจับโช็คให้สั้นลงดูว่ากลุ่มของตำแหน่งปะทะเล็กลงไหม ถ้าเล็กลงก็พิจารณาปรับไม้กอล์ฟให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความแม่นยำ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้น อาจจะฝึกซ้อมการตีเพื่อเพิ่มทักษะการตีลูกให้แม่นยำมากขึ้น

ลองเอาไปปรับใช้ดูครับ จากแค่ตีให้เข้า Sweet Spot ระยะก็เพิ่มให้เห็นอย่างรู้สึกได้แล้ว



Tuesday, January 24, 2017

065 - ตีไกล ตอน 1 - ตรวจสอบก่อนที่จะคิดเพิ่มระยะไดร์ฟเวอร์

เมื่อมีความคิดว่าอยากตีหัวไม้ไดร์ฟเวอร์ให้ไกลขึ้น สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดที่คุณควรทำคือ ไดร์ฟลูกกอล์ฟหลายๆลูกเพื่อตรวจสอบตำแหน่งปะทะบนหน้าไม้เพื่อดูว่าตำแหน่งปะทะและลักษณะการกระจายของจุดปะทะเป็นลักษณะใด เพื่อให้รู้สถานะข้อมูลเบื้องต้นว่า ณ ปัจจุบันคุณอยู่ที่ใด

สิ่งแรกที่ลักษณะการปะทะบนหน้าไม้บอกเรา คือ ความแม่นยำหรือความสม่ำเสมอในตำแหน่งปะทะ กลุ่มจุดปะทะยิ่งเล็กแสดงว่ายิ่งแม่น

ส่วนที่สองที่ลักษณะการปะทะบนหน้าไม้บอกเรา คือแนวโน้มของตำแหน่งปะทะ ซึ่งลักษณะการปะทะบนหน้าไม้แบ่งได้หลักๆเป็น 6 ประเภท

1.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณกลางหน้าไม้ (Sweet Spot)



2.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณใกล้คอไม้ (hosel)



3.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณไกลคอไม้ (toe)



4.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณด้านล่างของหน้าไม้ (lower side)



5.เป็นกลุ่มอยู่บนบริเวณด้านบนของหน้าไม้ (higher side)



6.กระจัดกระจายทั่วหน้าไม้




แนวโน้มของตำแหน่งปะทะจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการปะทะและส่งพลังไปยังลูกกอล์ฟ รวมถึงแนวโน้มของวิถีของลูกกอล์ฟ

ถ้าตำแหน่งปะทะยังไม่เป็นกลุ่มขนาดเล็กอยู่บริเวณ Sweet Spot หรือบริเวณกลางหน้าไม้ นักกอล์ฟยังมีโอกาสในการเพิ่มระยะได้อีกมาก แต่ในทางกลับกัน นักกอล์ฟก็สามารถขยับไปสู่ขั้นตอนต่อไปเพื่อหาทางเพิ่มระยะได้



Monday, January 23, 2017

064 - ตีไกลให้ได้เปรียบ

นักกอล์ฟทุกคนอยากตีไกล เพราะการตีไกลเป็นเหมือนเครื่องมือตอบสนอง ego สำหรับผู้ชาย เช่นเดียวกับการขับรถเร็ว การมีพระเครื่องที่สวยและหายาก การได้ควงสาวสวยอวดคนในที่สาธารณะ มันเป็นการตอบสนองความรู้สึกของผู้ชายในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่นักกอล์ฟต้องการจริงๆ คือตีไกลกว่าเพื่อนร่วมก๊วน นักกอล์ฟแต่ละคนมีความสุขกับเกมส์กอล์ฟแตกต่างกัน หลายคนตีกอล์ฟและมีความสุขจากการได้รู้สึกตีหัวไม้โดนๆ เสียงอิมแพคท์หวานๆ แล้วลูกพุ่งไปไกลสุดลูกหูลูกตา ให้เพื่อนได้รู้ว่ากูตีไกล ออกรอบทั้งวันขอแค่สักช็อตก็มีความสุขแล้ว สกอร์ไม่ค่อยสนใจนัก นักกอล์ฟประเภทนี้ก็มี แต่กับเกมส์กอล์ฟการตีไกลนั้นเป็นดาบสองคมเพราะระยะทางไม่ใช่องค์ประกอบเดียวของแต่ละช็อต การตีไกลให้ได้เปรียบนั้นต้องมาพร้อมทิศทางที่ดีด้วย เพราะคนตีไกลแต่ไม่ไปตามทิศทางที่ต้องการรังจะสร้างปัญหาเสียมากกว่า ไม่ว่าจะเข้าป่า หาลูกไม่พบ จบที่ OB พุ่งปรี่ลงน้ำ ซึ่งล้วนทำให้เสียทั้งเกมส์และสกอร์ แทนที่จะได้เปรียบ กลายเป็นเสียเปรียบด้วยซ้ำ

ถูกถามมามากว่าเมื่อไหร่จะเขียนถึงเรื่องเทคนิคตีไกลซะที เมื่อเรียกร้องกันมามากก็ถึงเวลาเรียกแขกด้วยการบทความเทคนิคตีไกล ที่จะรวบรวมจากประสบการณ์ทั้งด้านอุปกรณ์ ทำทีมแข่งขันลิโพตีไกล จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับโปรอาชีพในทัวร์ และความรู้ที่สะสมและทดสอบมาอย่างยาวนานแบบเค้นความรู้ทุกอย่างออกมาให้หมดจด ซึ่งบางอย่างก็เป็นได้เพียงแค่ความรู้ที่ทำได้ยากก็ประดับเป็นความรู้พอ แต่ส่วนใหญ่เอาไปใช้งานได้ ถ้าอยากอ่านช่วยกันกด Like หน่อย ... อย่าลืมว่าการตีไกลเป็นสิ่งที่เป็นดาบสองคม การตีไกลที่เป็นประโยชน์คือการตีไกลแล้วทำให้เราได้เปรียบ ... พบกับบทความที่ทุกคนรอคอยพรุ่งนี้ครับ






Sunday, January 22, 2017

063 - สรุปการเล่นกอล์ฟให้สนุกในระดับ 42+/- ได้อย่างสม่ำเสมอ

ผ่านมา 62 บทความ สรุปย่อแนวคิดหลักในการเล่นกอล์ฟให้สนุกอย่างสม่ำเสมอในระดับ 42+/- ได้ง่ายๆดังนี้

เล่นกอล์ฟให้สนุก = เล่นตามแผน + ไม่ทำหลุมเท

42+/- = แผน (3 ขอ 1 + 3 on 1 + 3 sink 1) + หลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดหลุมเททั้ง 9

ตลอด 62 บทความที่ผ่านมา จะไม่มีบทความไหนที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องของวงสวิงที่ซับซ้อน ยุ่งยากแต่ประการใด ซึ่งเป็นการยืนยันว่า นักกอล์ฟทุกคนสามารถตีให้สนุกสนานในสกอร์ระดับ 42+/- ได้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีวงสวิงที่ยอดเยี่ยมแต่ประการใด แค่มีวงสวิงที่พอจะตีได้ในระดับนึง มีแผนการเล่นที่ชัดเจนและการควบคุมสติอารมณ์ให้อยู่ในสภาวะทีเหมาะสมได้ ก็สามารถตีกอล์ฟได้กับทุกก๊วนอย่างสนุกสนานในระดับสกอร์ 42+/- ได้แล้ว แต่หากมีพื้นฐานวงสวิงที่ดีก็จะช่วยให้การทำให้สม่ำเสมอได้ง่ายขึ้น รวมทั้งประสบการณ์ในรายละเอียดของเกมส์กอล์ฟซึ่งเป็นสิ่งที่นักกอล์ฟต้องเจอ แต่หากเรียนจากความผิดพลาดของคนอื่น จะทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้น ไม่ต้องไปลองผิดลองถูก ซึ่งจะว่ากันในบทความต่อๆไป คอยติดตามนะครับ




หลีกเลี่ยงเหตุการณ์เกิดหลุมเททั้ง 9

นี่คือเหตุการณ์ที่เกิดหลุมเททั้ง 9 ที่นักกอล์ฟทุกคนควรรู้เท่าทัน และเตรียมตัวป้องกันเอาไว้ให้ดี

1. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 1 เริ่มที่ทีออฟ
2. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 2 ... เจ๊งเพราะอีโก้
3. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 3 ... เจ๊งเพราะเล่นเกินฝีมือ
4. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 4 ... สติแตก
5. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 5 ... อารมณ์ล้วน
6. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 6 ... หลีกเลี่ยงตีตกทราย
7. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 7 ... หลุมพาร์ 3 และอุปสรรคน้ำ
8. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 8 ... อย่าฝืนเล่น Unplayable Ball
9. หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 9 ... น้ำหนักการพัตต์สำคัญกว่าทิศทาง



Saturday, January 21, 2017

062 - Routine + Attitude

ถ้าหากตัวอักษร ภาษาอังกฤษ 26 ตัว
A B C D E F G H I J K L M N O P Q R S T U V W X Y Z
ทั้งหมดนี้ แปลงเป็นตัวเลข
1 2 3 4 5 6 7 8 9 10 11 12 13 14 15 16 17 18 19 20 21 22 23 24 25 26

ดังนั้น
Knowledge (ความรู้)
K+N+O+W+L+E+D+G+E = 11+14+15+23+12+5+4+7+5 = 96%

Workhard (ทำงานหนัก)
W+O+R+K+H+A+R+D = 23+15+18+11+8+1+18+4 = 98%

แสดงว่าความรู้กับการทำงานหนักมีความสำคัญเท่ากับ 96% และ 98% ต่อชีวิต

แล้ว LUCK (โชค ดวงดี)
L+U+C+K = 12+21+3+11 = 47%

LOVE (ความรัก)
L+O+V+E = 12+15+22+5 = 54%

ดูๆ แล้วสิ่งที่เรานึกว่าเป็นสิ่งสำคัญ ก็ไม่ได้สำคัญอย่างที่เราคิดไว้

แล้วอะไรหละ ที่จะเป็น 100% ของชีวิตคนเรา ?

