Tuesday, December 27, 2016

037 - ว่าด้วยเรื่องพัตเตอร์และเนื้อคู่

พัตเตอร์ในท้องตลาดมีมากมายหลายแบบ หลากยี่ห้อ ซึ่งสร้างความปวดเศียรให้นักกอล์ฟมากเช่นกัน สำหรับนักกอล์ฟที่ยังไม่เจอพัตเตอร์เนื้อคู่ วันนี้จะแนะนำการพิจารณาพัตเตอร์ที่ตรงประเด็นอย่างที่สุด

พัตเตอร์มีองค์ประกอบหลัก 5 ส่วน คือ หัวพัตเตอร์, คอพัตเตอร์, ก้าน, กริป และ Balance ของพัตเตอร์

1.หัวพัตเตอร์มีมากมายดีไซน์ แต่จะแยกหลักๆเป็นแบบทรงขาไก่, Anser และ Mallet
ทรงขาไก่ (traditional) คือทรงคลาสิคที่นิยมใช้มาอย่างยาวนาน จนเมื่อ Ping ได้ออกแบบพัตเตอร์รุ่น Anser ออกขายและสร้างความนิยมและการยอมรับในวงกว้าง Anser จนทุกยี่ห้อผลิตตามกันเต็มไปหมดและเรียกทรงนี้ว่า Anser ส่วนทรง Mallet คือทรงที่มีขนาดใหญ่และแตกต่างไปจากทรง Anser โดยรวมจะถูกเรียกว่า Mallet



2.คอพัตเตอร์สามารถออกแบบให้มีความแตกต่างกัน ซึ่งจะสร้างผลต่อคุณสมบัติ 3 อย่าง คือ

2.1 Balance ของหน้าพัตเตอร์เวลาวางพัตเตอร์ให้สมดุลย์บนนิ้ว - คอไม้ที่ทำให้แนวก้านผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์จะเป็นพัตเตอร์แบบ Face Balance , คอไม้ที่แนวก้านไม่ผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์แต่เยื้องเข้ามาใกล้ทาง Heel จะเป็นพัตเตอร์แบบ Toe Hang หรือ Toe Weighted ส่วนคอไม้ที่แนวก้านไม่ผ่านจุดศูนย์ถ่วง CG (Center of Gravity) ของพัตเตอร์แต่เยื้องเข้ามาใกล้ทาง Toe จะเป็นพัตเตอร์แบบ Heel Hang หรือ Heel Weighted


พัตเตอร์ที่มี Balance แบบเดียวกัน สามารถออกแบบคอพัตเตอร์ให้แตกต่างกันได้หลากหลายรูปแบบ ดูตัวอย่างในภาพประกอบจะเห็นพัตเตอร์ 6 แบบ ที่มีคอพัตเตอร์ต่างกัน แต่เมื่อวางให้สมดุลย์บนนิ้วจะเป็นพัตเตอร์ Face Balance ที่หน้าพัตเตอร์จะหงายขึ้นฟ้าเหมือนกัน พัตเตอร์ Toe Hang และ Heel Hang ก็เช่นเดียวกัน สามารถออกแบบคอพัตเตอร์ให้มีหน้าตาแตกต่างกันออกไปได้หลากหลายแต่ให้ผล Balance เหมือนกัน





2.2 Offset คือ แนวของก้านเทียบกับหน้าพัตเตอร์ พัตเตอร์ที่หน้าพัตเตอร์อยู่หลังแนวก้านเรียก Offset และพัตเตอร์ที่หน้าพัตเตอร์อยู่หน้าแนวก้านเรียก Onset

2.3 Appearance คอที่ให้คุณสมบัติ Balance และ Offset แบบเดียวกัน สามารถออกแบบให้หน้าตาแตกต่างกันได้ ซึ่งจะมีผลต่อความรู้สึกของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ดูภาพประกอบพัตเตอร์ที่มี Balance แต่มีคอที่ต่างกัน เวลาจรดดูจะเห็นมุมมองที่แตกต่างกัน




3.ก้านพัตเตอร์ มีผลต่อการพัตต์ค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะเป็นก้านเหล็กที่มีน้ำหนัก  อาจจะมีพัตเตอร์หรือก้านพัตเตอร์บางรุ่นที่ออกแบบโดยใช้วัสดุอื่นเพื่อสร้างความรู้สึกที่แตกต่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

4.กริปพัตเตอร์ มีมากมายหลายยี่ห้อที่แตกต่างกันทั้ง รูปแบบ รูปทรง ขนาด ความยาว น้ำหนัก สีสัน วัสดุ พื้นผิว ซึ่งให้คุณสมบัติและความรู้สึกที่แตกต่างกัน

