Saturday, January 14, 2017

055 - เรื่องของกอล์ฟเด็กที่ผู้ใหญ่ควรรู้

เนื่องในวันเด็กขออนุญาตเขียนเรื่องกอล์ฟเด็กให้เกิดประโยชน์กับนักกอล์ฟเยาวชนและผู้ปกครองที่กำลังสนับสนุนลูกหลานให้เล่นกีฬากอล์ฟ จากมุมมองและประสบการณ์ที่สัมผัสกีฬากอล์ฟในหลากหลายแง่มุม ปัญหาของนักกอล์ฟเยาวชนไทยและวงการกอล์ฟไทย ไม่ต่างจากระบบการศึกษาไทยที่มีผลต่อการสัมมาอาชีพของคนไทย

นักกอล์ฟเยาวชนไทย ไม่ต่างจากเด็กนักเรียนไทยที่ตอนเป็นเด็กนี่ โค-ตะ-ระ เก่งเลย รายการแข่งขันกอล์ฟเยาวชนระดับโลก เด็กไทยคว้าแชมป์เป็นว่าเล่น เด็กฝรั่งสู้เด็กไทยไม่ได้ เช่นเดียวกับการแข่งขันโอลิมปิควิชาการ ที่เราจะคุ้นเคยกันอย่างมากกับข่าวที่เด็กไทยคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิควิชาการทุกปี แต่แปลกตรงที่พอเวลาผ่านไปนักกอล์ฟและนักเรียนที่เก่งมากๆระดับโลกตอนเด็กหายไปไหนหมด ไม่เห็นออกมาเขย่าโลกในระดับอาชีพให้เห็นกันมากมายเหมือนตอนเด็กๆเลย

ต้นเหตุของปัญหาอยู่ที่ "การไม่เข้าใจตามความเป็นจริง" การเล่นกอล์ฟและการศึกษาไปสู่ระดับอาชีพเปรียบได้กับการวิ่งมาราธอน แต่สังคมไทยกลับทำให้มันเป็นการวิ่งสปรินท์ระยะสั้น

ระยะรวมในการแข่งขันของนักกอล์ฟเยาวชนไทยจะยาวมาก ต้องเรียกว่ายาวเกินเหตุ เป็นผลให้เด็กเยาวชนต้องเบ่งกันเกินตัว พ่อแม่ก็หาอุปกรณ์ดีๆแพงๆ โมก้านกันเต็มเหนี่ยว เรียกว่าจัดเต็มกันตั้งแต่เด็ก แล้วก็ทำตามๆกันด้วย เพราะใครๆก็อยากให้ลูกตัวเองชนะทั้งนั้น ผู้ปกครองจึงสนับสนุนเต็มที่และยอมจ่าย จึงไม่เป็นที่แปลกใจที่การแข่งขันที่รุนแรงภายในประเทศของนักกอล์ฟเยาวชนไทย เมื่อไปแข่งกับเด็กฝรั่งที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ปล่อยให้เด็กพัฒนาไปตามวัย เด็กไทยจึงตบเด็กฝรั่งหัวทิ่ม และเมื่อเด็กโตขึ้นการแข่งขันก็ยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะแชมป์สมัยเยาวชนมากองกันเป็นพะเนินอยู่ในทัวร์เต็มไปหมด เด็กที่เก่งมากๆ รู้จักแต่คำว่าแชมป์ตอนเด็กๆ พอเจอคนเก่งในชีวิตจริง หลายคนก็หมดกำลังใจ ท้อแท้ หลายคนทำใจไม่ได้ ล้มตายไประหว่างทางมากมาย ในขณะที่ขึ้นค่าใช้จ่ายจากการตีกอล์ฟและแข่งขันกอล์ฟก็มีโดยตลอด ผู้ปกครองไทยส่วนใหญ่จะปล่อยลอยคอลูกของตนให้ไปเผชิญชะตากรรมกับค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นภาระที่หนักหนาและกดดันมาก โปรกอล์ฟอาชีพจึงต้องหารายได้จากการสอน โฟกัสกับการซ้อมและการแข่งขันน้อยลง ผลการแข่งก็ไม่ไปไหนสักที เพราะการแข่งขันที่มีแต่ความคิดเรื่องค่าใช้จ่ายอยูในหัว ยากที่จะประสบความสำเร็จ สุดท้ายโปรกอล์ฟเหล่านี้ก็ล้มเลิกความฝันในการเป็นโปรกอล์ฟอาชีพในที่สุด นี่คือโมเดลความล้มเหลวของนักกอล์ฟอาชีพไทยที่คลาสสิคที่สุด เป็นการสูญเสียทรัพยากรของชาติอย่างใหญ่หลวง เสียทั้งเวลาและเงินที่ลงทุนให้ลูกตีกอล์ฟมาอย่างยาวนาน ถ้าเป็นการลงทุนในทางธุรกิจก็ต้องเรียกว่าเจ๊ง เพราะขาดการวางแผนทางธุรกิจที่ดีตั้งแต่แรก และไม่เข้าใจว่าการเล่นกอล์ฟเป็นอาชีพคือการวิ่งมาราธอน และไปเร่งสปีดตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเต็มที่ พอตอนใกล้จะเข้าใกล้เส้นชัยก็หมดแรง หมดเงิน โดนเพื่อนแซงไปหมด และส่วนใหญ่ก็หมดแรงก่อนเข้าเส้นชัยด้วยซ้ำ