มันคือ Money (เงินทอง) อย่างงั้นเหรอ ?
M+O+N+E+Y = 13+15+14+5+25 = 72%

ก็ไม่ใช่นะหรือว่าคือ Leadership (การเป็นผู้นำ)
L+E+A+D+E+R+S+H+I+P = 12+5+1+4+5+18+19+9+16 = 89%
ก็ยังไม่ใช่อีก
จริงๆ แล้วสิ่งที่จะทำให้ชีวิตเราเต็มร้อยนั่นก็คือ
ATTITUDE
(ทัศนคติ/ความคิด)
A+T+T+I+T+U+D+E = 1+20+20+9+20+21+4+5 = 100%

=====================================================================================================

เกริ่นมาซะยาวเชียว ก็แค่ขำๆนะครับ เพราะวันนี้จะพูดกันถึงเรื่องทัศนคติหรือความคิดบวกว่ามีส่วนสำคัญต่อเกมส์กอล์ฟมากแค่ไหน

ถึงแม้เกมส์กอล์ฟ 18 หลุม จะใช้เวลาที่ยาวนาน แต่อันที่จริงแล้วนักกอล์ฟไม่ได้โฟกัสอยู่กับเกมส์ตลอดเวลา แต่เป็นการมีสมาธิในช่วงเวลาสั้นๆของการตีแต่ละช็อต การสร้าง routine ในการลงมือแต่ละช็อต ด้วยขั้นตอนและวิธีการที่เหมือนเดิม มีส่วนช่วยสร้างสมาธิในการตีหรือการพัตต์ แต่ละคนมีวิธีการทำ routine ไม่เหมือนกัน เพียงขอให้สามารถทำซ้ำๆได้

สำหรับ routine ของน้องเม เอรียา จุฑานุกาล เธอจะเพิ่มทัศนคติที่ดีเข้าไปใน routine ด้วย โดยคิดว่าช็อตที่กำลังจะทำนี้เป็นช็อตที่ดี ฉันรักช็อตนี้ ยิ้มแล้วก็เข้าไปจรดแล้วลงมืออย่างไม่ลังเล แล้วก็ยอมรับผลที่ตามมา ทั้งช็อตตีและพัตต์เธอจะมี routine คล้ายๆกัน ต้องบอกว่า Attitude ที่ดีมีส่วนในความสำเร็จของเธอในวันนี้ ลองเอาไปใช้ดูครับ




Friday, January 20, 2017

061 - ควบคุมอารมณ์เดือดด้วยท่าเดิน

ทั้ง 9 เหตุการณ์ของการเกิดหลุมเทที่เราคุยกันในช่วงหลายวันที่ผ่านมา มีต้นเหตุเหมือนกันคือ การควบคุมอารมณ์ไม่อยู่เมื่อเกิดความผิดพลาด ทำให้เกิดความเสียหายต่อเนื่อง จนขาดสติในที่สุด ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์กอล์ฟ ความผิดหวังที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องปกติสำหรับนักกอล์ฟทุกคน การควบคุมอารมณ์เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในช็อตต่อไปจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุด

การเดินก้มหน้าและการมองต่ำเป็นภาษากายที่บ่งบอกอารมณ์ผิดหวัง เสียใจ รู้สึกด้อย ไม่มั่นใจ มันคืออารมณ์ที่ไม่ปกติ ตราบใดที่เรายังคงเดินก้มหน้า มองต่ำ คอตก อารมณ์เราจะไม่มีทางกลับมาสู่ภาวะปกติได้เลย สิ่งที่นักกอล์ฟควรทำคือ การใช้ภาษาทางกายปรับเปลี่ยนอารมณ์ หลังจากตีพลาดและเกิดอารมณ์ผิดหวัง ให้หายใจเข้าเต็มปอดลึกๆ และกั้นลมหายใจไว้เพื่อเตือนสติตัวเอง แล้วก้าวเดินไปด้วยการมองตรงไปข้างหน้า ไม่ก้มหน้า ไม่มองต่ำ ตลอดเวลาที่เดิน ถ้าเราสามารถฝืนอารมณ์ที่เป็นลบอยู่ด้วยภาษาท่าทางที่เป็นบวกแล้ว อารมณ์บวกของค่อยๆเข้ามาแทนที่อารมณ์ลบแล้วจิตใจของเราจะค่อยๆเย็นลงขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว และเมื่อเดินไปถึงตำแหน่งที่จะต้องตีช็อตต่อไป อารมณ์ของเราจะอยู่ในภาวะปกติ พร้อมที่จะตั้งใจทำช็อตต่อไปให้ดีที่สุด

อย่าลืมหลังตีทุกช็อตหายใจลึกๆ แล้วเดินตรงไม่ก้มหน้า ไม่มองต่ำ นี่คือจิตวิทยาที่ใช้ได้ผล ทำให้คุ้นเคยเป็น routine จนกลายเป็นนิสัย แล้วเราจะเห็นความแตกต่างในเกมส์ขึ้นอย่างแน่นอน เทคนิคนี้เอาไปใช้กับชีวิตประจำวันก็ได้นะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Thursday, January 19, 2017

060 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 9 ... น้ำหนักการพัตต์สำคัญกว่าทิศทาง

การพัตต์ให้ลงหลุมจะต้องมีองค์ประกอบที่ลงตัวของทั้งน้ำหนักการพัตต์และทิศทาง แต่เมื่อพัตต์ลูกกอล์ฟไม่ลงหลุม น้ำหนักการพัตต์สำคัญกว่าทิศทางเสมอ คำอธิบายทั้งหมดมีอยู่ในคลิป ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Wednesday, January 18, 2017

059 - ทำใจให้ได้กับความผิดพลาด

ส่วนที่ยากที่สุดของเกมส์กอล์ฟคือ การรักษาสภาวะจิตใจให้มั่นคง ต่อเนื่อง ยาวนานไปโดยตลอดการแข่งขัน นักกอล์ฟอาชีพต้องแข่งขันถึง 4 วัน ผู้ที่คว้าแชมป์มีเพียงคนเดียว โอกาสคว้าแชมป์มาได้ด้วยความฟรุ็คจึงไม่มี  ความผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของเกมส์กอล์ฟ นักกอล์ฟทุกคนผิดพลาด แม้แต่โปรอาชีพระดับโลกก็ยังพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ การรักษาสภาวะจิตให้มั่นคงหลังการทำผิดพลาดเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาดอย่างต่อเนื่องจึงเป็นที่สำคัญมาก

นักกอล์ฟสมัครเล่นก็เช่นกัน การยอมรับความผิดพลาดว่าเป็นส่วนหนึ่งของเกมส์ เรียนรู้ความไม่สมบูรณ์แบบ จะทำให้เราทำใจได้มากขึ้น ลืมความผิดพลาดและก้าวเดินต่อไป เพื่อทำให้ดีในช็อตต่อไป สิ่งที่เราเห็นโปรกอล์ฟในการแข่งขัน ตีช็อตสวยๆได้อย่างแม่นยำ นั่นคือด้านสว่างที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสนุกสนานและน่าติดตาม แต่ด้านมืดนั้นมีอยู่ เชิญชมในวีดีโอ แล้วเราจะยอมรับความผิดพลาดในเกมส์สมัรเล่นได้ง่ายขึ้น ... พบกันใหม่พรุ่งนี้






Tuesday, January 17, 2017

058 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 8 ... อย่าฝืนเล่น Unplayable Ball

Bernhard Langer เกิดหลุมเทในการแข่งขันรายการ Mitsubishi Electric Championship 2015 จากการฝืนเล่นลูกที่ตีพลาดไปตกอยู่ในแง่งหิน ทำให้เขาต้องสาระวนอยู่ในหมู่หินถึง 5 สโตรก ติดตามชมในคลิป




ถ้า Bernhard Langer ไม่ฝืนเล่นลูกกอล์ฟที่อยู่ในแง่งหินตั้งแต่แรก เขาสามารถประกาศว่าเป็น Unplayable Ball ยอมเสีย 1 สโตรกและมีทางเลือกให้กับชีวิตถึง 3 ทาง

1. กลับไปเล่นที่ตำแหน่งก่อนหน้า
2. หาตำแหน่งดร็อปเหมาะๆ โดยถอยหลังไปไกลแค่ไหนก็ได้ ตามแนวระหว่างธงกับตำแหน่งที่ลูกกอล์ฟอยู่
3. หาพื้นที่ที่มันเรียบๆ ดร็อปอยู่ภายใน 2 ไม้กอล์ฟ โดยที่ไม่เข้าใกล้หลุม

อย่าฝืนเล่น Unplayable Ball เพราะมันจะทำให้เกิดหลุมเทที่เกินเยียวยา ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Monday, January 16, 2017

057 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 7 ... หลุมพาร์ 3 และอุปสรรคน้ำ

หลุมพาร์ 3 ที่มีอุปสรรคน้ำเข้ามาอยู่ในช็อต โอกาสที่จะเกิดหลุมเทสำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ใจไม่แข็งพอ ยังไม่แม่นลูก ยังไม่มั่นใจกับวงสวิงและระยะเหล็กของตัวเอง และยิ่งธงที่ปักอยู่ในตำแหน่งที่น่าหวาดเสียวมากๆ การพยายามตียัดธงเพื่อให้ใกล้หลุม ยิ่งต้องการความแม่นยำเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นการเล่นหลุมพาร์ 3 เช่นนี้ ควรวางแผนให้ดี กลยุทธ์ safety first ยังควรเป็นแผนแรกที่คิดนำมาใช้ การเล็งไปที่แผ่นดินใหญ่ๆหรือกลางกรีน และเลือกเหล็กที่เรามั่นใจว่ามันข้ามน้ำได้อย่างแน่นอนเอาไว้ก่อน เพราะการตีตกน้ำ หมดโอกาสแก้ตัว และต้องขึ้นช็อตสามทันที ถึงแม้จะเปลี่ยนตำแหน่งดร็อปลูกก็ตาม แต่น้ำก็ยังคงมีน้ำเข้ามาอยู่ในเกมส์คล้ายๆเดิม แต่ที่เพิ่มเติมคือสภาวะจิตที่กดดันและเสียความมั่นใจไปแล้ว โอกาสที่จะตีผิดพลาดและตกน้ำจึงยิ่งมีมาก หากวางแผนไม่ดีและคิดจะเอาคืนให้ใกล้หลุม และจะกลายเป็นหลุมเทในที่สุด