5.Balance ของพัตเตอร์คือ ความรู้สึกของพัตเตอร์เมื่อพัตเตอร์อยู่ในมือของนักกอล์ฟ

กลับมาที่คำแนะนำในการเลือกพัตเตอร์ สิ่งที่สำคัญของพัตเตอร์ไล่ตามลำดับดังนี้

1.ความยาวของพัตเตอร์ ที่ทำให้ท่ายืนพัตต์เหมาะสม เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
2.ทรงของหัวพัตเตอร์ เอาที่เห็นแล้วชอบและอยากพัตต์เลย และเมื่อลองพัตต์แล้วรู้สึกว่าพัตต์ได้ง่าย
3.คอพัตเตอร์ที่เหมาะสม จะถูกแสดงออกมาเวลาลองพัตต์ ถ้าพัตต์แล้วใช่ ลูกกอล์ฟมันจะวิ่งตรงเข้าหลุมอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องปรับตำแหน่งลูก ลักษณะการยืน วิธีการพัตต์ให้วุ่นวาย คือถ้ามันเวิร์คกับวิธีการพัตต์ของเรา ก็คือใช่เลย
4.กริปพัตเตอร์ ให้สนใจขนาดกริปเป็นอันดับแรก กริปพัตเตอร์ผิดไปในทางขนาดใหญ่ จะเป็นมิตรมากกว่ากริปที่มีขนาดเล็ก
5.อย่าใส่ใจกับ Balance มากจนเกินเหตุ เอาความรู้สึกของเราเป็นหลัก ไม่ต้องไปใส่ใจข้อมูลทางเทคนิค น้ำหนักรวม swingweight อะไรให้วุ่นวาย รู้มากก็ปวดหัว เพราะคนเราไม่ได้ sensitive ขนาดที่จะจับความแตกต่างได้ละเอียดมากนัก และความแปลกไปในองค์ประกอบของพัตเตอร์ที่หลากหลายมีผลมากกว่านัก สนใจกับการพัตต์ให้มาก แล้วใช้ความรู้สึกและผลการพัตต์ประเมินพัตเตอร์แต่ละอัน เรื่องของ Balance เป็นเรื่องรอง (minor) ไม่ใช่เรื่องหลัก (major) อย่าง 4 ข้อแรก จะปรับ Balance พัตเตอร์ ก็ต่อเมื่อ 4 ข้อแรกผ่าน ซึ่ง Clubmaker และ Clubfitter ช่วยได้

แนะนำว่าควรจะรู้ความยาวพัตเตอร์ที่เหมาะสมกับตัวเองก่อน แล้วไปยืนลองพัตต์พัตเตอร์ที่ยาวเหมาะกับเราในร้านที่มีพัตเตอร์ที่หลากหลายแบบให้ลอง แล้วพิจารณาพัตเตอร์ทั้ง 5 องค์ประกอบ และเลือกพัตเตอร์ตามคำแนะนำในการเลือกพัตเตอร์ทั้ง 5 ข้อ หาไปเรื่อยๆจนกว่าจะเจอพัตเตอร์เนื้่อคู่ที่จะอยู่ในถุงกอล์ฟคุณไปตลอดชีวิต เพราะการเลือกพัตเตอร์มีความรู้สึกเข้ามาร่วมเยอะมาก ทั้งสี ลวดลาย ลักษณะผิว ความรู้สีกเวลามองเห็นโดยรอบพัตเตอร์ ความรู้สึกจากการมองเห็นเวลาจรด ความรู้สึกจากการปะทะ วัสดุที่ใช้ ... และอีกเยอะ ซึ่งรายละเอียดที่ไม่ได้พูดถึงเหล่านี้ไม่ใช่ปัจจัยหลัก เป็นเรื่องของรสนิยมส่วนตัว เหมือนหญิงสาวที่ความสวย น่ารักแตกต่างกันไป แล้วแต่คนมองคนชอบ กว่าคนๆนึงจะเจอเนื้อคู่จริงๆต้องใช้เวลา ตอนที่ลองอาจจะรู้สึกว่าใช่ แต่พอมาใช้ชีวิตร่วมกันอาจจะไม่รู้สึกเหมือนตอนลองคบกันก็มีถมไป เหมือนในชีวิตจริงเลย และอีกอย่างพัตเตอร์แพงๆ ที่ทุกคนเขาว่าดี เห็นโปรในทีวีใช้กันเยอะแยะ ก็อย่าเพิ่งด่วนเชื่อด่วนตัดสินใจ เสียใจกันมานักต่อนักแล้ว ให้ลองด้วยตัวเองก่อน เนื้อคู่คุณอาจจะเป็นแค่พัตเตอร์เน่าๆที่คุณซื้อมาในราคา 100 บาทจากร้านขายของเก่า ที่จับแล้วรู้สึกมั่นใจพัตต์ยังไงก็ลงก็เป็นไปได้ ขอให้สนุกกับการค้นหาเนื้อคู่นะครับ ... พบกันใหม่พรุ่งนี้


ถ้าชอบบทความนี้ เชิญแชร์ ให้เพื่อนนักกอล์ฟได้เข้ามาอ่านได้ตามอัธยาศัย และติดตามบทความที่จะทำให้คุณตีกอล์ฟดีขึ้นและมีความสุขได้ตอนเช้าของทุกวัน จากนี้จนครบ 1,000 บทความ ต้องการสมัครสมาชิกเชิญที่ http://teeintact.blogspot.com/ ถ้าใช้โทรศัพท์มือถือเลื่อนลงไปท้ายเพจ แล้วกดปุ่ม Follow และทำตามขั้นตอนการสมัคร สมาชิกจะสามารถสื่อสาร สอบถาม ปรีกษา แลกเปลี่ยน และ comment บนบล๊อกได้ และถ้าต้องการให้ส่งบทความนี้ไปยังอีเมล์ให้อ่านทุกวัน ให้ใส่อีเมล์เข้าไปที่ช่อง FOLLOW BY EMAIL  ที่มุมบนขวาของหน้าจอ แล้วกดปุ่ม Submit




ถ้าเข้าบล็อก http://teeintact.blogspot.com/ จากคอมพิวเตอร์ สมัครสมาชิก เข้าไปคลิก Follow และ  FOLLOW BY EMAIL ได้ที่มุมขวาบนของเพจ ... ขอบคุณสำหรับทุกกำลังใจ และเป็นเพื่อนร่วมเดินทางไปด้วยกัน สิ่งดีๆ ประสบการณ์ใหม่ และความสนุกจะเกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ ด้วยพลังของเราทุกคน





No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.