Saturday, December 31, 2016

041 - ควบคุมน้ำหนักการพัตต์

องค์ประกอบในการพัตต์ระหว่างทิศทางและน้ำหนักการพัตต์ น้ำหนักมีความสำคัญมากกว่าในทุกกรณีของการพัตต์ที่ผิดพลาด เพราะน้ำหนักที่ถูกต้องจะทำให้ความเสียหายจากการพัตต์ที่ผิดพลาดมีน้อยกว่า ลูกกอล์ฟจะอยู่รอบๆหลุมในระยะที่มีโอกาสพัตต์เก็บได้ ไม่เสียหายถึงขนาดทำ 3 พัตต์ นักกอล์ฟที่พัตต์ดีทุกคนสามารถควลคุมน้ำหนักกการพัตต์ได้อย่างมหัศจรรย์

การควบคุมน้ำหนักการพัตต์เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ที่นักกอล์ฟจะต้องควบคุมน้ำหนักการพัตต์ให้สัมพันธ์ปัจจัยต่างๆทั้งระยะทาง, ความเร็วของกรีน, พัตต์ขึ้นหรือลงเนิน, สโลปของเนินมากหรือน้อย, ความซับซ้อนของทางเดินที่อาจผ่านหลายเนิน เปลี่ยนสโลป และทิศทางของไลน์ , ทิศทางของหญ้า, ชนิดของหญ้า, ความชื้นของกรีนในแต่ละช่วงเวลาของวัน และอื่นๆ ซึ่งปัจจัยที่มากมายเช่นนี้จึงทำให้การควบคุมน้ำหนักการพัตต์ให้ได้สม่ำเสมอจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

เทคนิคการควบคุมน้ำหนักกการพัตต์ทำได้หลายวิธี

1.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยระยะ Back Stroke มากน้อยแตกต่างกันตามระยะ พัตต์ไกลก็สโตรคมาก พัตต์ใกล้ก็สโตรคน้อยลง
2.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยความเร็วพัตเตอร์ปะทะลูกที่แตกต่างกัน แต่ควบคุมระยะ Back Stroke ให้เท่าเดิม
3.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยตำแหน่งปะทะบนหน้าไม้ที่ต่างกัน ด้วยการสโตรคที่เหมือนกัน ลูกกอล์ฟที่ปะทะกลางหน้าไม้จะไปได้ไกลที่สุด ตำแหน่งปะทะที่ยิ่งห่างกลางหน้าพัตเตอร์ไปทาง Toe และ Heel ลูกกอล์ฟจะกลิ้งไปได้สั้นลงตามลำดับ
4.ควบคุมน้ำหนักการพัตต์ด้วยความรู้สึกล้วนๆ เป็นการประมวลผลจากข้อมูลที่ได้มาทางตาและความรู้สึกที่ฝ่าเท้า เกิดเป็นความรู้สึกในการควบคุมด้วยสัญชาตญาณ ซึ่งอาศัยประสบการณ์และความชำนาญเหมือนระบบอัตโนมัติ

ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดหรือเทคนิคไหนดีที่สุด นักกอล์ฟแต่ละคนมีวิธีการที่แตกต่างกัน สุดแล้วแต่ว่าเทคนิคไหนที่ใช้ได้ดีกับตน หรือแม้กระทั่งผสมผสานหลายๆเทคนิคเข้าด้วยกัน ก็ไม่ได้ผิดกฏแต่ประการใด การควบคุมน้ำหนักบนกรีนจริงต้องอาศัยประสบการณ์จากการออกรอบที่ได้เจอของจริงที่หลายหลายเท่านั้น ซึ่งเป็นหนึ่งความท้าทายของเกมส์กอล์ฟเลยทีเดียว ... สวัสดีปีเก่า พบกันปีใหม่ครับ




No comments:

Post a Comment

Note: Only a member of this blog may post a comment.