หลุมพาร์ 3 ที่มีอุปสรรคน้ำและเป็นหลุมยากมากๆ การวางแผนทำโบกี้ ก็เป็นแผนที่ทำให้เราผ่อนคลายลงไปได้เยอะทีเดียว มีตัวอย่างโปรระดับโลกอย่าง Adam Scott และ Sergio Garcia ที่พลาดในหลุมพาร์ 3 ตีตกน้ำทำหลุมเทมาให้ดู ดูบรรยากาศ อารมณ์ที่เกิดขึ้น แล้วคิดดูว่าถ้าคุณตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับพวกเขา คุณจะทำอย่างไร แล้วเอาความคิดเช่นนั้นไปใช้กับเกมส์ของคุณ ... พรุ่งนี้พบกันครับ

Adams Scott


Sergio Garcia




Sunday, January 15, 2017

056 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 6 ... หลีกเลี่ยงตีตกทราย

การเล่นลูกในบังเกอร์สำหรับนักสมัครเล่น คืออีกสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดหลุมเทได้ง่าย ด้วยเหตุผลเหล่านี้

1.นักสมัครเล่นมีโอกาสซ้อมระเบิดทรายน้อยมาก ความชำนาญจึงมีน้อย
2.ทรายในบังเกอร์มีหลายลักษณะ ทั้งทรายป่น ทรายหยาบ ทรายเปียก ทรายแห้ง ซึ่งให้ผลที่ต่างกัน
3.ความสูงของขอบบังเกอร์ และตำแหน่งที่ลูกกอล์ฟอยู่ ก็มีผลของต่อลักษณะการเล่นเพื่อสร้างวิถีลูกกอล์ฟให้ข้ามขอบบังเกอร์ไปได้
4.ลักษณะที่ลูกกอล์ฟอยู่บนทรายที่ต่างกันก็มีวิธีเล่นที่แตกต่างกันออกไป ลูกลอยอยู่บนและลูกจมอยู่ในทรายก็เล่นต่างกัน ลูกกอล์ฟจมอยู่ในทรายลูกมากน้อยก็เล่นต่างกัน
5.ลักษณะของกรีน ทั้งสโลป ความเร็วของกรีน ตำแหน่งธง พื้นที่ตก ล้วนมีผลต่อลักษณะการเล่นลูกบังเกอร์ทั้งสิ้น
6.ตำแหน่งที่อยู่ของลูกในบังเกอร์ มีผลต่อท่าทางในการยืนจรด รับรองได้ว่าท่าจรดในบังเกอร์ข้างกรีนส่วนใหญ่ ไม่ใช่ท่ายืนจรดปกติอย่างแน่นอน ยิ่งทำให้การระเบิดทรายยากขึ้นทวีคูณ
7.เวลาที่เล่นลูกในทรายข้างกรีนมักมีเพื่อนร่วมก๊วนมาคอยยืนให้กำลังใจ ทั้งด้วยการแช่งในใจและพูดจาส่อเสียดหรือที่เรียกว่า mouth wedge
8.ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในทรายมักจะตามด้วยความผิดพลาดต่อเนื่อง ด้วยเหตุผลทางจิตวิทยา

ยอมรับหรือยังว่าการระเบิดทรายบังเกอร์ข้างกรีนยากเกินกว่าที่เราจะควบคุมได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่นักกอล์ฟสมัครเล่นจะเกิดหลุมเทเมื่อตกทรายข้างกรีน เพราะแม้แต่นักกอล์ฟอาชีพใน PGA Tour ก็ยังพลาดให้เห็นบ่อยๆ ดูตัวอย่างสองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเดียวกันที่หลุมเดียวกัน หลุม 10 ในรายการแข่งขัน Northern Trust Open 2015 โปรกอล์ฟที่มีชื่อเสียงทั้งสองคนระเบิดทรายพลาดเสียหายอย่างไม่น่าเชื่อ หวังว่าทุกคนจะคิดให้มากขึ้นเมื่อคิดจะตีช็อต approach ... พบกันใหม่พรุ่งนี้

Scott Piercy




Dustim Johnson




Saturday, January 14, 2017

055 - เรื่องของกอล์ฟเด็กที่ผู้ใหญ่ควรรู้

เนื่องในวันเด็กขออนุญาตเขียนเรื่องกอล์ฟเด็กให้เกิดประโยชน์กับนักกอล์ฟเยาวชนและผู้ปกครองที่กำลังสนับสนุนลูกหลานให้เล่นกีฬากอล์ฟ จากมุมมองและประสบการณ์ที่สัมผัสกีฬากอล์ฟในหลากหลายแง่มุม ปัญหาของนักกอล์ฟเยาวชนไทยและวงการกอล์ฟไทย ไม่ต่างจากระบบการศึกษาไทยที่มีผลต่อการสัมมาอาชีพของคนไทย

นักกอล์ฟเยาวชนไทย ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนไทยที่ตอนเป็นเด็กนี่ โค-ตะ-ระ เก่งเลย รายการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนระดับโลก เด็กไทยคว้าแชมป์เป็นว่าเล่น เด็กฝรั่งสู้เด็กไทยไม่ได้ เช่นเดียวกับการแข่งขันโอลิมปิควิชาการ ที่เราจะคุ้นเคยกันอย่างมากกับข่าวที่เด็กไทยคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิควิชาการทุกปี แต่แปลกตรงที่พอเวลาผ่านไปนักกอล์ฟและนักเรียนที่เก่งมากๆระดับโลกตอนเด็กหายไปไหนหมด ไม่เห็นออกมาเขย่าโลกในระดับอาชีพให้เห็นกันมากมายเหมือนตอนเด็กๆเลย

ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ "การไม่เข้าใจตามความเป็นจริง" การเล่นกอล์ฟและการศึกษาไปสู่ระดับอาชีพเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน แต่สังคมไทยกลับทำให้มันเป็นการวิ่งสปรินท์ระยะสั้น

ระยะรวมในการแข่งขันของนักกอล์ฟเยาวชนไทยจะยาวมาก ต้องเรียกว่ายาวเกินเหตุ เป็นผลให้เด็กเยาวชนต้องเบ่งกันเกินตัว พ่อแม่ก็หาอุปกรณ์ดีๆแพงๆ โมก้านกันเต็มเหนี่ยว เรียกว่าจัดเต็มกันตั้งแต่เด็ก แล้วก็ทำตามๆกันด้วย เพราะใครๆก็อยากให้ลูกตัวเองชนะทั้งนั้น ผู้ปกครองจึงสนับสนุนเต็มที่และยอมจ่าย จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่การแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศของนักกอล์ฟเยาวชนไทย เมื่อไปแข่งกับเด็กฝรั่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ปล่อยให้เด็กพัฒนาไปตามวัย เด็กไทยจึงตบเด็กฝรั่งหัวทิ่ม และเมื่อเด็กโตขึ้นการแข่งขันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะแชมป์สมัยเยาวชนมากองกันเป็นพะเนินอยู่ในทัวร์เต็มไปหมด เด็กที่เก่งมากๆ รู้จักแต่คำว่าแชมป์ตอนเด็กๆ พอเจอคนเก่งในชีวิตจริง หลายคนก็หมดกำลังใจ ท้อแท้ หลายคนทำใจไม่ได้ ล้มตายไประหว่างทางมากมาย ในขณะที่ขึ้นค่าใช้จ่ายจากการตีกอล์ฟและแข่งขันกอล์ฟก็มีโดยตลอด ผู้ปกครองไทยส่วนใหญ่จะปล่อยลอยคอลูกของตนให้ไปเผชิญชะตากรรมกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นภาระที่หนักหนาและกดดันมาก โปรกอล์ฟอาชีพจึงต้องหารายได้จากการสอน โฟกัสกับการซ้อมและการแข่งขันน้อยลง ผลการแข่งก็ไม่ไปไหนสักที เพราะการแข่งขันที่มีแต่ความคิดเรื่องค่าใช้จ่ายอยูในหัว ยากที่จะประสบความสำเร็จ สุดท้ายโปรกอล์ฟเหล่านี้ก็ล้มเลิกความฝันในการเป็นโปรกอล์ฟอาชีพในที่สุด นี่คือโมเดลความล้มเหลวของนักกอล์ฟอาชีพไทยที่คลาสสิคที่สุด เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติอย่างใหญ่หลวง เสียทั้งเวลาและเงินที่ลงทุนให้ลูกตีกอล์ฟมาอย่างยาวนาน ถ้าเป็นการลงทุนในทางธุรกิจก็ต้องเรียกว่าเจ๊ง เพราะขาดการวางแผนทางธุรกิจที่ดีตั้งแต่แรก และไม่เข้าใจว่าการเล่นกอล์ฟเป็นอาชีพคือการวิ่งมาราธอน และไปเร่งสปีดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเต็มที่ พอตอนใกล้จะเข้าใกล้เส้นชัยก็หมดแรง หมดเงิน โดนเพื่อนแซงไปหมด และส่วนใหญ่ก็หมดแรงก่อนเข้าเส้นชัยด้วยซ้ำ