เด็กนักเรียนไทยก็ไม่ต่างกัน เด็กสมัยนี้เรียนเร็วและเยอะมากกว่าสมัยก่อนมากๆ เด็กอนุบาลต้องเรียนอัดเรียนติวเพื่อสอบเข้าโรงเรียนประถมที่มีชื่อเสียง ประถม มัธยม มหาลัย ปริญญาโท MBA อัดกันเข้าไป พอเรียนจบมีความรู้มากมายก่ายกอง แต่กลับมาถามตัวเองว่า จริงๆแล้วเราชอบอะไรกันแน่ เกิดเป็นปัญหาเพราะไม่ได้คิด โรงเรียนไม่ได้สอนให้คิด ผมเองก็เป็นผลิตผลของระบบนี้ ที่ผ่านเส้นทางเดินเหล่านี้มาเช่นเดียวกัน และคิดว่าเด็กรุ่นใหม่ควรจะเลิกวิถีเก่าๆภายใต้รูปแบบใหม่ๆเช่นนี้่ได้แล้ว วิชาแนะแนวเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆที่ควรจะมีตั้งแต่ระดับอนุบาล แต่สมัยผมกลับได้รับการแนะแนวตอนมัธยมปลาย ถามตัวเองและพยายามค้นหาให้เจอว่าเราชอบอะไรให้เร็วที่สุด ตั้งธงไปทางนั้น แล้วค่อยไปหาเรียนรู้สิ่งที่ต้องรู้เพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่วันสิ้นสุดโดยไม่ต้องให้ใครมาบังคับ ไม่มีโรงเรียนกวดวิชาในชีวิตจริง โรงเรียนกวดวิชาที่เปิดเต็มบ้านเต็มเมืองเพื่อหาประโยชน์จากคนที่สับสนและวิ่งไปตามกระแสเท่านั้น

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมายืนยันชัดเจนแล้วว่าแนวทางที่เป็นอยู่มันไม่เวิร์ค ไม่เช่นนั้นเราคงเห็นโปรกอล์ฟอาชีพชายหญิงไทยสลับกันขึ้นมาสร้างความตื่นเต้นในระดับโลกให้คนไทยได้ลุ้นทุกสัปดาห์ คงได้เห็นคนไทยจำนวนมากสร้างนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับโลกในสาขาต่างๆ ถ้าเราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เราต้องเปลี่ยนความคิดผู้ใหญ่ก่อนที่จะใส่ความคิดใหม่เข้าไปในหัวเด็ก  แต่ถ้าเห็นว่าที่เป็นอยู่มันดีอยู่แล้ว สบายอยู่แล้ว ก็อยู่กันอย่างนี้ต่อไปชนชาติไทย ... พบกันใหม่วันพรุ่งนี้


ขอยืมภาพจากเว็บไซต์ http://www.juniorworldgolf.com/ เพื่อให้เห็นความเก่งกาจของเด็กไทยในระดับโลก




No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.