เด็กนักเรียนไทยก็ไม่ต่างกัน เด็กสมัยนี้เรียนเร็วและเยอะมากกว่าสมัยก่อนมากๆ เด็กอนุบาลต้องเรียนอัดเรียนติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนประถมที่มีชื่อเสียง ประถม มัธยม มหาลัย ปริญญาโท MBA อัดกันเข้าไป พอเรียนจบมีความรู้มากมายก่ายกอง แต่กลับมาถามตัวเองว่า จริงๆแล้วเราชอบอะไรกันแน่ เกิดเป็นปัญหาเพราะไม่ได้คิด โรงเรียนไม่ได้สอนให้คิด ผมเองก็เป็นผลิตผลของระบบนี้ ที่ผ่านเส้นทางเดินเหล่านี้มาเช่นเดียวกัน และคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ควรจะเลิกวิถีเก่าๆภายใต้รูปแบบใหม่ๆเช่นนี้่ได้แล้ว วิชาแนะแนวเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆที่ควรจะมีตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่สมัยผมกลับได้รับการแนะแนวตอนมัธยมปลาย ถามตัวเองและพยายามค้นหาให้เจอว่าเราชอบอะไรให้เร็วที่สุด ตั้งธงไปทางนั้น แล้วค่อยไปหาเรียนรู้สิ่งที่ต้องรู้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่วันสิ้นสุดโดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ ไม่มีโรงเรียนกวดวิชาในชีวิตจริง โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อหาประโยชน์จากคนที่สับสนและวิ่งไปตามกระแสเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายืนยันชัดเจนแล้วว่าแนวทางที่เป็นอยู่มันไม่เวิร์ค ไม่เช่นนั้นเราคงเห็นโปรกอล์ฟอาชีพชายหญิงไทยสลับกันขึ้นมาสร้างความตื่นเต้นในระดับโลกให้คนไทยได้ลุ้นทุกสัปดาห์ คงได้เห็นคนไทยจำนวนมากสร้างนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในสาขาต่างๆ ถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราต้องเปลี่ยนความคิดผู้ใหญ่ก่อนที่จะใส่ความคิดใหม่เข้าไปในหัวเด็ก  แต่ถ้าเห็นว่าที่เป็นอยู่มันดีอยู่แล้ว สบายอยู่แล้ว ก็อยู่กันอย่างนี้ต่อไปชนชาติไทย ... พบกันใหม่วันพรุ่งนี้


ขอยืมภาพจากเว็บไซต์ http://www.juniorworldgolf.com/ เพื่อให้เห็นความเก่งกาจของเด็กไทยในระดับโลก




Friday, January 13, 2017

054 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 5 ... อารมณ์ล้วน

บนกรีนคืออีกสถานการณ์ที่นักกอล์ฟสามารถทำหลุมเท ได้อย่างไม่น่าเชื่อ



Hennie Otto โปรกอล์ฟชาวอัฟริกาใต้ทำถึง 6 พัตต์ในการแข่งขันรายการ Nashua Masters 2005 เพราะควบคุมอารมณ์ไม่อยู่

พัตต์แรก ... พัตต์ตกไลน์และลูกกลิ้งเลยหลุมไปไกลพอสมควร แล้วเขาก็แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวด้วยการสวิงลมด้วยพัตเตอร์
พัตต์สอง ... ตามด้วยการพัตต์โดยไม่ดูไลน์ แล้วก็พลาด
พัตต์สาม ... เคาะลูกกอล์ฟด้วยมือเดียวระยะใกล้มาก แล้วก็ไม่ลงหลุม
พัตต์สี่ ... ถึงตอนนี้อารมณ์เขาคงพลุ่งพล่าน ฟิวส์ขาดและควบคุมไม่ได้แล้ว จึงพัตต์ด้วยหลังพัตเตอร์ด้วยอาการประชด ลูกกลิ้งเลยหลุมไปไกลมาก
พัตต์ห้า ... ก็ยังไม่ดูไลน์ เดินเข้าไปพัตต์ทันที แล้วก็ไม่ลง
พัตต์หก ... ต้องมาจบด้วยพัตต์ที่หก

ใช้เวลาในการทำหกพัตต์ทั้งสิ้นเพียง 35 วินาที เดินทางจากแท่นทีออฟมาถึงกรีนตั้งไกลใช้แค่สองสโตรค แต่พัตต์ระยะไม่ถึง 10 ฟุตใช้ไป 6 สโตรค ... ไม่น่าเชื่อว่าอารมณ์จะทำได้ขนาดนี้

ดูตัวอย่างสิ่งที่ไม่ดี แต่อย่าเอาเป็นแบบอย่างนะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Thursday, January 12, 2017

053 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 4 ... สติแตก

หลุมเทเกิดขึ้นกับนักกอล์ฟทุกคน รวมทั้ง Kevin Na โปรกอล์ฟอาชีพใน PGA Tour ที่เคยคว้าแชมป์ใน PGA Tour และ Web.com Tour มาแล้ว โปรผู้นี้ทำสถิติสกอร์หลุมพาร์ 4 ที่ห่วยที่สุดใน PGA Tour ด้วยการตีทั้งหมด 16 ช็อต มาดูกันว่าเกิดอะไรขึ้น และมันเกิดขึ้นได้อย่างไร



เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในการแข่งขันรายการ Valero Texas Tournament 2011 ที่หลุม 9 ในวันแรกของการแข่งขัน จากสิ่งที่เกิดขึ้น Kevin Na น่าจะสติแตกตั้งแต่ต้องกลับมาตีช็อตที่สามที่แท่นทีออฟแล้ว และเมื่อเกิดความผิดพลาดทีออฟกลับเข้าไปในป่าเหมือนเดิม ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่เข้าไปอีก และลูกกอล์ฟก็เข้าไปอยู่ในป่าที่ไลน์ไม่ดี มีแต่ก้อนกรวดและกิ่งไม้ เขาต้องตีช็อตที่สี่ในสถานการณ์ที่เร่งรีบเพราะใช้เวลานานมากแล้ว และด้วย Kevin Na เป็นนักกอล์ฟที่ขึ้นชื่อเรื่องการเล่นช้า (slow play) อยู่แล้วการเล่นอย่างเร่งรีบ น่าจะเป็นผลให้เขาตีหลังลูกช็อตที่สี่ และที่แย่ยิ่งกว่าคือ ลูกกอล์ฟชนต้นไม้แล้วกระเด้งกลับมาชนตัวเขา ทำให้ต้องตีช็อตต่อไปเป็นช็อตที่หก ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก จนหยุดไม่อยู่ แล้วเขาก็ตัดสินใจผิดแทนที่จะกลับไปตีที่แท่นทีออฟ แต่ด้วยอีโก้ทำให้เขาตัดสินใจดร็อปลูกในป่า เพื่อตีช็อตที่เกินฝีมือ แล้วที่เหลือก็เป็นตำนาน กลายเป็นเรื่องตลก มีทั้งตีมือซ้าย ตีวืด มาครบ ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตีไปกี่ทีแล้วด้วยซ้ำ เวลาที่เกิดหลุมเทอย่างขาดสติทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากจริง ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดกับโปรกอล์ฟอาชีพระดับโลกและเกิดขึ้นในการแข่งขันที่มีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกด้วย

นี่คือตัวอย่างที่รวมความผิดพลาดที่เป็นต้นเหตุของหลุมเทในสามวันที่ผ่านมาได้อย่างสุดขั้วและชัดเจนที่สุด ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ




Wednesday, January 11, 2017

052 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 3 ... เจ๊งเพราะเล่นเกินฝีมือ

"ทีออฟเข้าไปในป่าด้านขวาของแฟร์เวย์ จากตำแหน่งลูกมองเห็นกรีนอยู่ด้านหน้า มีต้นไม้ขวางอยู่ แต่มีช่องพอให้ลุ้นตีขึ้นกรีนได้ แต่ก็เสี่ยงตีติดต้นไม้ ลังเล และในที่สุดตัดสินใจสู้ตีลอดช่องเพื่อลุ้นขึ้นกรีน ปรากฏว่าตีไปชนต้นไม้กระเด้งตกอยู่ในป่าเหมือนเดิม ก็ยังเห็นว่ามีโอกาสตีทะลุช่องขึ้นกรีนได้ จึงพยายามตีลอดช่องขึ้นกรีนสู้อีกครั้ง คราวนี้ชนเกี่ยวกิ่งไม้ตกน้ำ หลุมนี้ออก 8"

ความเสียหายที่เกิดขึ้นเกิดจากไม่พิจารณาความคุ้มค่าในการเสี่ยง ร่วมกับไม่ประเมินศักยภาพของตนเองในการตีช็อตนั้นๆ นักกอล์ฟสมัครเล่นมักมโนไปว่าตนเองสามารถเล่นช็อตตามที่จินตนาการได้ โดยไม่เคยคิดก่อนเลยว่า ช็อตเหล่านี้ต้องการทักษะที่ตนเองไม่เคยฝึกซ้อมเลย ไม่เหมือนกับโปรกอล์ฟที่มีทักษะในการควบคุมวิถีของลูกกอล์ฟจากการฝึกซ้อม ปัญหาของนักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่ก็คือ "เล่นกอล์ฟเกินฝีมือ" ซึ่งผลเสียไม่คุ้มความเสี่ยงในทุกกรณี ถ้านักกอล์ฟรู้จัก Course Management ใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์ รู้จักระงับสติอารมณ์จากการเล่นเกินฝีมือ ยอมรับความผิดพลาดว่าเราไดร์ฟพลาดแล้วยอมมอบตัวโดยการเลย์อัพกลับเข้าแฟร์เวย์เพื่อให้มีโอกาสตีขึ้นออนบนกรีนและมีลุ้นพัตต์พาร์ ถ้าคิดเช่นนี้ได้จะไม่เกิดหลุมเทจากความวู่วามอย่างแน่นอน ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ






Tuesday, January 10, 2017

051 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 2 ... เจ๊งเพราะอีโก้

"ทีออฟตรงและไกลกว่าเพื่อน ลูกอยู่บนแฟร์เวย์ เพื่อนที่ไดร์ฟสั้นกว่าตีช็อต approach ขึ้นไปออนกันหมดแล้ว แต่เรากลับตีช็อต approach ที่สั้นกว่าเพื่อน ตกน้ำ"

เบื้องหลังความผิดพลาดที่เกิดขึ้นที่แท้จริงคือ "อีโก้" มันไม่ใช่คน มันไม่ใช่กระเทยที่ชื่อโก้ แต่มันแอบอยู่ลึกๆในจิตใต้สำนึกของพวกเรา อีโก้เริ่่มทำงานตั้งแต่ทีออฟแล้ว ยิ่งไดร์ฟได้ตรงและไกลกว่าเพื่อน อีโก้หน้าบานเลย แต่พอเพื่อนที่ขึ้นไปอยู่ออนบนกรีนกันหมด คราวนี้อีโก้ยิ่งทำงานหนักกว่าเดิมอีก จากระยะ approach ที่สั้นกว่าเพื่อน อีโก้ยิ่งกดดันบังคับให้ต้องตีขึ้นไปออนให้ใกล้ธงกว่าเพื่อน เกิดเป็นความเกร็งและความคาดหวังที่สูง การตีได้ภายใต้สถานการณ์กดดัน นักกอล์ฟวงสวิงดีๆสม่ำเสมออย่างโปรกอล์ฟอาชีพยังพลาดให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ นับประสาอะไรกับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่จะตีพลาดอย่างง่ายๆ และยิ่งถ้าพลาดแบบเสียหายรุนแรง เช่นตีตกน้ำ ทำให้อีโก้เสียหน้าเป็นอย่างยิ่ง ผลคือสมาธิกระจัดกระจายเพราะสติกระเจิดกระเจิง จากการที่ต้องตีขึ้นกรีนเป็นช็อตที่ 4 โดยมีเพื่อนที่ไดร์ฟสั้นกว่ายืนรออยู่บนกรีนเพื่อพัตต์เบอร์ดี้ เป็นความรู้สึกสลดที่เหมือนหลุดออกจากเกมส์แข่งขัน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่นักกอล์ฟพร้อมจะทิ้งเกมส์ และทำให้เกิดหลุมเทได้ในทันที

สถานการณ์เช่นนี้เราต้องตั้งสติและตัดอีโก้ออกจากความคิดในทันที และตั้งเป้าหมายใหม่ว่าเรายังมีโอกาสตีขึ้นกรีนและทำพัตต์เดียว เพื่อออกโบกี้ได้ ซึ่งถ้าเพื่อนทะเล่อทะล่าทำ 3 พัตต์ก็ยังสกอร์ชนกับเราได้ เป้าหมายใหม่ที่ท้าทาย โดยไม่มีอีโก้เป็นตัวขับดัน จะทำให้เรารอดจากหลุมเทไปได้

ตีไกล ไดร์ฟตรง ถึงธง จ่ายตังค์ ... คือวลีคลาสสิคที่เป็นความจริงและเตือนนักกอล์ฟไปได้ตลอดกาลว่า อีโก้ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเกมส์กอล์ฟจบที่หลุม อีโก้พานักกอล์ฟเจ๊งกันมานักต่อนักแล้ว ขอเชิญไปไกลๆเลย แต่ในความเป็นจริงอีโก้มันอาศัยอยู่ลึกในจิตใจ ต้องอาศัยการฝึกฝนและควบคุมให้มันทำงานอย่างรู้กาลเทศะ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ




Monday, January 9, 2017

050 - หยุด ... หลุมเท เหตุการณ์ที่ 1 เริ่มที่ทีออฟ

ต้นเหตุของหลุมเทเกิดจากความคิดและทัศนคติลบที่เกิดขึ้นจากความผิดหวัง เกิดเป็นความโกรธตัวเอง ในบางคนโทษนั่นโทษนี่ โทษสิ่งแวดล้อม โทษแค๊ดดี้ แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงอดีตที่ขมขื่นได้ การหาวิธีเปลี่ยนความคิดคือหนทางเดียวที่ช่วยให้เราหยุดหลุมเท ก่อนที่มันจะเกิดขึ้น และสร้างความบาดเจ็บรุนแรง

มาลองพิจารณาเหตุการณ์แรกที่สร้างความผิดหวังกัน

"ทีออฟออก OB แล้วต้องทีออฟช็อตที่สามบนที"

ทีออฟด้วยความรู้สึกว่าไม่มีโอกาสทำได้ตามเป้าที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นโบกี้, พาร์ หรือเบอร์ดี้ เป็นความรู้สึกที่หดหู่ และสิ้นหวังอย่างยิ่ง วิธีที่จะสร้างความตื่นเต้นและกำจัดความหดหู่คือ การสร้างเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายให้ตามล่า คิดว่าลูก OB ที่พลาดไป 2 สโตรคเป็นของเกมส์เก่า ทีออฟจากนี้ไปคือเกมส์ใหม่ ช็อตทีออฟนี้คือช็อตแรกสำหรับเกมส์ใหม่ที่เรามีเป้าหมายอยู่ที่โบกี้, พาร์ หรือ เบอร์ดี้ ตามเป้าหมายดั้งเดิม ถ้าเราเล่นได้ตามเป้า สกอร์เราก็เสียเพิ่มแค่ 2 สโตรคเอง ซึ่งยังสามารถตีตื้นได้ในหลุมต่อๆไป ไม่เกิดเป็นหลุมเท เสียหายใหญ่โต

มุมมองและทัศนคติบวก จะช่วยให้เราเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่เลวร้ายได้ เพราะสิ่งที่เรารู้สึกว่ามันเลวร้าย มันไม่ได้เลวร้ายมากอย่างที่เราคิด ชีวิตก็มีขึ้นมีลง มีหลุม double bogie บ้างจะเป็นไรไป มีหลุม birbie มาช่วยบ้าง ก็ถัวๆกันไป ชีวิตโดยรวมก็ปกติสุขดีได้ เกมส์กอล์ฟก็เหมือนชีวิตจริงเลย ขอให้มีสติเข้าไว้ เราจะเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์

บทความผ่านมาครึ่งร้อยแล้ว ผู้เขียนยังรู้สึกสดชื่น และไม่อยากเชื่อตัวเองว่าตลอด 50 วันที่ผ่านมา จะเขียนบทความจากไอเดีย Original ที่สร้างสรรค์ในมุมมองรอบด้านในเกมส์กอล์ฟได้อย่างไม่ติดขัดเลย ขอบอกว่ายังมีสต๊อกไอเดียๆอยู่ในลิสต์ยังมีอยู่อีกเยอะ ติดตามและร่วมเดินทางกันต่อไปนะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Sunday, January 8, 2017

049 - หลุมเท

ตัวเลขบนสกอร์การ์ดในบางหลุมที่ออก 7, 8, 9, 10 สกอร์ออกตั้งแต่ triple  bogies หรือแย่กว่า ซึ่งเป็นสกอร์จากความผิดพลาดที่ผิดปกติ สร้างความเซ็งและปวดร้าวเป็นอย่างยิ่ง ถ้าตีมาดีทั้งวันแล้วมาเจอหลุมเทสักหลุม จะทำให้เกมส์สะดุดทันที

ทีออฟออก OB แล้วต้องทีออฟช็อตที่สามบนที, ทีออฟตรงและไกลกว่าเพื่อน ลูกอยู่บนแฟร์เวย์ เพื่อนที่ไดร์ฟสั้นกว่าตีช็อต approach ขึ้นไปออนกันหมดแล้ว แต่เรากลับตีช็อต approach ที่สั้นกว่าเพื่อน ตกน้ำ, ระเบิดทรายเพื่อลุ้นพาร์จากการทำ up and down ปรากฏว่าตีไม่ขึ้นจากทราย ตีอีกทีบินข้ามไปตกทรายฝั่งตรงข้าม ความรู้สึกเหล่านี้สร้างความผิดหวังและบั่นทอนสติเป็นอยางยิ่ง ซึ่งเป็นสถานการณ์เริ่มต้นที่นำไปสู่อาการเทในที่สุด

อาการเท เป็นผลจากความคาดหวังที่ไม่สัมฤทธิ์ผล นักกอล์ฟที่ตีผิดพลาดย่อมเกิดความผิดหวัง เมื่อไม่สามารถสลัดทิ้งความรู้สึกผิดหวังได้ ทำให้จิตยังคงยึดติดกับความผิดพลาดในอดีต จนลืมที่จะอยู่ปัจจุบัน กับสิ่งที่กำลังทำตรงหน้า จนทำให้ขาดความคิดที่เป็นเหตุเป็นผล ตามความเป็นจริง เกิดเป็นความผิดพลาดอย่างต่อเนื่องเสียหาย จนหลุดออกจากเกมส์ เข้าสู่ห้วงอารมณ์ ... ช่างแม่งงงง ... ข่าวดีก็คือ ไม่ว่าโปรกอล์ฟอาชีพหรือนักกอล์ฟสมัครเล่นทุกคนมีหลุมเททั้งนั้น เมื่อใดก็ตามที่ขาดสติ

การเตือนตัวเองตลอดเวลาเป็น routine ก่อนตี ว่าทุกช็อตมีความสำคัญ ถึงแม้จะเกิดความผิดพลาดเกิดขึ้นแล้ว การมีสติและโฟกัสกับทุกช็อต จะช่วยลดความเสียหายรุนแรงจนเกิดเป็นหลุมเทที่ทำให้เรารู้สึกเสียใจในภายหลังได้ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ





Friday, January 6, 2017

048 - Improvise Short Game

ลูกสั้นคือศิลปะแขนงหนึ่งในเกมส์กอล์ฟ ถ้าคุณเข้าใจองค์ประกอบสำคัญในการทำให้ช็อตที่กำลังจะตีได้ผลงานเป็นไปตามที่จินตนาการไว้ ไม่ว่าคุณอยู่ในสถานการณ์ไหนก็สามารถเอาตัวรอดได้อย่างน่าแปลกใจ




ตัวอย่างในคลิปคือช็อตที่ลูกกอล์ฟลงไปจมปริ่มอยู่ในน้ำขอบตลิ่ง ห่างจากกรีนประมาณ 20 หลา ซึ่งดูแล้วมีโอกาสตีให้ออนได้ เมื่อพิจารณาสภาพแวดล้อม ชั่งน้ำหนักความเสี่ยง และความน่าจะเป็น ดูแล้วคุ้มค่ากว่าการเสียดร็อป แต่ปัญหาคือตำแหน่งการยืนเป็นขอบตลิ่งที่ไม่สามารถยืนตีได้อย่างปกติ ต้องหาวิธีเข้า address อยู่นานกว่าจะเจอท่าอย่างที่เห็น ... จินตนาการลูกที่ลอยออกไป ... โฟกัส ... ลงมืออย่างไม่ลังเล ... แล้วลูกมันก็ลอยขึ้นไปออนบนกรีนได้ตามที่จินตนาการไว้ ... สภาพคนตีก็เป็นไปตามรูปที่เห็น แต่คุ้มค่า และได้ความรู้สึกที่ฟิน ... นนน มาก



การเล่นลูกสั้นคือการแก้ปัญหาสถานการณ์เฉพาะหน้า ที่เรียกว่า Improvisation เราไม่มีทางรู้เลยว่าลูกกอล์ฟจะไปตกอยู่บริเวณไหน ในสิ่งแวดล้อมที่สร้างสถานการณ์แบบใด นี่คือความสนุกของลูกสั้น ที่ท้าทายความสามารถและความสร้างสรรค์ ช่วยพลิกสถานการณ์และเซฟสกอร์อีกด้วย ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





047 - จะเล่นลูกสั้นรอบกรีนให้มันยากไปทำไม

เมื่อเราตีลูกไปตกอยู่บนหญ้าสั้นรอบๆกรีน แนวคิดในการเล่นลูกสั้นในสถานการณ์เช่นนี้ ควรเลือกวิธีการเล่นที่ง่ายและมีโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุดก่อนเสมอ

1.การพัตต์คือลูกสั้นที่ง่ายที่สุดและโอกาสผิดพลาดน้อยที่สุด เนื่องจากพัตเตอร์มี loft น้อย การพาหน้าไม้เข้าปะทะลูกกอล์ฟให้สม่ำเสมอจึงทำได้ง่ายที่สุด เหมาะกับการเล่นลูกสั้นที่อยู่บนหญ้าที่ค่อนข้างสั้น ที่พอคาดเดาน้ำหนักการพัตต์และทิศทางได้ การพัตต์ลูกประเภทนี้ต้องเผื่อน้ำหนักการพัตต์ช่วงที่ลูกกลิ้งผ่านหญ้ายาวให้ดี
2.ลูกชิพ (Chip) เป็นการเล่นลูกสั้นที่ลูกจะลอยต่ำ ตกลงกระทบพื้นแล้วกลิ้งเข้าหาหลุม เป็นลูกสั้นที่เล่นได้ง่ายและหวังผลได้สูง เนื่องจากลูกที่พุ่งต่ำๆเกิดจากการที่หน้าไม้ปะทะลูกกอล์ฟด้วย loft ที่น้อยกว่าองศาของเว็ดจ์ทั่วไป ด้วย dynamic loft ขณะที่ลูกกอล์ฟสัมผัสหน้าไม้ที่น้อยกว่า ลูกกอล์ฟจะปะทะหน้าไม้ได้เต็มกว่า ควบคุมการเกิดสปินได้สม่ำเสมอกว่า ผลงานจึงสม่ำเสมอและคาดเดาได้มากกว่า โอกาสพลาดก็น้อยกว่าด้วย  ถ้าเรารู้สัดส่วนของระยะตกและระยะกลิ้งของไม้ที่เราใช้เล่นลูกชิพแล้ว เราเพียงแค่คำนวณจุดตกด้วยการนับก้าวจากลูกถึงหลุมร่วมกับลักษณะไลน์และสโลปของกรีน แล้วก็ชิพลูกกอล์ฟให้ไปตก ณ ตำแหน่งที่นั้น ที่เหลือก็ปล่อยให้ลูกกลิ้งเข้าไปหาหลุมตามแผนเท่านั้นเอง การเล่นลูกชิพสามารถทำได้โดยการใช้เว็ดจ์ที่เราถนัดแล้ว deloft เอา หรือจะใช้เหล็กที่หน้าตั้งขึ้น เช่น PW หรือ เหล็ก 9 ก็ได้ แล้วแต่ความถนัด แต่แนะนำวิธีหลังมากกว่า และอย่าลืมว่าการเล่นลูกชิพแบบนี้ ตำแหน่งที่ลูกตกควรอยู่ในกรีนที่มีพื้นที่เป็นกรีนเรียบและ หลุมต้องห่างจากขอบกรีนเพียงพอให้ระยะกลิ้งเป็นไปตามสัดส่วนกับระยะตกที่คำนวณไว้
3.ลูกพิทช์ (Pitch) เป็นการเล่นที่ยากที่สุดในสามวิธี เนื่องจาก dynamic loft ขณะที่ลูกกอล์ฟสัมผัสหน้าไม้ที่มากกว่า ลูกกอล์ฟจะปะทะหน้าไม้ได้ไม่เต็มที่ สปินก็ควบคุมได้ยากกว่า ผลงานจึงไม่สม่ำเสมอและคาดเดาได้ยากกว่า โอกาสผิดพลาดจึงมีสูงตามไปด้วย สถานการณ์ที่จะเล่นลูกพิชท์ คือสถานการณ์บังคับที่การพัตต์และชิพทำไม่ได้ ได้แก่ ข้อจำกัดเรื่องพื้นการตกที่จำกัด ธงปักอยู่ใกล้ขอบกรีน ไม่มีพื้นที่มากพอให้ลูกตกและกลิ้งเข้าหาหลุม หรือพื้นที่จากลูกถึงหลุมเป็นสโลปทางลงที่ชัน ซึ่งทั้งสองสถานการณ์ไม่สามารถเล่นลูกชิพได้ การเล่นลูกพิทช์ที่โด่งและมีสปินมากจึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่า หรือสถานการณ์ที่เส้นทางจากลูกถึงหลุมมีไลน์และสโลปที่ซับซ้อนและคาดเดายาก การพิทช์ให้ลูกลอยข้ามพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การเล่นลูกสั้นเป็นศิลปะ ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิด ตราบใดที่เราสามารถทำให้ลูกลงหลุมหรือเข้าไปใกล้หลุมได้ ถือว่าใช้ได้ แต่อย่าลืมเลือกการเล่นให้ง่ายที่สุดไว้ก่อน และที่สำคัญ อย่าเล่นเกินฝีมือ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Thursday, January 5, 2017

046 - ระเบิดทรายไม่ให้ขายหน้า

Bunker คืออุปสรรคทรายที่ผู้ออกแบบสนามตั้งใจสร้างขึ้นมาลงโทษการตีที่ผิดพลาด และทำให้เกมส์มีสีสัน น่าตื่นเต้นมากขึ้น แต่ Bunker Shot เป็นการแก้ไขด้วยลูกสั้นที่นักกอล์ฟสมัครเล่นเสียช็อตมากที่สุดช็อตหนึ่ง คำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการเล่น Bunker Shot คือ อย่าตีลง Bunker ... ล้อเล่น

คำแนะนำเมื่อคุณตีพลาดไปตก Bunker คือ

1.เมื่อเราตีตกทรายรอบๆกรีน ให้รีบเดินไปที่ลูก ถ้าไม่กีดขวางการเล่นของเพื่อน ให้เข้าเล่นก่อนที่เพื่อนจะมายืนเชียร์และกดดัน เพราะเมื่อเกิดการผิดพลาดในทรายเกิดขึ้น โอกาสตีเสียต่อเนื่องจะมีมาก เนื่องจากขาดสติเพราะเร่งตีและไม่อยากให้ทุกคนบนกรีนยืนรอ ยิ่งเร่งก็ยิ่งพลาด และถ้าเกิดตีพลาดไม่ว่าจะตีไม่ออกนอกทรายหรือบินข้ามไปตกทรายอีกฟาก ให้รวบรวมสติ และอย่าลืม routine ในการเริ่มตีช็อตใหม่ แม้แต่โปรอาชีพที่ไร้สติก็ยังรั่วและเทให้เห็นออกทีวี



2.เป้าหมายของการระเบิดทรายคือ เอาลูกออกจากทรายให้ได้ก่อน คีย์อยู่ที่การระเบิดทรายคือการตีหลังลูกประมาณ 1 นิ้วและเมื่อหน้าไม้สัมผัสทรายจะต้องห้ามหยุด ให้ follow through ให้ผ่านทรายให้ได้ นักกอล์ฟสมัครเล่นที่ไม่สามารถตีออกจากทรายได้ เกิดจากการหยุดการเร่งหน้าไม้เอาชนะแรงต้านของทรายนั่นเอง การแก้ปัญหานี้คือ ก่อนเข้าตีให้ประเมินน้ำหนักที่จะตีและหาตำแหน่งจบสวิง ซ้อมท่าจบสวิงว่าเราจะจบสวิงที่ตำแหน่งไหน และเมื่อเข้าตีก็เพียงแค่ตีให้โดนทรายหลังลูก 1 นิ้วและให้ไปจบสวิงที่ตำแหน่งที่ซ้อมไว้ให้ได้ จะทำให้เราไม่หยุดการเร่งหน้าไม้เมื่อผ่านแรงต้านของทราย ส่วนการควบคุมให้ใกล้เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยาก เพราะการระเบิดทรายที่เหมาะสม ลูกกอล์ฟเคลื่อนที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะกับหน้าไม้ แต่เกิดจากการที่หน้าไม้เคลื่อนที่ผ่านทรายและอุ้มลูกกอล์ฟให้ลอยขึ้น ดังนั้นการควบคุมระยะจึงทำได้ยากกว่าการพิทช์ และปัจจัยที่คาดเดาไม่ได้อีกหลายอย่าง ทั้งทรายเปียก ทรายแห้ง ทรายหยาบ ทรายละเอียด ไลน์ที่ลูกกอล์ฟอยู่ พื้นที่ที่บังคับลักษณะการยืน ความสูงของขอบบังเกอร์ที่บังคับให้ควบคุมวิถีลูกแตกต่างไปจากปกติ ลักษณะของกรีนและพื้นที่ตกบนกรีน หลากหลายองค์ประกอบที่ยากเกินกว่าจะควบคุมได้ จึงแนะนำว่าอยู่ไปคาดหวังกับการระเบิดทรายให้ใกล้ธง โฟกัสที่การเอาลูกออกจากทรายให้ได้ก่อน และเข้าไปอยู่ในระยะ 7 ฟุตตามที่ซ้อมพัตต์มา จะไม่กดดันตัวเองเกินไป และยังพอมีโอกาสเก็บพัตต์เดียวได้

3.ลูกกอล์ฟที่จมในทราย หรือที่เรียกว่าไข่ดาว จะมีเทคนิคในการเล่นที่ต่างออกไป คีย์คือ การให้ตีให้หน้าไม้ปะทะลูกกอล์ฟให้เต็มที่สุด ดังนั้นไม้กอล์ฟจะต้องเข้าปะทะลูกในมุมที่ชันกว่าปกติและตีอัดเน้นๆเข้าไปที่ลูกเต็มๆ โดยไม่ต้อง follow through

การเล่นในทรายไม่ยากอย่างที่นักกอล์ฟกลัวกัน เพียงเข้าใจและทำสิ่งสำคัญให้ถูกต้องเท่านั้น อ่านอีกรอบ แกะเอาประเด็นสำคัญไปใช้งาน รับรองว่า Bunker Shot จะเป็นช็อตขนมที่คุณจะเลิกกลัวอีกต่อไป แต่อย่าลืมนะครับว่าคำแนะนำที่ดีที่สุดสำหรับการเล่น Bunker Shot คือ อย่าตีลง Bunker ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Wednesday, January 4, 2017

045 - เทคนิคการพิทช์ระยะต่างๆด้วยเว็ดจ์อันเดียว

พิทช์ (Pitch) คือการเล่นลูกสั้นด้วยวงสวิงปกติด้วยเว็ดจ์เพื่อให้ได้ระยะตามต้องการ วิถีลูกจะโด่งปกติตามองศาของเว็ดจ์ที่ใช้ แต่ระยะจะสั้นยาวตามต้องการขึ้นอยู่กับเทคนิคที่ใช้ เทคนิคที่แนะนำคือระยะ backswing และการโช็คตำแหน่งการจับกริป

นักกอล์ฟควรหาระยะการพิทช์ด้วยระยะ backswing ที่แตกต่างกัน 4 ระยะ ได้แก่ ระยะเต็มวง, ระยะ 3/4 ของวง , ระยะ 1/2 หรือระยะครึ่งวง และ ระยะ 1/3 ของวง ระยะของการ backswing ทั้ง 4 มากน้อยแค่ไหน ควรเป็นระยะของการ backswing ที่ทำให้เกิดระยะห่างระหว่างระยะทั้ง 4 ออกมาใกล้เคียงกัน แล้วจำความรู้สึกของตำแหน่ง backswing ทั้ง 4 เอาไว้ให้ดี

ตัวอย่างเช่น ใช้เว็ดจ์ 56 องศา
สวิงเต็มวง ระยะ 100 หลา
สวิง 3/4 ของวง ระยะ 75 หลา
สวิง ครึ่งวง ระยะ 50 หลา
สวิง 1/2 ของวง ระยะ 25 หลา

จากนั้นโช็คตำแหน่งจับกริปให้ต่ำลงเพื่อตีด้วยระยะ backswing ที่แตกต่างกัน 4 ระยะ

ตัวอย่างเช่น ใช้เว็ดจ์ 56 องศา
สวิงเต็มวง (โช็ค) ระยะ 85 หลา
สวิง 3/4 ของวง (โช็ค) ระยะ 65 หลา
สวิง ครึ่งวง (โช็ค) ระยะ 35 หลา
สวิง 1/2 ของวง (โช็ค) ระยะ 15 หลา

 นักกอล์ฟแต่ละคนมีระยะพิทช์ทั้ง 8 ระยะที่แตกต่างกันเอาไว้ใช้งานในสถานการณ์จริง แต่ถ้าระยะที่ต้องตีอยู่ระหว่าง 8 ระยะนี้ นักกอล์ฟจะต้องเพิ่มลดระยะ backswing ร่วมกับการโช็คมากน้อยตามเหมาะสม ยิ่งเราออกรอบและมีประสบการณ์จากการพิทช์ที่รู้ระยะที่แน่นอนจาก rangefinder จะทำให้เราพัฒนาฟิลลิ่งในการพิทช์ตามระยะ เกิดเป็นสัญชาตญานจากการใช้เทคนิคทั้งสองร่วมกันได้อย่างแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ ลองเอาไปประยุกต์ใช้ดูครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้




Tuesday, January 3, 2017

044 - เลือกเว็ดจ์อันเดียวเพื่อเล่นลูกสั้นทุกสถานการณ์อย่างไร

หัวเรื่องคือคำถามที่มีนักกอล์ฟอยากรู้และจะตอบอย่างละเอียดในวันนี้ การเลือกเว็ดจ์จะต้องอธิบายองค์ประกอบของเว็ดจ์ทั้งหมดที่มีผลต่อการเล่นลูกสั้นที่หลากหลาย ทั้งพิทช์ (Pitch), ชิพ (Chip), ระเบิดทราย (Bunker) และช็อตแก้ปัญหาสารพัด

1.Loft องศาของเว็ดจ์สำหรับเล่นลูกที่หลากหลายควร อยู่ประมาณ 54-58 เพราะเป็นองศากลางๆที่ปรับเปลี่ยนวิถีบอลจากต่ำถึงสูงได้อย่างครอบคลุม ผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ผลิตรุ่นที่หลากหลายในองศาช่วงนี้ นักกอล์ฟที่เล่นกอล์ฟอยู่แล้วควรเริ่มจากพิจารณาตนเองก่อนว่า องศาไหนที่เราถนัดมากที่สุด ใช้บ่อยที่สุด โดยส่วนตัวแล้วใช้ 56 องศา

2.bounce เป็นอีกเรื่องของเว็ดจ์ที่สร้างความสับสนให้กับนักกอล์ฟมากที่สุด เพราะการออกแบบ bounce มีองค์ประกอบหลายประการ แต่ที่มีผลต่อการใช้งานจะมี 3 ส่วน ได้แก่ ลักษะณะการเจียร bounce, ความกว้างของฐาน bounce และองศา bounce

ขอยืมภาพเว็ดจ์ Titleist ซึ่งมีลักษะณะการเจียร bounce ที่ต่างกันทั้ง 5 แบบ มาช่วยอธิบายให้นักกอล์ฟได้เข้าใจกัน การเลือกลักษะณะการเจียร bounce ขึ้นอยู่กับลักษณะของมุมเข้าลูกของนักกอล์ฟและลักษณะของพื้นผิวสนามที่เล่น สิ่งที่ต่างกันของ bounce ทั้ง 5 แบบ คือลักษณะการเจีย Trailing Edge และความกว้างของฐาน bounce (Bounce Width)

จำเอาไว้ว่า Trailing Edge ยิ่งคม, ฐาน bounce ยิ่งกว้าง และ องศา bounce ยิ่งมาก bounce จะทำงานมากขึ้น ช่วยลดการขุด (dig) ในนักกอล์ฟที่มีมุมเข้าลูกแบบกดลงและเหมาะกับการเล่นในสนามที่มีพื้นผิวนุ่ม ภาพเว็ดจ์ขวามือสุดคือการออกแบบที่ช่วยลดการขุดมากที่สุด เว็ดจ์ทางซ้ายไล่ระดับ bounce ที่มีการเจียร Trailing Edge ให้มน และฐาน bounce แคบลงตามลำดับ จำไว้ว่า Trailing Edge ยิ่งมน, ฐาน bounce ยิ่งแคบ และองศา bounce ยิ่งน้อย เว็ดจ์จะขุดมากขึ้น การทำงานของ bounce จะน้อยลง ซึ่งจะเหมาะกับนักกอล์ฟที่มีลักษณะการเข้าลูกแบบกวาด และเหมาะกับพื้นผิวสนามที่ออกไปทางแห้งแข็งหรือหญ้าเตียน

สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นส่วนใหญ่จะมีแนวเข้าลูกแบบกวาด และยิ่งถ้าเล่นบนพื้นหญ้าออกไปทางแข็งและเตียน ควรพิจารณาลักษณะ bounce แบบที่มีการเจียร Trailing Edge ลักษณะประมาณ S-Grind (รูปกลาง) และ M-Grind (ซ้ายของรูปกลาง) ที่มี bounce ประมาณ 8-12 องศา เพื่อใช้เล่นลูกสั้นที่หลากหลาย แต่ถ้าเว็ดจ์ที่คุณใช้ได้ดี ไม่ได้มี bounce ตามที่ว่ามา ก็ไม่มีปัญหาแต่ประการใด แบบไหนที่มันดีกับเรา ก็ใช้แบบนั้นเลย

3.Shaft ก้านเว็ดจ์ส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักและความแข็งไปทางมาก เพื่อให้การควบคุมระยะและทิศทางทำได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้ารู้สึกว่ามันหนักหรือแข็งเกินไปก็ให้เลือกใช้ก้านเหล็กที่มีน้ำหนักเบาหรืออ่อนลงได้ตามเหมาะสม แต่ก็ไม่ควรใช้ก้านที่อ่อนและเบาเกินไปที่จะสร้างปัญหาที่ทำให้ความแม่นยำลดลง

4.Grip การเล่นลูกสั้นที่หลากหลาย จะมีการเปิดปิดหน้าไม้ให้สัมพันธ์กับลักษณะช็อตที่จะเล่น กริปที่เหมาะสมคือกริปกลมที่เราจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างในมือเมือเราเปิดปิดหน้าไม้ ไม่ควรใช้กริปมีสัน

5.Length เว็ดจ์ควรมีความยาวน้อยกว่าหรือเท่ากับความยาวของชุดเหล็กที่สั้นที่สุดในถุง

นี่คือองค์ประกอบหลักที่สำคัญในการเลือกเว็ดจ์อันเดียวเพื่อเล่นลูกสั้นทุกสถานการณ์ ลองนำไปใช้พิจารณาเลือกเว็ดจ์ของท่านดูนะครับ หวังว่าจะตอบคำถามได้อย่างชัดเจน เป็นที่พอใจนะครับคุณป๊อบ นักกอล์ฟที่มีคำถามสงสัยประการใด เชิญสอบถามได้เลยครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้





Monday, January 2, 2017

043 - เล่นลูกสั้นด้วยเว็ดจ์อันเดียว

ลูกสั้นคือช็อตที่ใช้งานมากอันดับสองต่อจากพัตเตอร์สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ไม่มีทักษะในการสวิงที่สมบูรณ์อย่างโปรกอล์ฟ การตีช็อตขึ้นกรีนให้โดนเต็มเพื่อได้ระยะและทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องง่าย ความผิดพลาดส่วนใหญ่จึงเป็นการตีสั้นและผิดทิศทางไปทางซ้ายหรือขวา สุดท้ายลูกกอล์ฟส่วนใหญ่ก็ไม่หยุดอยู่บนกรีนอย่างที่ตั้งใจ เหลือเป็นช็อตระยะสั้นที่ตีต้องไม่เต็มวงเอาไว้ให้แก้ไข

ลูกสั้นในศัพย์ภาษาอังกฤษมีสองประเภทที่นักกอล์ฟไทยมักใช้กันอย่างสับสน ได้แก่ พิทช์ (Pitch) คือ ลูกสั้นที่เล่นด้วยวงสวิงปกติแต่ตีไม่เต็มวง วิถีลูกจะโด่งปกติตามองศาของเว็ดจ์แต่ระยะจะสั้นยาวตามระยะการแบ็คสวิง และ ชิพ (Chip) คือ ลูกสั้นที่พยายามเล่นลูกให้เคลื่อนที่เข้าหากรีนอย่างต่ำๆ เพื่อให้ลูกกลิ้งเข้าหาหลุมตามระยะที่คาดหวังไว้ หลักการในการเล่นลูกสั้นทั้งสองแบบมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ พยายามเล่นให้ง่ายเข้าไว้ อย่าทำให้ซับซ้อน

นักกอล์ฟมักมีคำถามว่าควรใช้เว็ดจ์กี่อัน กี่องศาดี ซึ่งเป็นคำตอบที่ต้องระมัดระวังการตอบเป็นอย่างยิ่ง เพราะนักกอล์ฟแต่ละคนมีแนวคิดและวิธีการเกมส์ลูกสั้นที่แตกต่างกัน มีทักษะที่แตกต่างกัน มีเวลาในการฝึกซ้อมมากน้อยไม่เท่ากัน เล่นสนามที่มีลักษณะและสภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งมีส่วนต่อการเลือกใช้เว็ดจ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าให้แนะนำนักกอล์ฟสมัครเล่นเรื่องการเล่นลูกสั้น จะแนะนำให้เล่นลูกสั้นด้วยเว็ดจ์ให้น้อยตัวมากที่สุด เพราะลูกสั้นเป็นช็อตที่ตีไม่เต็มวง การควบคุมระยะจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึง การเล่นลูกสั้นด้วยเว็ดจ์หลายๆอันจะทำให้เกมส์ซับซ้อนขึ้นอย่างไม่จำเป็น ถ้าสามารถเล่นลูกสั้นทุกประเภททั้งพิทช์ ชิพ และระเบิดทรายได้ด้วยเว็ดจ์เพียงอันเดียว ทักษะและความคุ้นเคยในการใช้เว็ดจ์เพียงอันเดียวจะพัฒนาได้อย่างรวดเร็วมาก ทั้งการควบคุมระยะทาง ทิศทาง วิถีลูกกอล์ฟและสปิน จะเกิดเป็นความรู้สึกเหมือนสัญชาตญานได้เร็วกว่าการใช้เว็ดจ์หลายๆอัน

การใช้เว็ดจ์อันเดียวในการเล่นลูกสั้นจะทำให้เราเกิดสัญชาตญานต่อระยะในการตี ยิ่งถ้าเราออกรอบและใช้ Rangefinder วัดระยะถึงธง การพิทช์ขึ้นกรีนที่เรารู้ระยะถึงหลุมที่แน่นอนจะทำให้เราเกิดทักษะในการตีตามระยะอย่างอัตโนมัติ ในที่สุดจะเกิดเป็น feeling ในการควบคุมระยะอย่างอัตโนมัติ และการเล่นเว็ดจ์อันเดียว เราจะมีความมั่นใจและคุ้นเคยในการควบคุมน้ำหนัก ทิศทาง ลูกโด่งต่ำ สปินมากน้อย ตกหยุด ตกวิ่งได้อย่างสร้างสรรค์หลากหลาย ซึ่งเป็นศิลปะของลูกสั้นที่เราไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ที่จะต้องเล่นได้เลย นักกอล์ฟที่เล่นลูกสั้นได้ดีและสม่ำเสมอ จะมีความสามารถในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งการเล่นลูกสั้นด้วยเว็ดจ์อันเดียวช่วยได้มาก จากการสะสมความมั่นใจและความไว้ใจให้กับไม้กอล์ฟเพื่อนยากอันหนึ่งที่ผ่านเรื่องร้ายๆมาด้วยกันมากมายและก็เอาตัวรอดมาด้วยกันได้เสมอ เกิดเป็นความสัมพันธ์ ความไว้ใจ ความรู้ใจ ความมั่นใจ ที่จับเว็ดจ์อันนี้ก็สามารถเล่นช็อตที่ต้องการได้โดยไม่ต้องคิด เหมือนดั่งเป็นอวัยวะชิ้นหนึ่ง

ยิ่งถ้าคุณเป็นนักกอล์ฟสมัครเล่นที่ไม่มีเวลาซ้อม เล่นอยู่ในสนามที่ไม่ได้มีคอนดิชั่นและเลย์เอาท์ที่พิสดาร แนะนำให้ใช้เว็ดจ์อันเดียว ลุยทุกสถานการณ์ ความสัมพันธ์ของคุณกับเว็ดจ์คู่ใจจะแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มันจะเป็นเหมือนเพื่อนปลอบใจในทุกๆครั้งที่คุณตีช็อตขึ้นกรีนพลาด เมื่อทุกครั้งที่คุณจับเว็ดจ์เพื่อนยากนี้ มันจะคอยปลอบใจคุณจากเรื่องผิดหวัง สร้างความมั่นใจให้คุณ และพาผ่านเรื่องร้ายๆไปด้วยกันในที่สุด ... พบกันใหม่พรุ่งนี้ครับ




Sunday, January 1, 2017

042 - ชื่นชอบ ... หมกมุ่น ... หลงไหล ... คลั่งไคล้

ขอเริ่มปีใหม่ 2560 ด้วยวีดีโอคลิปนี้



ทุกคนในวีดีโอคลิปนี้แสดงทักษะที่ดูแล้วไม่ธรรมดา ที่เราเห็นแล้วชื่นชม เพราะพวกเขาสามารถทำงานที่ดูธรรมดาๆ ได้ดูพิเศษแตกต่างจากวิถีทั่วไปที่เราคาดหวัง คุ้นเคย และคิดว่าควรจะเป็น เรียกได้ว่า Amazing

สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้ ว่าพวกเขาทุกคนมีเหมือนกัน คือสีหน้าแห่งความสุขในงานและสิ่งที่ทำตรงหน้า เชื่อได้ว่าถ้าพวกเขาไม่มีความสุขในสิ่งที่ทำ คงจะไม่มีโอกาสที่จะทำสิ่งง่ายๆให้ดูแตกต่างจนถึงขั้นน่าทึ่งได้ขนาดนี้ ... ความชอบ

ถ้าพวกเขาไม่ฝึกฝน ฝึกซ้อม ให้เวลาอยู่กับมันด้วยความพยายามที่เกินปกติ ก็คงจะไม่เกิดความชำนาญในทักษะที่ดูรวดเร็ว ว่องไว เพลินตา ... หมกมุ่น

ถ้าพวกเขาไม่ตั้งอกตั้งใจที่จะทำพัฒนาปรับปรุงงานที่กำลังทำอยู่ ให้เร็วขึ้น ให้ดีขึ้น ด้วยเทคนิคที่ไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน เราก็คงเห็นบุคคลเหล่านี้เป็นเหมือนคนทำงานคนอื่นๆ ... หลงใหล

ถ้าที่ผ่านมา พวกเขาหยุดพัฒนาและปรับปรุงสิ่งที่พวกเขาทำให้ดีขึ้น ให้เร็วขึ้น ด้วยเทคนิคใหม่ๆมาอย่างต่อเนื่อง คงจะมีคนอื่นที่ทำสิ่งเดียวกันนี้ได้เร็วกว่า มีประสิทธิภาพกว่า น่าสนใจกว่า และพวกเขาก็คงจะไม่มีวันนี้ ... คลั่งไคล้

เชื่อได้ว่าทุกสาขาอาชีพ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยิ่งใหญ่หรือเรื่องที่ดูเล็กน้อย สามารถสร้างความ Amazing ได้ เพียงเริ่มจากความชอบ ให้เวลาฝึกฝนและอยู่กับมันอย่างหมกมุ่น ตั้งอกตั้งใจคิดปรับปรุงด้วยความหลงไหล และพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนด้วยความคลั่งไคล้ แล้วทุกความชำนาญจะสร้างผลงานที่ก่อให้เกิดสุขให้กับตนเองและส่งผ่านต่อไปยังผู้คนรอบข้างในที่สุด

ปีใหม่นี้ ขอให้ทุกคนมีความสุขในทุกสิ่งที่ทำและทำด้วยความสนุก ไม่ว่าจะเรื่องงาน ครอบครัว เรื่องกอล์ฟ หรือคิดค้นสิ่งที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน ... ปีใหม่นี้ผมเองก็มีความท้าทายใหม่ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่องและขับเคลื่อนด้วยความชอบและความสนุกมาโดยตลอด ซึ่งใกล้ถึงเวลาที่จะแบ่งปันให้กับทุกคนแล้ว และยังมีความท้าทายกับการเดินทางไกลวันละบทความบน blog นี้ จนครบ 1,000 บทความ... พบกันใหม่วันพรุ่งนี้ ... สวัสดีปีใหม่ครับ